ไชน่าเรียลไทม์ - นักวิจัยพลิกหนังสือภาษาจีนกว่า 270,000 เล่ม พบถ้อยคำมากมาย ที่สะท้อนให้เห็นว่า แก่นค่านิยมในสังคมของผู้คนแดนมังกรกำลังเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลิส (ยูซีแอลเอ) โดยนางสาวเจิ้ง หรง และแพทริเชีย กรีนฟีลด์ พบว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนได้ซึมแทรกเข้าไปในสังคมจีน ส่งผลให้ค่านิยมของผู้คนเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยการวิจัยเชิงจิตวิทยาชิ้นนี้มุ่งศึกษาคำในหนังสือ ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2513- 2551 และสิ่งที่ค้นพบมีอาทิ คำว่า “obedience” (การเชื่อฟังการอยู่ในโอวาท) มีการใช้มากกว่าคำว่า “autonomy” ( อิสรภาพในการปกครองตนเอง ความเป็นตัวของตัวเอง ) ถึง 3 เท่า ตั้งช่วงปีพ.ศ. 2513 เป็นต้นมา แต่สัดส่วนนี้ได้เปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือในหนังสือ ที่พิมพ์ในปีพ.ศ. 2551 โดยพบคำว่า “autonomy” มากกว่า
นอกจากนั้น ยังพบว่า ผู้แต่งหนังสือได้ใช้คำต่าง ๆ เช่น “choose” (เลือก) “compete” ( แข่งขัน) “private” (ที่เป็นส่วนตัว) “autonomy” และ “innovation” (นวัตกรรม) ถี่ขึ้นในช่วงเกือบ 4 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อในเรื่องประโยชน์ของแต่ละบุคคล หรือปัจเจกนิยม ที่มีมากขึ้น ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม ที่มีการเกิดขึ้นประชากรเมือง การบริโภคของครัวเรือน และระดับการศึกษา ที่มีอยู่หลายระดับ
ผลการวิจัยชิ้นนี้ตอกย้ำการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งผู้คนที่อาศัยในประเทศจีนอาจสังเกตเห็นได้เอง เช่น เมื่อราว 25 ปีก่อนคนจีนยังแต่งกายด้วยชุดแบบที่ประธานเหมา เจ๋อตง ชาวจีนยังต้องใช้คูปองปันส่วนสำหรับซื้อข้าวสาร เนื้อสัตว์ และน้ำมันประกอบอาหาร ส่วนชีวิตของผู้คนในเมืองส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยสถานที่ที่พวกเขาทำงาน หรือ “หน่วยทำงาน” ซึ่งมีที่อยู่อาศัยและบริการในสังคมร่วมกัน นอกจากนั้น ยังถูกวางกฎระเบียบในการมีบุตรอีกด้วย ทว่าในปัจจุบันชาวจีนมีอิสระในการเลือกสถานที่ทำงานแลสถานที่อยู่อาศัย ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ที่ผุดขึ้นตามเมืองต่าง ๆ เช่นกรุงปักกิ่งนอกจากจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางกายภาพแล้วยังมีผลเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจอีกด้วย โดยผู้คนมากมายเริ่มมีโอกาสสร้างธุรกิจของตนเอง หรือมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น
นางสาวเจิ้ง ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง และได้รับคัดเลือกให้เป็นนักวิจัยที่ยูซีแอลเอระบุว่า การพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ประชาชนในประเทศอิ่มท้อง และเริ่มเกิดค่านิยมในการดำเนินชีวิต แทนการมุ่งวางแผนในยามที่ยังขาดแคลน
แก่นค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมจีน ซึ่งมีลัทธิขงจื่อฝังรากแน่นอยู่ในทุกมิติ และสอนให้ผู้คนคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมและครอบครัวนั้น ยังเป็นปัญหาท้าทายครั้งใหญ่ต่อการดำเนินชีวิตและค่านิยมตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน ที่มีมายาวนานแต่โบราณกาลอีกด้วย
ผลการวิจัยครั้งนี้ยังพบอีกด้วยว่า ถ้อยคำ ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมจิตสาธารณะ (communal values) เช่น “give” (ให้) และ “obliged” (เป็นหนี้บุญคุณ) มีการใช้เพิ่มขึ้นในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาก็จริง แต่ยังมีอัตราต่ำกว่าการใช้ถ้อยคำ ที่สะท้อนถึงค่านิยมปัจเจกชน