xs
xsm
sm
md
lg

Green Factory : ก.อุตฯ ผุด 4 ยุทธศาสตร์นำโรงงานเข้าสู่ระบบ 90% ใน 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับผู้ประกอบการ 999 รายทั่วประเทศ ได้ร่วมกันเปิดตัว “โครงการอุตสาหกรรม ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรม” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงพระเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา ณ ห้องประชุม กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศแสดงเจตจำนงจัดการขยะอุตสาหกรรมพร้อมกัน
“จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2557 มีโรงงานได้ลงทะเบียนในระบบจัดการกากอุตสาหกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 17,384 โรงงาน เมื่อเทียบกับจำนวนโรงงานจำพวก 3 ที่ต้องกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งได้แจ้งประกอบกิจการทั่วประเทศประมาณ 68,000 โรงงาน ดังนั้น โรงงานที่ได้เข้าอยู่ในระบบของกระทรวงฯ จึงมีประมาณร้อยละ 25 และถ้ามองลึกลงไป พบว่า โรงงานที่อยู่ในระบบเหล่านี้ได้มีการส่งขยะอุตสากรรมออกไปบำบัด / กำจัด / รีไซเคิลแล้วจริงๆ เพียงประมาณ ร้อยละ 7 หรือ 5,300 โรงงาน จาก 68,000 โรงงานเท่านั้น” จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช กล่าว และว่า
ล่าสุดจากตัวเลขกากอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ปริมาณกากอันตรายและกากไม่อันตรายที่มีขออนุญาตนำออกไปกำจัดภายนอกโรงงาน กับจำนวนแรงม้าโรงงานที่มีการตรวจสอบในฐานข้อมูลทะเบียนโรงงานในการคำนวณนั้น จะได้ตัวเลขกากอันตรายที่ควรจะมีปีละ 3.35 ล้านตัน และเป็นตัวเลขกากไม่อันตราย อีกปีละ 50.30 ล้านตัน และจากการที่มีนโบบายเข้มงวดเรื่องกากอุตสาหกรรมทำให้ในปีที่ผ่านมามีการขออนุญาตและแจ้งขนส่งออกไปบำบัด / กำจัด / รีไซเคิลจริงๆ เพิ่มขึ้น โดยเป็นกากอันตราย 1.03 ล้านตัน (ร้อยละ 31) และกากไม่อันตราย 12.24 ล้านตัน (ร้อยละ 24)

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ถ้าดูเฉพาะตัวเลขกากอันตรายที่มีการควบคุมการขนส่ง จะเห็นว่าโรงงานมีการจัดการครบถ้วน (ขึ้นทะเบียนและขนส่งไปกำจัดแล้ว) เพียงร้อยละ 7 และ กากอันตรายได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 31 โครงการนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมและส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบที่จะต้องนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบให้สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะต้องร่วมกันดูแลและจัดการขยะจากการผลิตให้ถูกต้องตามกฎหมายตามหลักวิชาการภายในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ ก.อุตฯ มีแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี ต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน โดยมีเป้าหมายนำโรงงานเข้าสู่ระบบฯ และให้มีการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจากการที่มีผู้ประกอบการลงทะเบียนกำจัดกากอุตสาหกรรม ทางก.อุตฯ โดยกรมโรงงานอุตฯ ก็จะได้ตัวเลขที่ทำให้ขั้นตอนการปฏิบัติจัดการกากอุตสาหกรรมสามารถวัดผลลัพธ์ได้ชัดเจนด้วย
“การจัดการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบฯ เป็นวิธีการแก้ไขที่ตรงจุด และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญธุรกิจของผู้ประกอบการเองจะมีความยั่งยืน จากการที่สามารถรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำ

ด้าน อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ในสัปดาห์หน้า ก.อุตฯ จะส่งเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จำนวน 4 คนไปอบรม เรียนรู้และดูงานการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น และยังจะมีการส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วย กรอ.ต่อไปอีกด้วย

4 ยุทธศาสตร์ นำโรงงานเข้าสู่ระบบจัดการกากอุตสาหกรรม
1.การกำกับดูแล / บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ติดตามการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามการขนส่งกากอันตรายให้สมบูรณ์
2.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน / อำนวยความสะดวกกับผู้ปฏิบัติตาม
3.การสร้างความร่วมมือ / แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ
4.การสนับสนุนจากเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งที่เป็นเครือข่ายในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังรองรับการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่ง สำหรับอนาคต 20-30 ปี และแผนจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่จะหมดอายุใน 20 ปีข้างหน้าอีกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 แสนตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น