เอเจนซี - ชาวเน็ตแดนมังกรสับเละร้านค้ากลางนครหลวงปักกิ่ง ติดป้ายห้าม “คนจีน” เข้าช้อปปิ้งเด็ดขาด อ้างน่ารำคาญ ลองเยอะแต่ไม่ซื้อ แถมทำเสียชื่อเสียทรัพย์
ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าแห่งหนึ่งบนถนนหยาเป่า ย่านธุรกิจการค้าสำคัญของกรุงปักกิ่ง ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติ เนื่องจากขึ้นป้ายข้อความหน้าร้านระบุ “คนจีนห้ามเข้า ยกเว้นพนักงาน” จนชาวบ้านละแวกใกล้เคียงพากันตำหนิติเตียนอย่างไม่พอใจ
พนักงานขายของร้านชี้แจงกับเป่ยจิง ยูทธ์ เดลี สื่อท้องถิ่นว่า “ทีแรกไม่ได้อยากติดป้ายแบบนี้ เพราะก็เข้าใจว่าทำให้ผู้คนคิดว่าร้านเราดูถูกดูแคลนเพื่อนร่วมชาติ แต่ลูกค้าชาวจีนบางส่วนก็น่ารำคาญมากเกินไปจริงๆ”
“ทางร้านเคยต้องเสียเงินกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1 แสน 6 หมื่นบาท) ให้กับลูกค้าต่างชาติรายหนึ่ง เพื่อจ่ายหนี้ชดเชยกรณีลักขโมยทรัพย์สิน หลังภาพจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นว่า มีคนจีนสวมรอยทำทีเป็นลูกค้าเข้ามาล้วงขโมยกระเป๋าตังค์ของชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้ลูกค้าคนนั้นปักใจเชื่อว่าเรา (ร้านและหัวขโมย) เป็นแก๊งเดียวกัน” พนักงานอธิบาย
นอกเหนือจากนั้น “ลูกค้าผู้หญิงชาวจีนมักขอลองเสื้อผ้าเยอะมาก แต่กลับลงท้ายด้วยการไม่ซื้อเลยสักตัวเดียว” พนักงานอีกคนกล่าว “และป้ายนี้ก็ช่วยป้องกันไม่ให้คู่แข่งร้านเข้ามาก๊อปปี้แบบเสื้อผ้าอีกด้วย”
อย่างไรก็ดี บรรดาบล็อกเกอร์จีนแผ่นดินใหญ่ต่างไม่ประทับใจกับคำชี้แจงเหล่านี้ เนื่องจากป้ายข้อความ “ห้ามคนจีน ห้ามเข้า” ที่ร้านค้าในปักกิ่งนี้ กระตุกให้ชาวจีนหลายๆคนหวนนึกการเหยียดชนชาติจีนบนแผ่นดินของชาวจีนเองในอดีตยุคจักรวรรดินิยมตะวันตกเรืองอำนาจช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษได้เข้ายึดครองแผ่นดินจีนหลายเขต รวมทั้งนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีป้ายเขียนว่า “ห้ามสุนัขและชาวจีน” ติดอยู่ที่ทางเข้าสวนหวงผู่ นับเป็นการกดขี่เหยียบย่ำชาวจีนอันสุดขมขื่นในประวัติศาสตร์จีน
ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักก็ประโคมข่าวอย่างหนักหน่วง จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงบนโลกออนไลน์ มีคนอ่านเรือนล้านและความคิดเห็นหลั่งไหลออกมาหลายพันชิ้น
“ไปให้พ้นจากประเทศจีน!” เสียงด่าทอจากชาวเน็ตหลายราย
ด้านความเห็นจาก หลี่ เซียนตง นักวิชาการกฎหมายจากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายจีน กล่าวว่า แม้เนื้อความของป้ายส่อนัยยะการแบ่งชนชั้นจริง แต่จีนไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ ท้ายที่สุดจึงไม่อาจดำเนินการทางกฎหมายใดๆ
“มันไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดจากความเหมาะสม ผิดจากมุมมองทางวัฒนธรรม”