xs
xsm
sm
md
lg

จีน-เวียดนามให้คำมั่นแก้ปัญหาพิพาททางทะเลอย่างสันติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (หน้าขวา) ร่วมถ่ายภาพกับเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (หน้าซ้าย) พร้อมกับคณะเยาวชนชาวจีนและเวียดนามที่มหาศาลาประชาคมในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 7 เม.ย.-- Reuters/China Daily.</font></b>

รอยเตอร์ - จีน และเวียดนาม ได้ให้คำมั่นที่จะหาทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างสันติผ่านการเจรจา หลังการหารือระหว่างประธานาธิบดีจีน และเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานวานนี้ (8)

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางทะเลอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งทั้งสองประเทศเห็นชอบที่จะใช้กลไกการเจรจาชายแดนระหว่างรัฐบาลจีนและเวียดนาม สนับสนุนการปรึกษา และการเจรจาที่เป็นมิตรเพื่อหาทางแก้ไขขั้นพื้นฐานและยั่งยืนที่ทั้งสองประเทศต่างยอมรับ

คำแถลงยังระบุว่า จีน และเวียดนามควรมองหาวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่กระทบจุดยืนของแต่ละฝ่าย รวมทั้งพิจารณา และหารือการพัฒนาร่วมกัน และทั้งสองประเทศไม่ควรทำอะไรก็ตามที่เพิ่มความขัดแย้งให้ขยายวงกว้าง และซับซ้อนขึ้น เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงในทะเล

ทั้งสองประเทศต่างปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ และการค้าระหว่างกันก็ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่เวียดนามยังคงระแวงสงสัยเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกคืบอ้างสิทธิอธิปไตยเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้

ความรุนแรงต่อต้านจีนปะทุขึ้นในเวียดนามเมื่อปีก่อน หลังแท่นขุดเจาะน้ำมันมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ของจีนเข้าไปตั้งอยู่ในบริเวณน่านน้ำที่ห่างจากชายฝั่งเวียดนามราว 240 กิโลเมตร นับตั้งแต่นั้น จีนพยายามที่จะแก้ไขความสัมพันธ์กับเวียดนาม รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเยือนกรุงฮานอย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวต่อ นายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เมื่อวันอังคาร (7) ว่า สองประเทศต้องจัดการข้อพิพาทเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ด้วยดีเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคง

เวียดนาม เสริมความสัมพันธ์ทางทหารกับอดีตศัตรูอย่างสหรัฐฯ นับตั้งแต่เหตุข้อพิพาททะเลจีนใต้ปะทุขึ้น และเวียดนามยังมองหาแนวร่วมอย่างฟิลิปปินส์ ที่มีข้อพิพาทกับจีนเช่นเดียวกัน

จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้กว่า 90% ทั้งยังแสดงการครอบครองซึ่งปรากฏบนแผนที่ทางการ ด้วยเส้นประ 9 เส้นที่ทอดยาวลึกเข้าไปในพื้นที่ทางทะเลอันเป็นหัวใจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ต่างก็อ้างสิทธิเหนือพื้นที่บางส่วนของน่านน้ำแห่งนี้ที่อุดมด้วยทรัพยากร และเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าสำคัญของโลก.
กำลังโหลดความคิดเห็น