xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก 39 ปี อสัญกรรมโจวเอินไหล : รัฐบุรุษผู้มุ่งหวังสันติภาพแห่งโลกหลายขั้วอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

โจวเอินไหล ในฐานะผู้นำคณะตัวแทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมในการเจรจาทางการทูตระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่กรุงเจนีวา หรือ Geneva Conference ในปีค.ศ.1954 (ภาพเอเจนซี)
ในวาระ 39 ปี อสัญกรรมของ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานตั้งแต่ ปีค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) จนถึงแก่อสัญกรรม มุมจีนจึงขอเสนอบทความรำลึกถึงผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของจีนคนนี้ และถือโอกาสเป็นบทเรียนแห่งศิลปะการสร้างชาติ ซึ่งทั่วโลกแม้ต่างขั้วอุดมการณ์ยังได้ยกย่องในอัจฉริยภาพการทูตแห่งศตวรรษ 20 ด้วย

จอห์น เจ.นอรริส จูเนียร์ แห่งมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์เปิดประเทศสู่โลก ผูกมิตรกับสหรัฐอเมริกาของโจวเอินไหลในบทความ China's Opening to the U.S.:The Statecraft of Zhou Enlai (1999) ว่า โจวเอินไหล มีศิลปะแห่งการสร้างชาติ ปกครองประเทศ ที่ล้ำลึกรอบด้าน อีกทั้งมีวิเทโศบายที่สหรัฐอเมริกา น่าศึกษาเป็นตัวอย่าง

จอห์น เขียนว่า รัฐบุรุษอย่างโจวเอินไหล เป็นบุคคลที่สหรัฐฯ พึงยกย่องและเรียนรู้จากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติจากเขา แม้ว่าจะปฏิเสธ อยู่คนละขั้วอุดมการณ์ก็ตาม โดยพลังแห่งบุคลิกภาพที่สะท้อนผ่านทักษะในฐานะผู้เจรจาต่อรองเพื่อมาตุภูมิของโจวเอินไหลนั่นเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ และศักยภาพของเขาคือสมบัติสำคัญของชาติจีน

แม้ว่าโจว เอินไหล จะศรัทธาอุทิศตัวเพื่อลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ความเชื่อเหล่านี้ ก็ไม่ได้จำกัดให้เขาคับแคบกับการประเมินความเป็นไปของโลกตามความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นจริงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่เปลี่ยนไป ความสามารถในการนำพาชาติไปสู่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดและไม่เคยไขว้เขวหวั่นไหวกับสถานการณ์ปลีกย่อยต่างๆ ของเขา เป็นสิ่งที่ชาติระบอบประชาธิปไตยแบบพหุนิยมทำได้ยาก

โจวเอินไหล เป็นนักปฏิบัติเพียงพอที่จะรู้ว่า เมื่อใดควรประนีประนอม ยอมอ่อนข้อ ยอมแพ้ในเรื่องเล็กเพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ (แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง) เหมือนที่ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ นักการทูตชาวอเมริกันคนสำคัญร่วมสมัยกับโจวเอินไหล กล่าวว่า 'โจว มีภูมิปัญญาความรู้ที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่ควรหยัดยืนปักหลัก กับขอบเขตที่สามารถก้าวข้ามเพื่อการสร้างสรรค์'

ในยุคสมัยที่เพิ่งก่อสร้างจีนใหม่นั้น สาธารณประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีสถานะยากจนแร้นแค้น ถูกขนาบและคุกคามจากมหาอำนาจโลกใหม่อย่าง สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แต่โจวเอินไหล กลับสามารถนำพาหาที่หยัดยืนอันมั่นคงให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน จนรอดพ้นภัยการเมืองระหว่างประเทศตลอดช่วงชีวิตของเขา อีกทั้งยังได้ปูทางวางตัวบุคคลซึ่งจะรับงานสร้างชาติจีนใหม่ (เติ้งเสี่ยวผิง) เพื่อรับประกันอนาคตของชาติจีนด้วย

ตลอดเวลา 39 ปี หลังการอสัญกรรมของโจวเอินไหล แนวทางและนโยบายการต่างประเทศของเขา ไม่ว่าจะมองย้อน หวนวิเคราะห์ในกิจการใด ก็ยังคงพิสูจน์ได้ถึงผลแห่งความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้งยากที่จะพบจุดโหว่-ข้อผิดพลาดใดๆ

จอห์น กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านการทูตของโจวเอินไหล คือหัวใจสำคัญ โจวเอินไหลสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญมากมาย อาทิ สร้างดุลยภาพอำนาจป้องกันประเทศจากการคุกคามของโซเวียต อีกทั้งยังสร้างเสถียรภาพพอที่จะไม่กระทบกระเทือนจากการจับมือกันของโซเวียตกับสหรัฐฯ ด้วย

นโยบายการทูตของโจวเอินไหล ทำให้จีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแห่งศตวรรษใหม่ของชาติตะวันตก เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศจีน อันเป็นการปูแนวทางพื้นฐานสำหรับนโยบายสำคัญ นั่นคือ 'นโยบายสี่ทันสมัย'

โจวเอินไหล ยังนำจีนกลับมาสู่เวทีโลก หลังจากที่นานาชาติเคยมีความพยายามที่จะโดดเดี่ยวกีดกัน เพื่อสนับสนุนไต้หวันแทน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องไต้หวันนี้ โจวเอินไหล ก็รู้เท่าทันพอที่จะไม่หักหาญเอาทั้งหมด โดยยอมรับว่า ยังมีเป้าหมายหลัก เป้าหมายรองอีกมากมายที่จำเป็นต้องใช้เวลา ไม่อาจสำเร็จได้ในระยะสั้น และเรื่องสำคัญที่ต้องการในยุคของเขาคือการเปิดประตูสู่ตะวันตก และสร้างกำแพงที่มั่นคงจากการคุกคามของสหภาพโซเวียตในเวลานั้นมากกว่า

จอห์น ยังบอกว่า โจวเอินไหล หยั่งประเมินผลประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด โดยเวลานั้นภูมิรัฐศาสตร์ของจีนมีความเสี่ยง (ทั้งเสี่ยงเป็นและเสี่ยงตาย) มีทั้งโอกาสและภัยคุกคาม โดยในปี ค.ศ.1968 นั้น สหภาพโซเวียตได้บุกยึดประเทศเช็คโกสโลวาเกีย จัดตั้งระบบคอมมิวนิสต์ที่เข้มงวด และมีแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์ว่า จะครอบงำจีนได้ทั้งในด้านความอยู่รอดของรัฐชาติ และอุดมการลัทธิสังคมนิยมเบ็ดเสร็จในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม โรนัลด์ ซี.คีธ (Ronald C. Keith) ผู้เขียนหนังสือ The Diplomacy of Zhou Enlai แสดงความเห็นว่า การเปิดสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นั้น โจวเอินไหล ไม่ได้ต้องการสร้างดุลยภาพโดยเอาหลังพิงมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ เพื่อคานกับโซเวียต แต่ต้องการดำเนินการตามวิถีที่ดำรงความเป็นตัวตนแห่งชาติจีนคอมมิวนิสต์ด้วย แรงขับเคลื่อนของโจวเอินไหล มีความซับซ้อนล้ำลึกไปกว่าการสร้างสมดุลมหาอำนาจ ซึ่งนั่นเป็นเพียงเป้าหมายระยะสั้นมากกว่า ทว่าเป้าหมายระยะยาวของเขากลับอยู่ที่การเปลี่ยนระบบขั้วอำนาจการเมืองโลก ที่แบ่งออกเป็น ระบบสองขั้วอำนาจ (Bipolar system) โดยมีสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ไปสู่ 'โลกหลายขั้ว' (Multi-polar World) ที่บทบาทอำนาจทางการเมือง การกำหนดชะตากรรม ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการค้า จะไม่ตกอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงประเทศเดียว หรือสองประเทศอีกต่อไป

แม้ว่าภูมิรัฐศาสตร์โลกในเวลานั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ต้องกังวล แต่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของจีนที่โจวเอินไหลวางไว้ ก็ยังมุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างเศรษฐกิจของตนเองด้วย โดยเขาได้กล่าวสุนทรพจน์ในปี ค.ศ.1975 (ก่อนเสียชีวิต 1 ปี) เน้นย้ำให้ความสำคัญกับแผน 'นโยบายสี่ทันสมัย' พร้อมทั้งวางตัวบุคคลที่จะมารับสานต่อนโยบายนี้ คือ เติ้้งเสี่ยวผิง ผู้ซึ่งเขาเชื่อมั่น-เชื่อใจว่าเป็นบุคคลเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนี้แทนเขาได้ในอนาคต

นโยบายเปิดประเทศสู่โลกนี้ โจวเอินไหล ประสบความยากลำบากมากจากชนชั้นอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งจาก หลินเปียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ซึ่งประธานเหมาเจ๋อตง เคยวางตัวให้เป็นทายาทการเมืองสืบทอดคนต่อไป และจากแก๊งค์สี่สหาย โดยบุคคลเหล่านี้ พยายามโน้มน้าวผู้นำเหมาให้ปิดประเทศ ต่อต้านตะวันตก ยึดอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่ง อันไม่อาจอยู่ในโลกของความเป็นจริง และก่ออุปสรรคในภารกิจของโจวเอินไหลมาตลอด จนครั้งหนึ่ง โจวเอินไหล เคยกล่าวกับ คิสซิงเจอร์ ระหว่างเจรจาเปิดปูทางสร้างสัมพันธ์ เมื่อปี ค.ศ. 1971/1972 ว่า ให้มั่นใจเขาและดูการกระทำของรัฐบาลมากกว่า อย่าไปฟังคนพูดโน่นพูดนี่ แม้กระนั้นในทางรัฐบาลเอง โจวเอินไหล ก็ต้องเผชิญกับการเจรจาหยั่งเชิง ช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยการเมืองจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังต้องประคองตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์ผันผวนจากการคุกคามของเหล่าแก๊งค์สี่สหายตลอดมา จนแม้กระทั่งในวันที่เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ.1976

ความพยายามของแก๊งค์สี่สหาย ในการลดอำนาจโจวเอินไหล และไม่ให้ความสำคัญกับการอสัญกรรมของเขาเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1976 นี้เอง กลายเป็นแรงกดดันให้ประชาชนจีนผู้อัดอั้นตันใจตลอดมา ต่างแสดงออกทางการเมืองด้วยการเดินเท้าจากบ้านหลั่งไหลมายังจตุรัสเทียนอันเหมิน ในเช้าวันที่ 5 เมษายน อันเป็นวันตรงกับเทศกาลบูชาบรรพบุรุษ (ชิงหมิง หรือเช็งเม้ง)

ในวันนั้น ประชาชนจีนนับแสนคน พร้อมใจกันนำเอาพวงหรีดมาตั้งไว้ที่อนุสาวรีย์วีรชนกลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน หลั่งน้ำตาอาลัยนายกโจวเอินไหล อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเขา ประมาณกันว่ามีจำนวนพวงหรีดนั้นกองสูงดั่งภูเขาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการไว้อาลัยบุคคลสำคัญฯ และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการแสดงนัยยะแห่งการลุกฮือหมดยุคของนางเจียงชิงและแก๊งค์สี่สหาย
ประชาชนจีนนับแสนเดินเท้าจากบ้าน ไปยังจตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อเช้าวันเช็งเม้ง วันที่ 5 เมษายน 1976 เพื่อวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์วีรชน ไว้อาลัยนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล และประกาศนัยยะแห่งการลุกฮือต่อต้านอำนาจของนางเจียงชิงและแก๊งค์สี่สหาย (ภาพเอเจนซี)

โจวเอินไหล แถลงสุนทรพจน์ในปี 1975 ประกาศนโยบายสี่ทันสมัย


สารคดีงานพิธีศพโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1976



สหรัฐฯก่ออาชญากรรม “ขั้นอุกฤษฏ์” ในกัมพูชา: สัมภาษณ์นักน.ส.พ.อาวุโส ‘จอห์น พิลเกอร์’
เป็นเรื่องน่าหัวเราะเหลือเกินที่ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ออกมายืนกรานว่า การทิ้งระเบิดอย่างลับๆ ในกัมพูชาในยุครัฐบาลประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน นั้น ได้สังหารประชาชนเป็นจำนวนน้อยกว่าการใช้อากาศยานไร้นักบิน (โดรน) เข้าโจมตี ในยุครัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา เวลานี้ อันที่จริงแล้ว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯผู้นี้ควรที่จะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีพร้อมๆ กับ เคียว สมพร และพวกผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่สหรัฐฯกระทำลงไปในกัมพูชาคือการก่ออาชญากรรมอันอุกฤษฏ์ร้ายแรงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น