ASTVผู้จัดการออนไลน์--“ช่างเป็นวิถีชีวิตที่น่าอดสู ที่ผู้คนนั่งรถยนต์หรู BMW แต่กลับมีแต่น้ำสกปรกให้ดื่มกิน” เป็นคำกล่าวของ เฉิน จี๋หนิง รัฐมนตรีกระทรวงพิทักษ์สิ่งแวดล้อมคนใหม่ของจีน ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อจีน ไชน่า เดลี่ ในปี 2552…
*********
ประเทศจีนมีประชากรมากที่สุดในโลก ถึงกว่า 1,300 ล้านคน และมีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก แผ่นดินใหญ่อันมหึมานี้ได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจจากปี 2521 (1978) สร้างความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ พลิกโฉมประเทศที่ยากจนข้นแค้นจนกลายเป็นชาติอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ทว่าการเรืองอำนาจของเศรษฐกิจมังกรนี้ ก็ได้จ่ายราคาเป็นความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม หน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงสิ่งแวดล้อมเองก็ได้ยอมรับวิกฤตปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายอันเป็นผลข้างเคียงจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งแต่ตัวเลขจีดีพี
เดือนที่ผ่านมานี้ เกิดความเคลื่อนไหวคึกคักในภาคสิ่งแวดล้อมแดนมังกรหลังจากที่กฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมฉบับปรับแก้ใหม่ ที่รัฐสภาจีนได้ลงมติรับรองตั้งแต่เมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว(2514) ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนม.ค. 2558 เป็นต้นไป โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่จีนปรับแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม กำหนดบทลงโทษที่หนักขึ้นแก่ผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมที่เป็นวิกฤตปัญหามาหลายนักแล้ว อีกทั้งเปิดกว้างให้ประชาชนยื่นฟ้องร้องกรณีอื้อฉาวสิ่งแวดล้อม ขณะที่กฎหมายเก่าอนุญาตเพียงหน่วยงานและกลุ่มองค์กร ที่สามารถยื่นฟ้องได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากทางการอีกด้วย
ในวันที่ 27 ก.พ. เฉิน จี๋หนิงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม แทนที่นายโจว เซิงเสียน วัย 65 ปี ที่เกษียณอายุฯ
...และวันถัดมา (28 ก.พ.) ก็เกิดเหตุสั่นสะเทือนภาคสิ่งแวดล้อมจีน โดยสารคดีตีแผ่ความเน่าเฟะของสิ่งแวดล้อมจีน ชื่อ Under the Dome จัดทำโดยนาง ไฉ จิ้ง อดีตนักข่าว-ผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) ก็ถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ไฉ จิ้งเปิดเรื่องอย่างสะเทือนใจด้วยชีวิตส่วนตัวของเธอที่ต้องลาออกจากงานด้วยลูกสาวเป็นเนื้องอกแต่กำเนิด ลีลาการบรรยายนำเสนอที่บอกว่าชาวจีนกำลังต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็นอย่างจับใจผู้ชม จนยอดผู้ชมทะลุสองร้อยล้านในไม่กี่วัน ไม่กี่วันต่อมา Under the Dome ก็ถูกกรรไกรเซนเซอร์ตัดออกจากเว็บท่าหลักของจีน
หันมากลับมามองเจ้ากระทรวงสิ่งแวดล้อมจีนคนใหม่ เฉินเป็น “ลูกหม้อ” มหาวิทยาลัยชิงหวา เข้าศึกษามหาวิทยาลัยชิงหวาปี 2524 ในคณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งสำเร็จชั้นปริญญาโท จากนั้นในปี 2531 ก็เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบรูเนลลอนดอน (Brunel University London) เอกชีวเคมี และวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน (Imperial College London) เอกสิ่งแวดล้อม รวมเวลาที่เฉินศึกษาและทำงานที่อังกฤษ ถึง 10 ปี ในปี 2541 จึงกลับมาเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชิงหวา ปี 2542 เป็นคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมของชิงหวา และขึ้นเป็นประธานมหาวิทยาลัยชิงหวาในปี 2555 ขณะนั้นวัย 48 ปี นับเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยชิงหวาที่อายุน้อยที่สุดในช่วงเกือบ 30 ปี
เฉิน จี๋หนิง เป็นหนุ่มใหญ่ไฟแรงสูง ช่วง 3 ปีที่นั่งเก้าอี้ประธานมหาวิทยาชิงหวา ได้ดำเนินการปฏิรูปมหาวิทยาลัยอย่างขนานใหญ่และรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ได้รับการกล่าวขวัญเป็นประธานมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากที่สุดของชิงหวา
ผู้คนในรั้วมหาวิทยาลัยชิงหวาต่างประทับใจในภาพนักวิชาการของเฉิน “มั่นคง ประนีประนอม และยึดถือการปฏิบัติได้จริง”
“อย่า “แย่ง” ครูใหญ่ของพวกเราไป !” ข้อความโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ของมหาวิทยาลัยชิงหวาในวันที่มีข่าวแต่งตั้งเฉินเป็นนายใหญ่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคฯ
สื่อจีนระบุว่า การแต่งตั้งเฉิน จี๋หนิงมาพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีนนับเป็นข่าวดี วงในภาคสิ่งแวดล้อมจีน ชี้ว่า “การตั้งผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่นักการเมืองเช่นนี้ จะทำงานได้จริงมากกว่าตระโกนร้องคำขวัญไปวันๆ ช่วง 8 ปี มานี้ สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว นับเป็น 8 ปีที่สูญเปล่า”
อย่างไรก็ตามก็มีเสียงชี้ว่า เฉิน เป็นผู้เชี่ยวชาญ และคร่ำหวอดในหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมมานับสิบๆปี แต่ก็ไม่มีประสบการณ์ในหน่วยงานรัฐบาลมาก่อน
วิบากกรรมสิ่งแวดล้อมจีน
สำหรับนายใหญ่กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีนคนก่อนหน้าได้ลงจากตำแหน่งท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์
เซี่ย เจิ้นหวา รัฐมนตรีกระทรวงพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสองสมัยระหว่างปี 2536-2548 ต้องลาออกไปหลังจากที่เกิดเหตุการณ์โรงงานเบนซินของบริษัทจี๋หลิน ปิโตรเคมีคัลของปิโตรไชน่า ระเบิด มีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บกว่า 20 คน และสารเคมีไหลทะลักลงสู่แม่น้ำซงฮวาในเมืองจี๋หลิน มณฑลจี๋หลิน โดยสารพิษได้ปนเปื้อนผิวน้ำในแม่น้ำซงหวายาวกว่า 80 กิโลเมตร ทำลายแหล่งน้ำของประชาชนหลายล้านคนในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
โจว เซิงเสียน ได้เข้ารับตำแหน่งแทนเซี่ย พิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีนจากปี 2548 ถึง ก.พ. 2558 ช่วงเวลานับสิบๆปี นี้ จีนก็ยังเอาแต่เร่งผลผลิตด้านอุตสาหกรรมและพลังงานที่ได้ทำลายทั้งอากาศ น้ำ และดิน
กลุ่มสื่อจีนวิพากษ์วิจารณ์โจวกันขรมว่า ปล่อยให้กลุ่มนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมปู้ยี่ปู้ยำสิ่งแวดล้อมของประเทศ กรณีอื้อฉาวสิ่งแวดล้อมผุดเป็นดอกเห็ด ทั้งข้าวปนเปื้อน การแพร่กระจายสารเคมีสู่สิ่งแวดล้อม ไปยันหมูตายหลายพันตัวที่ลอยเน่าในแม่น้ำแถวนครเซี่ยงไฮ้
เมื่อปีที่แล้ว มีรายงานข่าวร้ายเกี่ยวกับการสำรวจสิ่งแวดล้อมจีนกระหน่ำเผยแพร่ออกมา ได้แก่ กระทรวงพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีนแถลงผลการสำรวจคุณภาพอากาศในเมืองต่างๆเมื่อปีที่แล้ว (2557) พบว่าในกลุ่ม 74 เมืองที่ทำการสำรวจ 71 เมืองมีคุณภาพอากาศไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน
การศึกษาหลายชุดของหน่วยงานอิสระระบุชาวจีนกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพเนื่องจากมลพิษในอากาศ โดยในแต่ละปี ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ต้องมาเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร อายุคาดเฉลี่ยของประชาชนในบางพื้นที่ตกลงอย่างน่าตกใจ ถึง 5.5 ปี
ทีมการวิจัยสิ่งแวดล้อมจีน เผยการสำรวจเมื่อปี 2557 ระบุเกือบ 60 เปอร์เซนต์ของคุณภาพน้ำใต้ดินในจีน มีปัญหาในระดับ “ค่อนข้างแย่” และ “แย่มาก” ขณะที่รายงานอีกฉบับที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐ ระบุ 16 เปอร์เซ็นต์ของดินในประเทศ ปนเปื้อนมลพิษ อาทิ สารหนู สารปรอท
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าตื่นตาตื่นใจจากการศึกษาวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์จากรัฐเท็กซัส แคลิฟอร์เนีย และวอชิงตัน ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science เมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว พบว่า มลพิษในอากาศของจีนสามารถทำให้พายุ ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกทวีความรุนแรงขึ้น และยังส่งผลให้รูปแบบของสภาพอากาศในทวีปอเมริกาเหนือเปลี่ยนไปอีกด้วย โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้สภาพอากาศในสหรัฐฯ ผิดปกติได้ในที่สุด
และรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม เฉิน จี๋หนิง จะล้างมลพิษ ล้างความอดสูของชาติที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมสกปรกนี้ได้สำเร็จแค่ไหน จะสร้างความระทับใจ กลายเป็น “ขวัญใจ” ในภาคสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ดังเช่นในบทบาท “ครูใหญ่” แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศจีน ได้หรือไม่ โปรดติดตามผลงานต่อไป...