xs
xsm
sm
md
lg

ขี่พายุทะลุใจ ‘ทีมพากย์พันธมิตร’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณโต๊ะ หัวหน้าทีมพากย์พันธมิตร ผู้มีแนวคิดไม่เป็นศัตรูกับใคร
ศตวรรษภาพยนตร์จีน (14)/ การเสพอรรถรสจากภาพยนตร์ต่างประเทศของคอหนังชาวไทยเรานั้น ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านภาษา โดยเฉพาะหากเป็นหนังจากเอเชียด้วยกัน ซึ่งน้อยคนนักที่จะฟังได้อย่างเข้าใจและมีความสุขได้อย่างออริจินัลจากเจ้าของภาษา ทำให้ต้องอาศัยนักพากย์ฝีปากฉมังมาเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว และหนึ่งในทีมงานนักพากย์ที่มีประสบการณ์โชกโชนกับภาพยนตร์เอเชีย โดยเฉพาะภาพยนตร์ฮ่องกงจนได้รับการยอมรับว่าเป็นนักพากย์ระดับคุณภาพชั้นยอดทีมหนึ่งของเมืองไทย นั่นคือ ทีมพากย์พันธมิตร !!!!

“เราเริ่มใช้ชื่อพันธมิตรมาตั้งแต่ปี 2535 แต่ที่มาเป็นตัวเป็นตนจริงๆ ก็ 2540 ความหมายของชื่อก็คือเราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร ถ้าหนังเรื่องนี้เป็นตัวละครที่เด่นมากแล้วเสียงในทีมเราไม่มี เราพร้อมจะติดต่อคนที่อยู่ทีมอื่นเพื่อทำให้หนังเรื่องนี้มันดีขึ้นกว่าใช้เสียงเดิมๆ ซ้ำซาก“ คุณปริภัณฑ์ วัชรานนท์ หรือคุณโต๊ะ หัวหน้าทีมพันธมิตร เปิดฉากอธิบายความหมายของชื่อ ’พันธมิตร’ ให้เราฟัง

คุณโต๊ะเล่าว่า จุดกำเนิดของทีมพากย์นามอุโฆษทีมนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2535 ในช่วงที่คุณโต๊ะยังทำหน้าที่นักพากย์อยู่ที่ช่อง 3 แต่เนื่องจากมีงานนอกเข้ามาอย่างต่อเนื่องจึงคิดรวมตัวคนทำงานที่มีแนวความคิดตรงกัน

“แนวทางที่ว่าหมายถึงไม่ใช่พากย์แค่ชั่วโมงครึ่งหรือสองชั่วโมงตามเวลาหนังจบแล้วเลิกกัน แต่เราจะดูต่อว่าหนังชั่วโมงครึ่งเราสามารถใส่อะไรลงไปนอกเหนือจากบทหนังนิดหน่อย เติมตลกเข้าไป หรือตรงนี้อารมณ์ไม่ได้ เทคหน่อยนะ เอาใหม่นะ เรื่องหนึ่งแทนที่จะพากย์ 2 ชั่วโมงก็เป็น 4-5 ชั่วโมง เสียเวลานิดหนึ่งแต่ให้งานที่มันอยู่ในรูปแบบของหนัง หรือวีดีโอ วีซีดี คงอยู่ตลอดไป และเราจะได้รู้ว่าเราทำเต็มที่แล้ว ก็คัดเพื่อนฝูงมานั่งคุยกัน หาเพื่อนรอบแรกได้ 5-6 คน แล้วตั้งชื่อว่า “พันธมิตร”

ในช่วงแรกของการทำทีมก็เริ่มต้นด้วยการพากย์หนังจีนเลยหรือไม่

เป็นจังหวะที่คนกำลังชอบหนังจีนมากๆ และการจะทำทีมพากย์ให้คนรู้จัก ถ้าเป็นหนังจีนหรือหนังเกาหลี หนังเอเซีย มันมีจุดทำให้คนรู้จักเราได้มากกว่าหนังฝรั่ง เพราะหนังฝรั่งในโรงในกรุงเทพฯ เขาฉายพูดอังกฤษ คนไม่ได้ดูเราหรอก ไปฉายต่างจังหวัด บ้านนอกไกลๆ แล้วค่อยมาลงซีดีทีหลังก็ว่ากันอีกแนวหนึ่ง แต่หนังจีนหนังเกาหลีทุกก็อปปี้ฉายพูดไทยหมด

มันก็เหมือนดาบสองคม คุณทำไม่ดีมันก็ฆ่าคุณไปเลย แต่ถ้าทำให้ดี ตั้งใจกับมันอย่างที่บอก แทนที่จะพากย์ 2-3 ชั่วโมงจบ อย่างหนังโจวซิงฉือมาผมพากย์หนึ่งวันหนึ่งคืนเลย เข้าไป 10 โมงเช้าออกมาตี 3 หนัง ชั่วโมงครึ่งผมทำทั้งวันทั้งคืน คิดอยู่นั่นแหละ มุกนี้คิดไม่ออกหยุด เดิน คิดคิดเพื่อหาคำสักคำหนึ่งมาใส่ตรงนั้นให้ได้ เพราะหนังจีนเป็นหนังที่ทำให้เรามีสิทธิจะเกิดได้ เพราะว่าทุกคนต้องดูก็อปปี้พากย์ไทยถูกต้องไหม พอจังหวะมาหาเราแล้วก็เลย ‘เฮ้ย เสียเวลากับมันหน่อยนะ ทุ่มเทกับมันหน่อย’ เพื่อจะให้มันดีกว่าเดิม ในความคิดของเรานะ คนดูอาจจะคิดยังไงเราไม่รู้ แต่ว่ามันน่าจะดีกว่าการพากย์แค่ 2 ชั่วโมงแล้วเลิกกัน

ตอนนี้มีหนังจีนมาให้พากย์มากไหมเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้

ตอนนี้หนังจีนก็เข้ามาน้อยลง มาก็ลงวีซีดีเลย แต่ช่วงบูมสุดๆ โอ้โหเยอะมาก มโหฬารเลยล่ะ แรกๆ พากย์กันเดือนละ 7-8 เรื่องจนถึง 10 เรื่อง หนังใหญ่นะ วีดีโอ วีซีดีไม่คิด ปีหนึ่งพากย์กันเป็นร้อยๆ เรื่อง เฉพาะหนังจีนเลยนะ 200-300 เรื่องก็มีนะ แต่เดี๋ยวนี้กี่เดือนแล้วไม่ได้พากย์หนังจีนเข้าโรงใหญ่เลย ตั้งแต่กังฟูของโจวซิงฉือ แล้วก็โคตรคน 3 คม

ในการพากย์แต่ละครั้งมีบทให้ตายตัวเลยหรือไม่

ปรับเปลี่ยนตลอด ต้องปรับเปลี่ยนตลอด บทเราขอคนแปลล็อกคำล็อกปากมาให้เราก็พอ

การพากย์หนังหมายถึงว่าพูดแบบนี้ 1-2-3 สามประโยค คุณล็อกให้เราสามประโยค ไม่ใช่หนังในจอพูดมา 3 ประโยค คุณแปลมา 4-5 ประโยค ตายเลย ขอแค่คุณล็อกคำให้ผมพอแล้ว ความสม่ำเสมอก็ต้องมีในการแปลบท ดาราพูดในประโยคหนึ่งมี 10 คำต้องให้เหลือ 8, 5 คำต้องให้เหลือ 4 เพราะถ้าพูดมา 10 คำแปลมา 10 คำ คนดูจะฟังไม่รู้เรื่อง มันจะรนไปหมด ต้องตัดทอนมาให้ 10 เหลือ 8 แต่ประโยคต้องครบ เราขอแค่นี้ ถ้าตรงนี้ครบปั๊บลงตามที่เราต้องการ เราพากย์สบาย สมองเราจะโปร่งในการคิดมุก

คนแปลคือหัวใจสำคัญ ถ้าคนแปลไม่ดี แปลตามใจชอบ เยิ่นเย้อ พร่ำพรรณนา ตายเลย บางเรื่องเราต้องตีคืน แต่บางเรื่องหนังจะฉายแล้วตีคืนไม่ได้ มันต้องดัน ดันหมายถึงต้องเครียดกันมันมาก ต้องตัดคำแต่งคำเพื่อให้ลงภายใน 3 ประโยค มันแปลมา 5 ต้องหาทางตัด 2 ประโยคนั้นไป แต่ถ้า 2 ประโยคนั้นสำคัญต้องเอา 2 คำ 2 ประโยคนั้นมารวมเป็น 3 ประโยค แล้วให้เป็นคำที่คนดูรู้เรื่อง

คนที่ดูแลตรงส่วนบทพากย์คือตัวนักพากย์เอง หรือมีทีมงานเฉพาะคะ

แรกๆ เราก็จ้างอิสระ แต่ตอนนี้เราก็มีทีมของเราแล้ว เราลงตัวหมดแล้ว รู้ว่าใครจะแปลหนังแบบไหน ตอนนี้เรามีทีมของเราแล้ว

พันธมิตรก็มีทั้งทีมพากย์และทีมแปลเหรอคะ

ตอนนี้เราจัดสรรทุกอย่างมาทำที่เราหมดแล้ว เราทั้งจัดคนพากย์ จัดทีมพากย์ แล้วก็หาคนแปลให้คุณ คุณแค่ส่งหนังต้นฉบับมาให้เราม้วนหนึ่ง สคริปต์ภาษาอังกฤษหรือจีนก็แล้วแต่ เราก็ส่งคนแปลของเราที่รู้ทางกับเรา หนังตลกต้องคนนี้แปล หนังซีเรียสจริงจังต้องคนนี้แปล

เคยมีเสียงสะท้อนกลับมาถึงบทแทรกของเราไหม

ผมเคยโดนเรื่องผีดุ ภาค 1(Ju-on 1 ) หนังไม่ตลก ซีเรียส บางทีเราไม่ได้เล่นอะไรเลย มีฉากหนึ่งที่ตัวพ่อยืนอยู่แล้วเด็กผีวิ่งอยู่ด้านหลัง คนกำลังเครียด คนกำลังตกใจ ตัวละครก็หันมาแล้วเสียงในฟิล์มก็ร้องว่า ‘เฮ้ย’ เราก็พากย์ว่า ‘เฮ้ย’ คนดูก็ขำทั้งโรง หาว่าเราตลก แต่บางทีมันไม่ใช่เรื่องตลก เราพยายามคุมตรงนี้ไม่ให้ไปเกินหน้าหนัง ไปหักอารมณ์หนัง

ส่วนเรื่องหยาบ ผมว่ามันต้องมีนะ เหมือนที่จิ๋กโก๋ชอบ อย่างบทตลกมันก็ต้องมีมึงกูบ้าง สังคมมันก็พูดหยาบนะ ไม่ใช่หยาบคายอย่างนั้นนะ คือคำอย่าง ‘แม่ง’ คนก็พูดกันอยู่ อย่างในหนัง เพื่อนเรียนด้วยกัน จิ๊กโก๋คุยกัน “เอ่อ ผมคิดว่าคุณไปเรียนหน่อยดีไหม” หรือ “ผมว่าคุณชอบเขานะ” มันไม่ได้ (ขึ้นเสียงสูง) มันก็ต้องมีอารมณ์หนังนิดหนึ่ง แต่ก็จะพยายามให้มันน้อยๆ ลงหน่อยละกัน

แต่ที่จะแคร์มากคือหนังไม่ตลกแล้วไปทำให้ตลก เมื่อก่อนผมโดนมาก ตอนที่ผมยังไม่มีพาวเวอร์พอจะไปต่อรองกับเจ้าของหนัง ผมโดนหนักๆ ที่สุด แล้วก็ด่าตัวเองด้วย ก็คือเรื่อง ‘Battle Royale เกมนรกโรงเรียนพันธุ์โหด’ เป็นหนังที่โหดมากๆ และจะไม่ผ่านเซ็นเซอร์เอาด้วย นักเรียนฆ่ากัน ไปติดอยู่ที่เกาะแล้วจะฆ่ากัน คนที่เหลือสุดท้ายคือผู้ชนะ โหดมาก แต่เป็นหนังที่ดีมาก คนนำเข้าบอกขอตลกนะ เพื่อลดดีกรีความแรงของหนัง เราก็เล่นไป 7-8 มุก ไปดูรอบสื่อมวลชนคนก็ขำกัน แต่เราทุเรศตัวเองมากๆ ถ้าเป็นไปได้อยากจะขอแก้เลย มันไม่ใช่แนวทางของหนัง เราไปหักหนังอย่างแรงเลย เล่นจนหนังเขาเสียหายไปเลย ยังด่าตัวเองมาจนบัดนี้ จากวันนั้นเป็นต้นมาผมเลยบอกเจ้าของหนังว่า ถ้ามันไม่ใช่หนังตลกผมขอนะ ขอไม่เล่นดีกว่า

แต่บางทีเราก็เสียตรงจุดที่ว่าพอขึ้นว่าพากย์โดยทีมงานพันธมิตร คนดูก็รอขำ บางทีเราพากย์จริงจังเกือบตาย เค้าก็รอจะขำกับเรา บางทีพูดตามหนังเลย คนก็ขำแล้วบอกว่าพากย์ตลกชิบเป๋งเลย หนังไม่ตลกเลย ขำแล้ว คล้ายกับพอเราพากย์ต้องตลก คนดูที่ชอบขำก็รอขำ คนที่ไม่ชอบก็บ่นว่าเดี๋ยวมันก็ขำ รอจับผิด มันมีสองลักษณะ ฉะนั้นไม่ปัดความรับผิดชอบ ด่ากันได้เลยไม่ว่า แต่พยายามรักษารูปแบบของหนัง ตั้งใจมาตลอดตั้งแต่ ‘Battle Royale’

ในการพากย์หนังแต่ละเรื่อง หนึ่งคนพากย์เป็นกี่เสียง

ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เราก็ยืนเสียงเดียวหรือสองเสียง แต่ถ้าเป็นหนังตลก ซึ่งเป็นหนังที่พากย์ยากที่สุด เพราะคำพูดบางคำให้คนๆ นี้พูดจะไม่ขำ คำพูดคำเดียวกันแต่ให้อีกคนพูดแล้วขำมากเลย และมีแค่ 4-5 คนที่พากย์ได้ ตัวละครมีเป็นสิบ ผมก็ยอมให้คนหนึ่งพากย์ได้ถึง 3-4 เสียง ผมยอมเสียเวลาในการพากย์ฉากเดียว 4-5 ครั้งเพื่อเอาเสียงคนนี้มาพากย์ตัวละครที่ซ้ำกันนี้ให้ได้

มีหลักในการเลือกเสียงตัวละครอย่างไร

มันก็มีหลายบุคลิก เราเห็นหน้าหนังก็พอจะรู้แล้วว่าควรจะให้ใครพากย์ อย่างพระเอกนางเอกก็มีทะเล้น กุ๊กกิ๊ก มีหลายแบบ ตอนนี้เรามีตัวหลักๆ ประมาณ 8-10 คนซึ่งให้เลือกใช้ นานๆ ถึงจะมีรับเชิญมาสักคน ซึ่งเป็นเสียงที่อยู่ทีมซีวีดี ไอทีวี ก็เชิญเขามาเลย เพราะเสียงที่เรามีอยู่ไม่เหมาะแน่ เรียกว่าหนังพิเศษ กรณีพิเศษ

คุณโต๊ะพากย์เป็นพระเอกเองเหรอคะ

ส่วนมากจะเป็นแบบนั้น เพราะมีจุดหนึ่งคือการทำทีมได้ต้องมีเสียงเป็นเอกลักษณ์ของทีม เสียงพระเสียงนางคือเสียงสำคัญ ฉะนั้นมันเป็นจุดที่โชคดีกว่าคนอื่นก็ว่าได้ คือเสียงเราเมื่อพูดออกไปแล้วคนอื่นรับได้ ก็เลยตั้งทีมได้ การทำทีม ถ้าเสียงคุณเป็นผู้นำไม่ได้ เก่งบริหารจัดการแค่ไหนก็ทำไม่ได้ เพราะคนจะไม่ฟังคุณ “เฮ้ย เสียงพากย์มึงเป็นแบบนี้เองเหรอ จะมาคุมคนอื่นได้ยังไง” ถ้าเสียงเราเพื่อนๆ รับได้ คนดูรับได้ เขาก็จะเชื่อเราในระดับหนึ่ง

เวลาพากย์เสียงเฉินหลงก็พากย์อย่างหนึ่ง โจวซิงฉือก็อย่างหนึ่ง เฉินหลงเราพูดต่ำๆ พูดสบายๆ แต่โจวชิงฉือเราต้องเหินขึ้นสูงนิดหนึ่ง

ภาพยนตร์ที่สร้างชื่อให้กับพันธมิตรที่พูดปุ๊บคนรู้จักเลย

‘ฟงอวิ๋น’ (ขี่พายุทะลุฟ้า《风云》) คนก็รู้จักเยอะนะ ‘นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่’ 《少林足球》ก็รู้จักเยอะ หนังโจวซิงฉือคนจะรู้จักเยอะ เพราะมันขำๆ หนังเกาหลีก็เป็น ‘ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม’ (My Sassy Girl)

เวลามีหนังของโจวซิงฉือจะเจาะจงว่าเป็นทีมพากย์พันธมิตรเลยหรือไม่

ส่วนมากจะเป็นแบบนั้นนะ เค้าก็แค่โทรมาหาเรา เราไม่สามารถบอกเขาว่าให้มาหาเรา อยู่ที่เขา อย่างเรื่องล่าสุด ( คนเล็กหมัดเทวดา 《功夫》) ก็เป็นโคลัมเบียติดต่อมาเอง

คาแรกเตอร์ที่พากย์แล้วประทับใจเป็นพิเศษ

ก็คงต้องเป็นโจวซิงฉือ เพราะว่าสนุก เล่นแล้วมันน่ารักดี แล้วก็มีดารารุ่นเก่าๆ ส่งมาให้พากย์ ตอนนี้เป็นหนังชอว์บราเดอร์สที่รีมาสเตอร์ (ต้นฉบับหนังเก่าที่กลับมาทำซ้ำ) ผมชอบฟู่เซิง ตายไปนานแล้ว เล่นเรื่องมังกรหยก เดชเซียวฮื้อยี้ ผมรักฟู่เซิงมาโดยตลอด เขามีบุคลิกคล้ายๆ กับโจวซิงฉือ เล่นเป็นลิงเลย น่ารักมาก ลองไปหามาดูนะ แล้วจะรักเขา แต่พากย์ยากเหมือนกันเลย

ใช้เวลาเท่าไหร่ในหนังแต่ละเรื่อง

ไม่แน่นอน อยู่ที่แนวหนัง ถ้าเป็นหนังญี่ปุ่นอย่างจูออน ผีดุ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพราะพูดน้อย เทกก็น้อย แต่ถ้าเป็นหนังตลกอย่างของเฉินหลงหรือของโจวซิงฉือ เข้าไปให้เสียง 10 โมงเช้าออกมาตี 2 ตี 3 ก็มี เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ เผลอๆ จะนานกว่าเก่าด้วยเพราะเราอายุมากขึ้น แล้วยิ่งยุคนี้มันมีหนังเก่าๆ ที่เราเคยพากย์ไว้เมื่อ 10-20 ปีที่แล้วมาทำเป็นดีวีดี มาพากย์ใหม่หมด อย่างเฉินหลงในเอไกหว่า 《A计划》 หนังมันไม่แก่ แต่เราแก่ลงทุกวัน หนังเค้ายังไวอยู่เหมือนเดิมแต่เราช้าลง กินเวลามากขึ้น

ปัญหาที่เจอในการทำงาน

มันจะเป็นแค่หนังยากหรือหนังไม่ยากเท่านั้นแล้วชั่วโมงนี้ เพราะปัญหาทุกอย่างเราเจอมาหมดแล้ว อย่างถ้าเป็นหนังธรรมดา หนังผี ก็ไม่ต้องไปเล่นอะไรเยอะแยะ ก็พากย์ตามบทไป เรื่องหนึ่ง 2-3 ชั่วโมงก็จบ บทบางที 10 กว่าใบ ไม่ค่อยพูดกัน เน้นเล่นอารมณ์ 2 ชั่วโมงตามหน้าหนังก็จบเลย ไม่ต้องไปเล่นอะไรเลย พอเจอหนังยากเราก็เครียดหน่อย หนังยากสำหรับเราคือหนังตลก ยิ่งหนังที่คนดูคาดหวังและเราคิดว่ามันต้องดีด้วย มันก็เหมือนกดดันระดับหนึ่งว่าต้องขำนะ และต้องมีอะไรใหม่ๆ ให้เขาบ้าง ไม่ใช่เล่นอะไรกันเลอะเทอะ เราก็ต้องคิดเยอะเหมือนกัน คิดล่วงหน้า เช่น วันจันทร์จะไปพากย์ วันศุกร์ เสาร์อาทิตย์ ก็เริ่มคิดแล้ว อะไรผ่านมาก็จด เพื่อจะไปใส่ในหนัง

เราทำแล้วเราก็ซื้อเก็บด้วย เมื่อซื้อเก็บแล้ว ถ้าเลอะเทอะมากอีก 10 ปีก็ต้องมาซ่อนลูกซ่อนหลานไม่กล้าให้มันดู ถ้าเราเอาจุดนี้มากดดันตัวเองจะทำให้เราทุ่มเทเวลากับงานชิ้นนั้นได้ เรามีโอกาสได้มาทำถึงขนาดนี้แล้ว ยอมเหนื่อยอีกนิดทำให้มันดี ถ้ายังไม่ยอมเหนื่อย โอกาสมันมาหาเราเพื่ออะไร โอกาสไม่ใช่มาง่ายๆ มาถึงแล้วเราก็ต้องคว้าไว้ให้นานหน่อย

มีคำแนะนำสำหรับคนอยากเป็นนักพากย์ไหม

สำคัญคือต้องอ่านหนังสือแตก มองปั๊บต้องอ่านได้เลย แต่เรื่องเสียงคุณต้องดีมาก่อน มีพรสวรรค์เรื่องเสียงมาก่อน เสียงดีหมายถึงว่าเสียงคุณอาจจะเป็นเสียงผู้ร้ายที่ดี แหบได้ที่ เสียงเพราะเป็นพระเป็นนางได้ แต่ก็ไม่ใช่เสียงเพราะเพียงอย่างเดียว บางคนเคยมาฝึก เสียงเพราะมาก พูดแล้วน่าฟังมาก แต่เข้าอารมณ์หนังไม่ได้ ตอนแรกพากย์หนังเรียบๆ ได้ แต่พอไปท้ายๆ เรื่องมันจะฆ่ากัน มันต้องร้องไห้ ดุเดือด เสียงก็ยังนิ่ม เพราะอยู่เหมือนเดิม ผมต้องบอกให้ไปบรรยายสารคดีเถอะ

การพากย์หนังที่ดี คุณต้องเข้าถึงอารมณ์ตัวละครได้ ผมย้ำกับเพื่อนๆ น้องๆ ที่มาพากย์กับผมทุกคนว่า จำไว้นะ ถ้าคุณไปดูในวีซีดีหรือในโรงแล้วเสียงคุณไม่หลุดออกมาจากหน้าตัวละคร นั่นคือคุณพากย์ดีแล้ว เดินออกมาจากโรง คนไม่ต้องชมว่าพากย์ดี แค่บอกว่าหนังมันมากสนุกมาก เหมือนเขาอินกับการทำงานของเรา เราเคยทำเรื่อง 'Rush Hour' เฉินหลงกับคริส ทักเกอร์ คนออกมาบอกว่าสนุกมาก ไม่ต้องชมทีมพากย์ แค่เดินออกมาแล้วรู้สึกว่ามันสนุก สนุกกว่าเสียงในฟิล์มอีก เราก็ภูมิใจแล้วว่าเสียงเราเข้ากับตัวละครจนเขาไม่รู้สึกโดดออกมา ถ้าเมื่อไหร่ที่พากย์แล้วเสียงคุณเหมือนหลุดออกมา นั่นคุณพากย์หนังได้ไม่ดี คุณแค่เป็นคนเสียงดีคนหนึ่ง แต่เสียงคุณไม่เข้ากับหน้าตัวละครเลย

การพากย์หนังที่ดี คุณต้องจับวิญญาณของตัวละครได้ รู้ถึงอารมณ์ของตัวละครได้ว่าตอนนี้มันอารมณ์ไหน มันร้องไห้ คุณร้องกับมันไปเลย ให้ออกมาจากอกของคุณ จากความรู้สึกจริงๆ ของคุณ คุณรู้สึกยังไง คุณสูญเสียนะ คุณเค้นออกมาเลย ไม่ต้องไปอายใคร หรือฉากบู๊จะฆ่ากันตาย ก็ตะโกนออกไปให้สุดเสียง ไม่ต้องกลัวเสียงหล่อไม่หล่อ ตะโกนให้เสียงหลงไปเลยก็ได้

หัวใจของการเป็นนักพากย์ที่ดีต้องอ่านหนังสือคล่อง เสียงต้องได้ ประสาทคุณต้องได้ หูฟัง ตาดู ปากพูด ต้องให้ไว ทักษะคุณต้องมี เมื่อคุณพูดได้แล้วคุณต้องมาฝึกอารมณ์กับผม อารมณ์ได้ไหม ไม่ใช่เสียงเพราะแต่ไม่เข้ากับตัวละครเลย มันไม่ได้

การพากย์หนังไม่ใช่การโชว์ออฟว่าเราเหนือกว่าหนัง ไม่ใช่ เราต้องอยู่ข้างหลัง เราต้องเจียมตัวว่าเราอยู่แค่ข้างหลัง เป็นแค่ผู้ถ่ายทอดผลงานที่เขาทำมา กำกับมาให้คนดูรู้เรื่องเท่านั้น ไม่ใช่เพราะเกินหน้าหนัง มันไม่ใช่การทำงานเป็นนักพากย์ที่ดี เราต้องคิดอยู่เสมอว่าเราเป็นผู้ถ่ายทอดนะ ผู้อยู่หลังฉากเท่านั้น ไม่ใช่เขาทำมาดีเกือบตาย เราไปทำดีกว่าเขา เป็นไปไม่ได้ แค่สื่ออารมณ์ที่เขาจะร้องไห้ จะฆ่ากันตาย คุณพูดให้คนรู้สึกว่ามันจะฆ่ากันจริงๆ มันจะตายกันจริงๆ พอแล้ว ผมคิดอย่างนั้น

อาชีพนี้มีวันหมดอายุไหม

ผมคิดว่ารักษาสุขภาพให้ดีๆ หนังมันเข้ามามีตัวละครทุกระดับ มีหนุ่มแล้วก็มีแก่ อีก 10 ปีก็เป็นแบบนี้ เราแก่เราก็พากย์เสียงแก่ได้ ตัวอย่างป๋าดม อุดม สุนทรจามร พากย์เสียงเปาบุ้นจิ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนบัดนี้ก็ยังพากย์อยู่ เป็นตัวพ่อ ตัวแก่ 80 กว่าแล้ว ให้ปากคุณอ้าได้เถอะ ผมคิดว่าถ้าสุขภาพคุณยังดี ประสาทคุณยังไว เรื่องเสียงไม่ต้องไปห่วงมัน อนาคตคุณพากย์ตัวหนุ่มไม่ได้ก็ไปพากย์เป็นตัวแก่ ตัวพ่อ น้า ลุง อา ให้ประสาทคุณไว อย่าไปทำลายประสาทคุณด้วยการไปเที่ยว กินเหล้าทุกวัน พอประสาทสมองคุณเบลอไปนั่งพากย์กับเพื่อนฝูงคุณเทกทุกคำ เข้าหนังไม่ได้ หาบทไม่เจอ ไม่ต้องอะไรหรอกเพื่อนฝูงก็บีบคุณออกไปเองแหละ นั่นคือคุณทำลายตัวเอง คุณจะหมดอายุไปเอง

คุณโต๊ะมีหลักในการพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง

ต้องทำตลอดเวลานะ จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เลิกซื้อหนัง ดูทุกเรื่องที่ออก ทุกอาทิตย์ หาจุดพลาด แล้วเรียกนักพากย์มาดูเพื่อหาวิธีแก้ไข ก็ยังพยายามอยู่ทั้งที่แก่ลงทุกวัน ก็เหนื่อยนะ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเรายังไม่เหนื่อยขนาดนี้เลย เจอหนังตลก หนังยากๆ เหนื่อย อย่างที่บอกเซียวฮื่อยี้ พากย์เจาะเสียงตัวเอกคนเดียว เริ่ม 10 โมงเช้าเสร็จ 4 โมงเย็น มันพูดเร็วเป็นลิง เราพากย์ทุกวันไม่หยุดปากเลย 2 หน้าต้องหยุดพักเสียง กินน้ำอุ่นแล้วก็นอนเอนหลัง 5-10 นาทีแล้วก็พากย์ต่อ เราอายุมากขึ้นเจอแบบนี้ทุกวันมันก็เหนื่อย แต่โชคดีที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเสียง เสียงไม่เคยแห้ง

ทำงานทุกวันไหม

แทบทุกวัน งานให้พากย์มีเรื่อยๆ ก็พยายามหาวันหยุด อาทิตย์ละ 2-3 วัน มันเครียด ไม่ไหว

ทุกวันนี้มีนักพากย์หน้าใหม่ๆ เข้ามาเยอะไหม

เยอะ มีน้องๆ เข้ามาเยอะ เสียงใหม่ๆ แปลกๆ หนังเกาหลี หนังวัยรุ่น มันต้องใช้เสียงเด็กๆ ซึ่งรุ่นเราไปเหินเสียงมันก็ไม่เหมาะแล้ว น้องๆ ที่เข้ามาใหม่ต้องฝึกขึ้นมา ซึ่งเค้าอาจจะอารมณ์เล่นแรงๆ อย่างพากย์หนังผู้ใหญ่ ตัวแข็งๆ เข้มๆ ไม่ได้ แต่พอหนังวัยรุ่นมา เป็นเสียงวัยรุ่น ง้องแง้งๆ ก็เข้าพอดีเลย เป็นน่าฟังไป เราก็แค่จัดคนให้เข้ากับงาน หนังวัยรุ่นมา ผมก็ลงจันทร์ อังคาร น้องๆ เข้ามา หนังผู้ใหญ่บู๊ๆ ผมก็ลงพุธ พฤหัส ศุกร์ ซึ่งเป็นนักพากย์ชุดใหญ่ๆ เข้ามา เอาน้องๆ เข้าไปเสริม ให้เขาฝึกเสียงผู้ใหญ่ไป ค่อยๆ อุ้มไป

พากย์เสร็จส่งกลับไปที่บริษัทใช่ไหม มีวิธีทำอย่างไรก่อนไปฉายในโรง

ถ้าเป็นวีดีโอก็จะพากย์ที่บ้าน ก็คือเค้ามีสคริปต์ภาษาอังกฤษ มีต้นฉบับเข้ามา ผมก็จะส่งแปลบทแล้วก็ดูหนังว่าเหมาะกับทีมชุดไหน แล้วก็พากย์เป็นเสียงดิบในคอมพิวเตอร์ แล้วก็ไรต์เสียงดิบนี้ให้ค่ายหนังไปมิกซ์เอาเอง เขาจะไปทำเป็น 5.1 เพื่อดีวีดีอะไรก็เรื่องของเขา นี่ส่วนวีซีดี ดีวีดี

ส่วนหนังใหญ่ที่นี่ทำไม่ได้ ต้องไปเข้ากันตนาหรือรามอินทรา ผมเข้าอยู่สองแล็บ หนังฝรั่งไปกันตนา หนังจีนมารามอินทรา เราก็จะพากย์อย่างเดียวเลย ยิ่งเป็นหนังใหญ่ยิ่งสบาย พากย์ให้เต็มที่ของเราไว้ ไปมิกซ์ ไปใส่เสียงอะไรก็เรื่องของเขา ขั้นตอนมันจะเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องของแล็บที่เราไม่รับรู้แล้ว รู้แค่ว่าพอเป็นหนังใหญ่เราก็เคี่ยวเป็นพิเศษมากกว่าเป็นหนังวีดีโอ เอาบทมาดูก่อนล่วงหน้า 7 วัน แล้วก็นึกถึงตัวละครว่าเหมาะกับใคร ควรจะดึงใครเข้ามา เมื่อเสร็จการมิกซ์เสียง การส่งไปห้องแล็บเพื่อพรินต์เป็นฟิล์ม เป็นก็อปปี้ เพื่อส่งเซ็นเซอร์ เป็นเรื่องของเขาแล้ว

ค่าตอบแทนเป็นอย่างไร

ใช้วิธีเหมาแล้วผมมาแจกจ่ายทุกคน ถ้าเรื่องไหนตัวละครเยอะก็เหลือน้อย ตัวละครน้อยก็เหลือเยอะ บางเรื่องแทบไม่เหลือสักบาทก็ทำ เพื่อจะเก็บหนัง บางเรื่องลงไป 10-11 คน ไม่เหลือเลย เข้าตัวด้วย แต่ไม่สนใจ เพราะบางทีคนที่อยู่ทีมนอกเจาะเข้ามาด้วยค่าตัวที่แพงกว่าปกติ แต่เสียงเขาเหมาะกับหนังเรา ก็ต้องเอา ไม่เป็นไร กำไรของเราอยู่ตรงไหน ตรงที่ได้ซื้อหนังเก็บ อีก 10 ปีมาฉายดู มันไม่เสียหายอะไร

** สารคดีชุด ‘ศตวรรษภาพยนตร์จีน’ นำเสนอทุกวันอาทิตย์ โปรดติดตามตอนหน้ากับเทศกาลหนังตะวันออกของคนรักหนังจีน
ขี่พายุทะลุฟ้า 《风云》 ผลงานสร้างชื่อเรื่องหนึ่งของทีมพันธมิตร
เกมนรกโรงเรียนพันธุ์โหด(Battle Royale) ภาพยนตร์ที่ให้บทเรียนการพากย์แก่คุณโต๊ะอย่างลืมไม่ลง
โจวซิงฉือและเฉิงหลง สองดาราใหญ่ที่แฟนหนังชาวไทยคุ้นเคย และครองเสียงพากย์โดยคุณโต๊ะมานาน
บรรยากาศในห้องคอนโทรล ที่จะควบคุมเสียงนักพากย์ให้ได้จังหวะ และผลงานการพากย์ที่ดีที่สุด
ภายในห้องพากย์ของทีมนี้ จะมีเพียงแสงไฟจากจอโทรทัศน์และไฟดวงที่อยู่เหนือโต๊ะนักพากย์แต่ละท่าน มาตรว่าความมืดจะทำให้เกิดจินตนาการการพากย์ได้ดีขึ้น
บนโต๊ะนักพากย์บางท่าน ยังมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่เรียกว่า สแตนด์ โดยใช้เป็นที่รองบทให้อ่านได้ง่ายขึ้นกว่าการใช้มือถือ
แทบไม่น่าเชื่อว่าใบหน้าหวานๆ นี้จะโดดเด่นในการให้เสียงในภาพยนตร์สยองขวัญ คุณสุรพร ใจรัก ขณะขะมักเขม้นกับการทำงาน

กำลังโหลดความคิดเห็น