xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯก่ออาชญากรรม “ขั้นอุกฤษฏ์” ในกัมพูชา: สัมภาษณ์นักน.ส.พ.อาวุโส ‘จอห์น พิลเกอร์’

เผยแพร่:   โดย: แดเนียล พาย

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US committed 'epic' crime in Cambodia: Q&A with journalist John Pilger
29/09/2014

เป็นเรื่องน่าหัวเราะเหลือเกินที่ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ออกมายืนกรานว่า การทิ้งระเบิดอย่างลับๆ ในกัมพูชาในยุครัฐบาลประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน นั้น ได้สังหารประชาชนเป็นจำนวนน้อยกว่าการใช้อากาศยานไร้นักบิน (โดรน) เข้าโจมตี ในยุครัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา เวลานี้ อันที่จริงแล้ว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯผู้นี้ควรที่จะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีพร้อมๆ กับ เคียว สมพร และพวกผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่สหรัฐฯกระทำลงไปในกัมพูชาคือการก่ออาชญากรรมอันอุกฤษฏ์ร้ายแรงที่สุด

ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เขาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวรับหน้าที่รายงานเรื่องราวของสงครามครั้งต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 นักสร้างภาพยนตร์สารคดีและนักหนังสือพิมพ์อาวุโสชาวออสเตรเลีย จอห์น พิลเกอร์ (John Pilger) ก็เป็นนักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศของโลกตะวันตกอย่างคมกริบ พิลเกอร์ ได้เจริญรอยตาม มาร์ธา เกลล์ฮอร์น (Martha Gellhorn) ในการทำข่าวสงครามเวียดนามโดยมุ่งเน้นทัศนะมุมมองของผู้คนที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากสงครามหนักหน่วงที่สุด ซึ่งก็คือ ประชาชนชาวเวียดนาม และทหารเกณฑ์ชาวอเมริกัน ในปี 1979 เขาได้จัดทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Year Zero: the Silent Death of Cambodia” ซึ่งพรรณนาถึงความหายนะทางด้านมนุษยธรรมภายหลังการขับไล่ระบอบปกครองเขมรแดงออกไปจากกรุงพนมเปญ ในเวลาต่อมาเขายังได้สร้างภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยกัมพูชาอีก 3 เรื่อง และกลายเป็นนักวิจารณ์คารมกล้าในเรื่องที่สหรัฐฯแทรกแซงเข้าไปในประเทศนั้น ตลอดจนการที่ฝ่ายตะวันตกสนับสนุน โปล โป้ต (พอล พต Pol Pot)

ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาได้ให้สัมภาษณ์ แดเนียล พาย (Daniel Pye) แห่ง หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ฉบับสุดสัปดาห์ (The Phnom Penh Post Weekend) เกี่ยวกับเรื่องราวในกัมพูชาภายหลังการโค่นเขมรแดง, คำพูดเมื่อเร็วๆ นี้ของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ซึ่งพยายามที่จะลดทอนน้ำหนักเรื่องที่สหรัฐฯในยุคที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้ไปถล่มทิ้งระเบิดในกัมพูชา, ตลอดจนแผนการใหม่ของรัฐบาลออสเตรเลียที่จะส่งผู้ลี้ภัยซึ่งทางการแดนจิงโจ้ไม่ต้อนรับ มาพำนักอาศัยอยู่ในดินแดนกัมพูชา


แดเนียล พาย (ด.พ.): คุณเคยเดินทางมาเยือนประเทศนี้ในปี 1979 พร้อมกับนักสร้างภาพยนตร์ เดวิด มุนโร (David Munro) และช่างภาพ อีริก ไพเพอร์ (Eric Piper) อะไรที่ดึงดูดให้คุณมาที่กัมพูชา และมันเป็นยังไงบ้างครับ ในการเข้ามาทำข่าวช่วงหลังจากการโค่นล้มเขมรแดงในตอนนั้น?

จอห์น พิลเกอร์ (จ.พ.): ผมได้รายงานข่าว ได้เขียนถึง และได้ทำหนังเกี่ยวกับเวียดนาม มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้ว ผมสงสัยว่าหัวใจของผมบางส่วนคงจะอยู่ที่อินโดจีน และการต่อสู้เพื่อสันติภาพและเอกราชของอินโดจีน มันเป็นการต่อสู้ที่เวียดนามน่าจะประสบการสูญเสียผู้คนไปมากกว่า 4 ล้านคน ส่วนกัมพูชานั้นแน่นอนทีเดียวว่าได้สูญเสียไปมากกว่า 2 ล้านคน ถ้าหากคุณนับรวมช่วงที่อเมริกาทิ้งระเบิดและช่วงสงครามกลางเมืองที่แผ้วถางทางให้แก่การขึ้นครองอำนาจของ โปล โป้ต และดังนั้นผมจึงเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ ในกัมพูชาเรื่อยมา สิ่งที่มีหลักฐานให้เห็นกันตั้งแต่ตอนนั้น และเป็นสิ่งที่กระจ่างชัดเจนแล้วในตอนนี้ ก็คือ โปล โป้ต จะไม่สามารถยึดอำนาจได้เลย ถ้าหากสหรัฐฯไม่ได้เปิดการรณรงค์ถล่มทิ้งระเบิดใส่กัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ประเมินต่างๆ ของซีไอเอ, งานการศึกษาวิจัยของนักวิชาการอย่าง เบน เคียร์แนน (Ben Kiernan), และการรายงานข่าวของ ริชาร์ด ดุดแมน (Richard Dudman) จากภายในกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea ชื่อของประเทศกัมพูชาในยุคที่ปกครองโดยเขมรแดง -ผู้แปล) ของ โปล โป้ต, แล้วบวกกับแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง มันทำให้ได้ข้อสรุปอย่างนี้ออกมา จากการที่ผมได้สัมภาษณ์ทั้งพวกผู้ลี้ภัยและพวกอดีตเขมรแดง ก็ยิ่งทำให้แทบไม่มีข้อสงสัยอะไรเลยในเรื่องนี้ ในปี 1979 พวกเพื่อนร่วมงานของผมและตัวผมตัดสินใจที่จะเข้ามาดูด้วยตัวพวกเราเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เลย เราใช้วิธีรวมทีมกับกลุ่มแพทย์ชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังนำความช่วยเหลือเข้ามายังกัมพูชา เพราะฤดูมรสุมที่ร้ายแรงมากของปีนั้นกำลังแสดงฤทธิ์เดชอยู่ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรยายถึงความเสียหายยับเยินและบาดแผลความชอกช้ำที่พวกเราได้มาพบเห็น สิ่งที่เหลือเชื่อก็คือว่า สหรัฐฯและพวกชาติพันธมิตรตะวันตกได้ประกาศใช้มาตรการห้ามนำเข้าส่งออกสินค้าทั้งหลาย ซึ่งได้สร้างภาวะอัมพาตให้แก่ประเทศนี้ กัมพูชาในเวลานั้นนำโดยรัฐบาลของเฮง สัมริน (Heng Samrin เป็นรัฐบาลกัมพูชาที่จัดตั้งขึ้นภายหลังกองทัพเวียดนามยกกำลังเข้ามาโค่นล้มเขมรแดง ทั้งนี้ฝ่ายตะวันตก, จีน, ไทย ระบุว่ารัฐบาลเฮง สัมริน เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของเวียดนาม -ผู้แปล) ผมมองว่านี่เป็นการมุ่งแก้แค้นต่อเวียดนามอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน เพียงเพราะว่ากองทหารเวียดนามที่กำลังเข้ามาปลดแอกกัมพูชานั้น เป็นฝ่ายที่ตรงกันข้ามกับโลกตะวันตกในยุคสงครามเย็น ขณะที่โลกตะวันตกยืนดูอยู่เฉยๆ (และกำลังรวมศูนย์ความช่วยเหลือของตนมายังค่ายผู้อพยพลี้ภัยต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งกำลังสนับสนุนระบอบปกครองที่ล้มละลายไปแล้วของ โปล โป้ต บนเวทีสหประชาชาติ) ความช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวนมากทีเดียวมาถึงกัมพูชาได้ โดยผ่านจากพวกจังหวัดทางภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งก็ยังอยู่ในสภาพได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ด.พ.: ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมครับถึงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่คุณได้มาพบเห็นด้วยตัวเองในตอนนั้น รวมทั้งเรื่องที่ฝ่ายตะวันตกมีการตอบสนองอย่างไรบ้างต่อความทุกข์ยากเดือดร้อนที่ประชาชนชาวเขมรได้รับอยู่?

จ.พ.: สิ่งที่ประชาชนมีความจำเป็นและต้องการจะได้รับนั้น มันช่างมากมายท่วมท้นจริงๆ ในวันแรกที่ผมอยู่ในพนมเปญ ผมได้เห็นเด็กๆ ที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหารอย่างน่าสยดสยอง โดยที่มีหลายคนซึ่งเพิ่งเดินมาจากเขตชนบท สำหรับประชาชนจำนวนมากแล้ว ชีวิตคือฝันร้ายโดยแท้ ประชาชนกำลังระหกระเหินกลับมายังเมืองที่อยู่ในสภาพของเมืองร้าง เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขารู้สึกเจ็บปวดและวิตกกังวล ในอู่รถของปั๊มน้ำมันที่ถูกทิ้งร้างแห่งหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งและเด็กๆ ซึ่งดูอมโรคกลุ่มหนึ่งกำลังต้มพวกใบไม้ใบหญ้าอยู่ในหม้อ กองไฟที่พวกเขาใช้ต้มและกำลังส่งเสียงเปรียะประนั้นใช้ธนบัตรเป็นเชื้อเพลิง มันเป็นธนบัตรไร้ค่าที่ทะลักออกมาจากธนาคารชาติของกัมพูชา หลังจากถูกพวกเขมรแดงที่กำลังล่าถอยระเบิดทิ้ง เที่ยวบินลำเลียงความช่วยเหลือฉุกเฉินเที่ยวแรกๆ เที่ยวหนึ่งเดินทางมาถึงในขณะที่ผมอยู่ที่นั่น เป็นเครื่องบินขนส่งแบบ ดีซี-8 ที่บรรทุกสัมภาระทางการแพทย์และนมผงจนเต็มลำ โดยเป็นฝีมือการดำเนินการจัดส่งขององค์การออกซ์แฟม (Oxfam) ซึ่งในตอนนั้นเป็นเพียงองค์กรเอ็นจีโอรายใหญ่ของโลกตะวันตกเพียงรายเดียวเท่านั้น ที่พร้อมจะแหกคอกไม่สนใจคำสั่งห้ามนำเข้าส่งออกสินค้าของฝ่ายตะวันตก อ้อ แล้วปีนั้นนะครับ คือปีที่เขาถือว่าเป็น “ปีเด็กสากล” เสียด้วย

ด.พ.: เมื่อตอนที่เขาไปให้สัมภาษณ์เครือข่ายสถานีวิทยุ เอ็นพีอาร์ (NPR ย่อมาจากNational Public Radio) ในสัปดาห์ที่แล้ว เฮนรี คิสซิงเจอร์ บอกว่า การทิ้งระเบิดอย่างลับๆ ในกัมพูชาในยุครัฐบาลประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน นั้น สังหารประชาชนเป็นจำนวนน้อยกว่าการใช้อากาศยานไร้นักบิน (โดรน) เข้าโจมตี ในยุครัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา เวลานี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อคำพูดเช่นนี้ของเขา?

จ.พ.: มีหลักฐานเยอะแยะมากมายไปหมดที่ทำให้การพูดถึงเหตุการณ์นี้ในแบบเวอร์ชั่นของคิสซิงเจอร์ กลายเป็นเพียงเรื่องตลกน่าหัวเราะเยาะเท่านั้น เป็นต้นว่า คณะกรรมการสอบสวนของรัฐบาลฟินแลนด์ (Finnish Government Commission of Inquiry) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือมาก ได้บรรยายถึง “ช่วงเวลา 1 ทศวรรษแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ” (decade of genocide) ในกัมพูชา โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ (ผมมองว่านี่เป็นการแบ่งที่ถูกต้อง) ระยะแรกนั้นคือระหว่างปี 1969 ถึง 1975 เป็นระยะของการทิ้งระเบิดของอเมริกัน ซึ่งทางคณะกรรมการชุดนี้ประมาณการว่า มีชาวเขมรเสียชีวิตไป 600,000 คน และอีก 2 ล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัย สำหรับการศึกษาของ ไมเคิล วิกเคอรี (Michael Vickery) ให้ตัวเลข “ความสูญเสียจากสงคราม” เอาไว้ที่ 500,000 คนสำหรับระยะดังกล่าวนี้ นอกจากนั้นยังมีการประมาณการของคนอื่นๆ อีก บางอันให้ตัวเลขต่ำกว่านี้ บางอันก็สูงกว่านี้ แต่สิ่งที่ไม่มีข้อสงสัยเคลือบแคลงใดๆ เลยก็คือ คิสซิงเจอร์ กับ นิกสัน ได้เปิดไฟเขียวให้มีการใช้ความป่าเถื่อนทางอากาศอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ต่อประชาชนผู้ไร้การป้องกันใดๆ (โดยที่ความป่าเถื่อนเหล่านี้มากมายทีเดียว ยังถูกเก็บเป็นความลับไม่ให้รัฐสภาสหรัฐฯและประชาชนชาวอเมริกันรับรู้อีกด้วย) คิสซิงเจอร์ควรที่จะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีความผิด พร้อมๆ กับ เคียว สมพร (เขียว สัมพันธ์ Khieu Samphan) และพวกผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ สิ่งที่สหรัฐฯกระทำลงไปในกัมพูชานั้นคือการก่ออาชญากรรมอันอุกฤษฏ์ร้ายแรงที่สุด

ด.พ.: คุณมีความเห็นอย่างไรกับการที่รัฐบาลออสเตรเลียทำข้อตกลงกับกัมพูชา เพื่อนำเอาผู้ลี้ภัยจากศูนย์กักกันนอกชายฝั่งของออสเตรเลียบนเกาะนาอูรู มา “ตั้งถิ่นฐานใหม่” ที่กัมพูชานี่ รวมทั้งคุณคิดยังไงกับนโยบาย “หยุดเรือผู้ลี้ภัย” ของออสเตรเลีย (ซึ่งไม่ยอมให้เรือเหล่านี้เทียบท่าหรือให้ผู้ลี้ภัยได้ขึ้นฝั่งในออสเตรเลีย)?

จ.พ.: วิธีที่รัฐบาลออสเตรเลียปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยนั้นทั้งไร้ศีลธรรมและเป็นอาชญากรรม สำหรับข้อตกลงที่กัมพูชาจะรับหน้าที่คุมขังผู้ลี้ภัยให้ออสเตรเลีย ก็เป็นสิ่งที่ละเมิดความยุติธรรมตามหลักธรรมชาติ ละเมิดคำพิพากษาต่างๆ ของศาลยุติธรรมออสเตรเลีย ตลอดจนละเมิดอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี 1951 (1951 Refugee Convention) ซึ่งเป็นเอกสารที่มีความผูกพันทางกฎหมายให้ต้องปฏิบัติตาม สิ่งต่างๆ ที่ผมหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งกำหนดสิทธิต่างๆ ของผู้ลี้ภัย และกำหนดข้อผูกมัดทางกฎหมายที่รัฐบาลต่างๆ จะต้องปฏิบัติตาม ทว่าข้อตกลงที่ สกอตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison) รัฐมนตรีกิจการคนเข้าเมือง (Immigration Minister) ของออสเตรเลีย ทำกับรัฐบาลกัมพูชานั้น มันทั้งเลวทรามสกปรกและไม่เป็นไปตามกฎหมาย รัฐบาลของเขากำลังติดสินบนกัมพูชาเพื่อสมรู้ร่วมคิดกันในการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเช่นนี้ โดยเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคือเรื่องของการฉวยโอกาสทางการเมืองและลัทธิเหยียดเชื้อชาติ พวกนักการเมืองอย่างเช่น มอร์ริสัน กำลังหวาดกลัวว่าพวกเขาจะถูกโหวตพ้นจากตำแหน่ง ถ้าหากพวกเขายินยอมให้พวกผู้อพยพซึ่งกำลังหลบหนีอันตรายที่มีต่อตัวเขา ออกมาจากตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ได้เดินทางเข้าสู่ออสเตรเลีย สำหรับชาวออสเตรเลียอย่างเช่นตัวผมนั้น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกอับอายเหลือเกิน และเจ้าหน้าที่หรือนักการทูตคนไหนซึ่งเข้าร่วมจัดทำข้อตกลงอย่างนี้ขึ้นมา ควรที่จะรู้สึกอับอายขายขี้หน้า เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้ลี้ภัย 2 คนเสียชีวิตไปในสภาวการณ์อันเลวร้ายชวนตระหนก ภายในศูนย์กักกัน “นอกชายฝั่ง” ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาโดยออสเตรเลีย ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้คนหนึ่งตายเพราะถูกฆาตกรรม ส่วนอีกคนหนึ่งตายเพราะถูกปฏิเสธไม่ให้การรักษาพยาบาลทางการแพทย์ในขึ้นพื้นฐาน ยังมีผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กจำนวนราว 2,500 คนทีเดียวกำลังถูกกักกันตัวโดยฝีมือของรัฐบาลออสเตรเลีย พวกเขาจำนวนมากกำลังลำบากต้องเผชิญกับเงื่อนไขความเป็นอยู่ที่น่าสยดสยอง ตามข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออสเตรเลีย (Australian Human Rights Commission) พวกเขาบางคนถูกปฏิเสธไม่ให้มีแม้กระทั่ง “สถานที่สำหรับให้เด็กทารกได้เรียนรู้วิธีคลานหรือเดิน ภายในสถานกักกันที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์โลหะขนาด 3x3 เมตร และตั้งอยู่ในบริเวณที่อุณหภูมิร้อนจัดอย่างยิ่ง”

ด.พ.: พวกกลุ่มภาคประชาสังคมได้เก็บรวบรวมหลักฐานของสิ่งที่ระบุกันว่า เป็น “วิกฤตการณ์การแย่งยึดที่ดิน” ในกัมพูชา คุณคิดไหมว่าพวกชาติผู้บริจาคและสถาบันผู้บริจาคความช่วยเหลือให้กัมพูชา ควรที่จะต้องเข้าร่วมแบกความรับผิดชอบให้มากขึ้นกว่านี้ ในเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบเบียดบังทรัพยากรธรรมชาติด้านต่างๆ ของกัมพูชา?

จ.พ.: ครับ ผมเห็นด้วย พวกที่เรียกกันว่าชาติผู้บริจาครายใหญ่ๆ ทุกๆ รายเลย ต่างทำเป็นอยู่เฉยๆ ในเวลาที่มองเห็นการเอารัดเอาเปรียบในกัมพูชา เนื่องจากพวกเขาก็ได้รับประโยชน์ด้วยนั่นเอง

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ผ่านการตรวจแก้ขัดเกลา เพื่อให้ได้ความยาวตามที่ต้องการและเพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น