xs
xsm
sm
md
lg

จีนเสนอจัดประชุมรมต.กลาโหมอาเซียน เชียร์สายด่วนกองทัพฯ คานอิทธิพลมะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน จับมือกับพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเมียนมาร์ ระหว่างเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน กรุงเนปิดอว์ วันที่ 13 พ.ย. 2557 (ภาพเอเอฟพี)
พญามังกรเสนอตัวเป็นโต้โผจัดประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมชาติอาเซียนบวกหนึ่ง (จีน) หารือแนวทางตั้งสายด่วนการทหารรับมือเหตุฉุกเฉิน และคานอำนาจมะกันที่บุกถึงถิ่นทะเลจีนใต้

ณ ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า ในวานนี้ (13 พ.ย.) นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง กล่าวสนับสนุนการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ โดยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2558 เพื่อกระตุ้นความร่วมมือทางด้านความมั่นคงในภูมิภาค

นอกจากนั้น “การประชุมยังจะเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยเพื่อจัดตั้ง “สายด่วนการป้องกันทางการทหาร” ระหว่างจีนกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) อีกด้วย”

“จีนมีความชัดเจนและมุ่งมั่นในประเด็นอำนาจอธิปไตย เช่นเดียวกับการรักษาความสงบสันติและเสถียรภาพของภูมิภาค” โดยหลี่เสริมว่าปักกิ่งพร้อมแก้ไขความแตกต่างระหว่างประเทศผ่านวิธีการเจรจาหารือ
นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จับมือทักทายนางอองซาน ซู จี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า (ภาพรอยเตอร์ส)
ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยจี้หนัน อาจารย์จัง หมิงเลี่ยง มองว่าสายด่วนฯ กำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาความตึงเครียดระหว่างจีนกับสมาชิกอาเซียนบางประเทศ โดยเฉพาะที่มีปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้กับจีน

“กลุ่มประเทศอาเซียนจำนวนมาก โดยเฉพาะเวียดนามและฟิลิปปินส์ ต่างกังวลว่าจีนจะใช้มาตรการทางการทหารมาแก้ไขข้อพิพาทหรือไม่” จังกล่าว “สายด่วนฯ นับเป็นย่างก้าวที่มาถ่วงดุลอิทธิพลทางการทหารของสหรัฐฯ ซึ่งบุกเบิกความร่วมมือกับประเทศสมาชิก เช่น ไทยและฟิลิปปินส์”

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ทว่ามีเพียงสิงคโปร์และอินโดนีเซียเท่านั้น ที่ร่วมปฏิบัติการซ้อมรบกับกองทัพปลดแอกประชาชน (PLA) ของจีน

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกราย อาจารย์เจียง ซีติ้ง จากมหาวิทยาลัยเซี่ยะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ระบุว่า สายด่วนฯ จะเป็นหนทางที่ช่วยชาติอาเซียนทำความเข้าใจยุทธศาสตร์การทหารของจีนในทะเลจีนใต้

“อย่างน้อยก็เป็นอีกช่องทางการสื่อสารทางการทหาร เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด อันลุกลามเป็นสงครามใหญ่ได้” เจียงกล่าว

นายกฯ จีนกล่าวอีกว่า จีนและอาเซียนกำลังหารือความเป็นไปได้ของข้อสรุปสนธิสัญญาการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพ และความร่วมมือ ซึ่งจีนเคยลงนามสัญญาลักษณะเดียวกันนี้กับรัสเซีย คาซัคสถาน และปากีสถานแล้ว

“สนธิสัญญามีเป้าหมายจัดการกรอบสถาบันและเครื่องรับประกันทางกฎหมาย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขจากรุ่นสู่รุ่น”

ขณะเดียวกันหลี่ก็เรียกร้องทุกภาคส่วนของอาเซียนร่วมเดินหน้าความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เนื่องด้วยปี 2558 เป็น “ปีแห่งความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีน-อาเซียน” ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงควรใช้โอกาสนี้เสริมสร้างการเจรจาระหว่างหน่วยงานด้านกฎหมายทางทะเล และให้ความสำคัญกับโครงการว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนความร่วมมือทางทะเลจีน-อาเซียน

กำลังโหลดความคิดเห็น