นับตั้งแต่ที่ สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีน เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผู้สังเกตุการณ์ตะวันตก อาทิ คอลัมนิสต์ของไทม์ ได้เฝ้าดูการบริหารอำนาจของเขา ซึ่งมีภาพลักษณ์แห่งความเป็นปุถุชน คนของประชาชนมากกว่าประธานาธิบดีจีนคนก่อนๆ และยังคาดว่าเขาจะโดดเด่น เป็นนักปฏิรูปเสรีนิยม
ผู้เชี่ยวชาญจีนของนิตยสารไทม์อย่างไมเคิล ชูมัน เขียนบทความว่า จนถึงตอนนี้ เท่าที่เห็นจะพบว่า ผู้นำจีนมีบทบาทในการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ จัดการกับผู้ซึ่งมีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล ตลอดจนคุมเข้มสื่อออนไลน์ต่างๆ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจเอง แม้ผู้นำฯ จะประกาศเปิดโครงการเศรษฐกิจเสรีนิยมไว้มาก แต่เหล่านั้นก็ยังไม่มีการทำให้เป็นผลใดๆ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลก็ยังยึดกุมธุรกิจต่างๆ เช่นแต่ก่อนๆ มา ด้านการเมืองการปกครองนั้น สี จิ้นผิงได้หยิบยกหลักการของขงจื่อ ปราชญ์จีน ผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 2,500 ปีก่อน เป็นหนึ่งในอุดมคติจีน ที่มุ่งสร้างในศตวรรษใหม่นี้
บทความของไมเคิล ชูมันกล่าวว่า แม้สี จิ้นผิงจะอ้างแนวคิดหลักการปกครองจากปราชญ์จีนหลายคนในอดีต ตลอดจนผู้นำเหมา เจ๋อตง แต่เหมือนว่า สี จิ้นผิงจะให้ความสนใจพิเศษกับขงจื่อ โดยมีหลายครั้ง ที่เขากล่าวอ้างอิงคำพูดของปราชญ์ท่านนี้ เทียบเคียงกับการบริหารรัฐ อาทิ อย่าทำกับคนอื่น ในสิ่งที่เราเองก็ไม่ต้องการถูกกระทำ ฯลฯ
ต้นปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ยังได้ยกย่องหลักการบริหารของขงจื่อ โดยอ้างคำกล่าวที่บันทึกอยู่ใน คัมภีร์หลุนอวี่ ต่อหน้าการประชุมพรรคฯ “ท่านขงจื่อว่า หากปกครองโดยธรรม ท่านก็เหมือนกับดาวเหนือ อยู่ในตำแหน่งคงที่อย่างมีเสถียรภาพ มีดวงดาวทั้งปวงแวดล้อม โดยไม่ต้องพยายาม”
ในทางส่วนตัวนั้น เมื่อปีที่แล้ว สี จิ้นผิงเอง ยังได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดของขงจื่อ ในชฺวีฟู่ มณฑลซานตง พร้อมกับอ่านแต่คัมภีร์หลุนอวี่ ตลอดการเดินทางนั้น
จะว่าไป ความศรัทธาในหลักการปกครองของขงจื่อในหมวดผู้นำจีน ก็ดูจะย้อนแย้งกับการปกครองของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เช่นกัน เพราะอดีตโดยเฉพาะ 30 ปีแรกหลังก่อตั้งพรรคฯ นั้น ประธานเหมา เจ๋อตง เคยพยายามถอนรากถอนโคนอิทธิพลของขงจื่อในสังคมจีนให้หมดไปด้วยซ้ำ เนื่องจากเห็นว่าการสืบทอดคำสอนของขงจื่อ เป็นอุปสรรคต่อระบอบสังคมนิยม ล้าสมัยหน่วงรั้งจีน และถึงกับทำลายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับขงจื่อ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์นั้น ขงจื่อไม่ต่างอะไรกับสิ่งตกค้างสังคมศักดินา ที่เคยเอาไว้กดขี่ประชาชนทั่วไป
พลันเมื่อจีนก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูปเศรษฐกิจ ทศวรรษ 80 นั้น ผู้นำจีนกลับค่อยๆ ปรับเปลี่ยนท่าทีกับแนวคิดขงจื่อ ประกอบกับการเติบโตเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสภาพสังคมการเมืองแบบบุคลิกจีนชัดขึ้น แทนที่อุดมคติแบบมาร์กซิสต์ ผู้นำจีนคอมมิวนิสต์ในยุคใหม่นี้ ได้ผสมผสานรูปแบบการปกครองแบบฮ่องเต้ในอดีตเคียงคู่กับหลักการขงจื่อ เพื่อสร้างค่านิยมและความเชื่อมั่นในการบริหารของพรรคฯ
สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นสู่มิติใหม่ของการปกครอง สร้าง และปรับโครงสร้างอำนาจของพรรคฯ โดยการอ้างหลักขงจื่อเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บุคลากรแห่งคุณธรรม ปราบทุจริตคอร์รัปชั่น โดยขณะเดียวกัน ผลข้างเคียงนั้นกลับคือการเขี่ยคู่ต่อสู้ทางการเมืองพ้นเส้นทางของตน ปลดเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจหลายคนซึ่งประชาชนไม่ไว้วางใจ
ในการประชุมระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สี จิ้นผิงยังได้กำชับให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างอิสระ ตลอดจนปฏิรูปหลักปกครองโดยกฎหมายที่เด็ดขาด ขณะที่หลักการของขงจื่อ หรือวิถีแห่งจริยธรรมสุจริตชนนั้น ท่านขงจื่อกล่าวว่า ปกครองรักษากฎเกณฑ์ด้วยอาญา ราษฎรย่อมหลีกเลี่ยงการกระทำผิด ด้วยความเกรงกลัว แต่มิได้มีหิริโอตัปปะ สำนึกรู้ดี-ชั่วทางจริยธรรม
สิ่งหนึ่งต้องตระหนักคือ ความท้าทายและสร้างสรรค์ของ ผู้นำจีน สี จิ้นผิง ยุคนี้อยู่ที่จะผสมผสานการบริหารของตนแบบผู้นำอุดมคติของขงจื่อ กับอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร เพราะแม้แต่ในยุคของขงจื่อเอง สังคมการปกครองจีนก็ไม่ได้เป็นไปดังอุดมคติของขงจื่อ ดังนั้น แม้สี จิ้นผิง จะนำแนวทางของขงจื่อกลับมา อันดูเสมือนเป็นข้อดี แต่ก็ขัดกันไม่น้อย ตามหลักการของขงจื่อนั้น ผู้นำไม่พึงมีอำนาจเผด็จการสูงสุด และในเหล่าบริวารเองก็ไม่พึงปกป้องอำนาจของผู้นำจนผิดลู่ผิดทางไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจที่ก่อผลกับประชาชน เพราะหากเป็นอย่างนั้น สิ่งที่ ผู้นำจีนอย่างสี จิ้นผิงต้องการสร้างคงไม่ใช่อุดมคติของขงจื่อ แต่คือเผด็จการในแบบจีนมากกว่า ซึ่งปราชญ์ขงจื่อที่ถูกกล่าวอ้างฯ หากรับรู้ได้ก็คงไม่เห็นชอบด้วย