xs
xsm
sm
md
lg

ค้นหาวีรชนที่หล่นหายใน “นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพปก นามานุกรมสามก๊ก  ฉบับแฟนพันธุ์แท้  โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของวงการศึกษาเรื่องสามก๊กในประเทศไทย คู่มือช่วยการอ่านสามก๊ก ได้อย่างแตกลึกซึ้ง
ASTVผู้จัดการออนไลน์— ไม่กี่วันมานี้ มีหนังสือเกี่ยวกับสามก๊กที่นับเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของวงการศึกษาเรื่องสามก๊กในประเทศไทย ปรากฏสู่สาธารณชนแล้ว คือ นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งจะเป็นคู่มือสำหรับการอ่านวรรณกรรมสามก๊กได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และที่น่าสนใจยิ่งอีกคือ นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้นี้ จะพาผู้อ่านไปรู้จัก “วีรชนที่หล่นหาย” ที่มีบทบาทโดดเด่นไม่ด้อยไปกว่าวีรชนนามกระเดื่อง อย่าง ขงเบ้ง โจโฉ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย จูงล่ง ฯลฯ

นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ รวบรวมชื่อบุคคลในวรรณกรรมสามก๊กไว้ถึง 1,125 ชื่อ โดยครอบคลุมชื่อบุคคลในสามก๊กเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ราว 1,191 ชื่อ แต่ละรายชื่อให้ข้อมูลโดยสังเขป ความสั้นยาวตามความสำคัญของบุคคลนั้น

สำหรับนามานุกรมสามก๊กฯนี้ เป็นผลงานเล่มที่สามของชัชวนันท์ สันธิเดช โดยเล่มแรก คือ “อ่านสามก๊กอย่างแฟนพันธุ์แท้” และเล่มที่สอง “สามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ ตอนคิดเป็นเห็นต่าง”

สำนักพิมพ์ชวนอ่าน ผู้จัดพิมพ์ นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ นี้ เพิ่งเปิดตัวหนังสือฯผ่านการเสวนา “สามก๊ก จริงหรือเท็จ ตอนค้นหาวีรชนที่หล่นหาย” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากร ได้แก่ ทองแถม นาถจำนง นามปากกา "โชติช่วง นาดอน" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ผู้แปลบทพากย์ซีรีย์สามก๊กเวอร์ชั่นคลาสสิค และหนังสือเกี่ยวกับสามก๊กอีกหลายเล่ม, ชัชวนันท์ สันธิเดช ผู้เขียน นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สามก๊ก สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่ง ปี 2551

...สามก๊ก จริงหรือเท็จ

ชัชวนันท์ สันธิเดช: ผู้เขียน นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ เปิดการเสวนาด้วยการเล่าปูมความรู้เรื่องสามก๊ก

วรรณกรรมสามก๊ก ประพันธ์โดย หลอ กว้านจง เป็นวรรณกรรมยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-ค.ศ.1644) มีเค้าโครงเรื่องและข้อมูลจากจดหมายเหตุสามก๊กของเฉิน โซ่ว สำหรับจดหมายเหตุสามก๊กฉบับเฉินโซ่วนี้ เป็นบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุคสมัยสามก๊ก (ค.ศ.220-ค.ศ.280) ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอคติลำเอียง สร้างความชอบธรรมให้แก่วุยก๊ก(魏)เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1644-1863) ก็มีการชำระปรับปรุงวรรณกรรมสามก๊กฉบับหลอ กว้านจง โดยเหมา หลุนและเหมา จงกัง

นอกจากนี้จดหมายเหตุฯของเฉิน โซ่ว ยังมีการปรับเพิ่มข้อมูลในยุคสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยขุนนางชื่อ เผย ซงจือ จดหมายเหตุสามก๊กฉบับปรับปรุงใหม่นี้มีความยาวกว่าเดิม 3 เท่า แล้วเสร็จในค.ศ.429 แม้ถูกวิจารณ์ว่ามีเรื่องแต่งและจินตนาการไม่น้อย แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นฉบับสมบูรณ์

สำหรับกระแสถกเถียงวรรณกรรมสามก๊กฉบับหลอ กว้านจง เป็นเรื่องจริง เรื่องเท็จ แค่ไหนนั้น บางกระแสชี้ว่าเป็นเรื่องจริง 7 เรื่องแต่ง 3 บางกระแสว่า เรื่องจริง 3 เรื่องแต่ง 7

...แรงบันดาลใจในการทำ นามานุกรมสามก๊ก

ชัชวนันท์ สันธิเดช: เริ่มเขียนเมื่อปี 2554 ช่วงนั้นไปเฝ้าไข้คุณแม่ที่กำลังป่วยหนัก ได้เห็นคนตายทุกวัน ได้ยินเสียงร้องโหยหวนน่ากลัวมาก ทำให้ได้คิดว่าคนเราก็ต้องตายกันทุกคน เลยหันมามุ่งมั่นเขียนหนังสือ นอกจากนี้ หนังสือ สามก๊ก ฉบับตำราพิชัยสงคราม ซึ่งรวบรวมข้อมูลตัวละครเด่นๆ แปลและเรียบเรียงโดย สังข์ พัธโนทัยนั้น ก็เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนามานุกรมสามก๊ก เป็นการต่อยอดงานฯโดยการค้นคว้ารวบรวมตัวละครเกือบครบถ้วนทุกตัว

...“ดื่มน้ำ ไม่ลืมคุณคนขุดบ่อ”

ทองแถม นาถจำนง: กล่าวถึงเรื่องจริง-เท็จ ในวรรณกรรมสามก๊ก ว่าแม้ตำราเรียนพงศาวดารก็ไม่เปิดเผยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เรื่องจริงทั้งหมด เป็นเช่นนี้ทุกประเทศ ส่วนสามก๊กเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ สอนจริยธรรม เป็นเรื่องแต่ง ไม่ใช่จดหมายเหตุประวัติศาสตร์จริง

“สำหรับคำกล่าว “อ่านสามก๊ก สามจบ คบไม่ได้” นั้น ว่ากันว่าเป็นภาษิตจีน แต่ผมก็ค้นต้นตอในแหล่งข้อมูลภาษาจีนไม่พบ คำกล่าวนี้น่าจะมีที่มาจากความนิยมในสังคมจีนที่คาดหวังให้ผู้ชายอ่านหนังสือขงจื่อ เพื่อไปสอบจอหงวน ไม่มามัวแต่อ่านนิยาย”

ชาวไทยรู้จักสามก๊กจากงิ้ว ตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้แปลวรรณกรรมสามก๊ก โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปล

สำหรับการแปลสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นี้ มีการแก้ไขให้เข้ากับสังคมไทย ทั้งมีส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ ตัวอย่างเช่น ชื่อผู้ชายกลายเป็นชื่อผู้หญิง เช่น ชื่อ “เกียวก๊กโล” ในฉบับแปล ระบุ “นางไต้เกี้ยวและนางเสี้ยวเกี้ยวเป็นบุตรีนางเกียวก๊กโล” แต่สามก๊กฉบับภาษาจีนกล่าวว่า “นางไต้เกี้ยวและนางเสี้ยวเกี้ยวเป็นบุตรีของเฉียวกง (ผู้ชาย) ซึ่งได้รับยกย่องเป็น “กั๋วเหล่า” หมายถึงผู้อาวุโสของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีความสับสนเกี่ยวกับชื่ออยู่มากมาย ชื่อจีนสมัยก่อน คนหนึ่งๆ มีทั้งชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อตำแหน่ง ในฉบับแปลของเจ้าพระยาพระคลัง ส่วนใหญ่ใช้ชื่อรอง

อย่างไรก็ตาม สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็นับเป็นวรรณกรรมแปลคลาสสิคของไทยชิ้นเยี่ยม ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย มากว่า 200 ปี ถึงทุกวันนี้ ด้วยลีลาภาษาและอรรถรสที่ชาวไทยชื่นชอบ

“ดื่มน้ำ ไม่ลืมคุณคนขุดบ่อ” ก่อนหน้ายังมีหนังสือคู่มือหรือสารานุกรมขนาดย่อมที่ช่วยให้อ่านสามก๊กอย่างเข้าใจลึกซึ้ง คือ หนังสือ “พิชัยสงครามสามก๊ก” ของ สังข์ พัธโนทัย

สามก๊กฉบับแปลทุกฉบับล้วนมีจุดผิดพลาด และนามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ เล่มใหญ่ ที่รวบรวมชื่อบุคคลไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ก็ถือได้เป็นคู่มือ ตัวช่วยที่วิเศษยิ่ง ในการอ่านวรรณกรรมคลาสสิกชิ้นเอกของโลกเล่มนี้ ให้แตกลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

...วีรชนที่หล่นหาย

ชัชวนันท์ สันธิเดช: ตัวละครในสามก๊กมีมากมายกว่าพันตัวละคร แต่ในวรรณกรรมที่เราอ่านกันนั้น รู้จักอยู่ไม่กี่คน ตัวหลักได้แก่ เล่าปี่ โจโฉ ขงเบ้ง ซุนกวน กวนอู เป็นต้น แต่จริงๆแล้วยังมีตัวละครอีกหลายๆตัวละครที่ได้สร้างวีรกรรมคุณงามความดีในประวัติศาสตร์ แต่ในวรรณกรรมกลับไม่เขียนถึง บางคนมีผลงานโดดเด่นมาก แต่ผู้เขียนหลอ กว้านจง กลับนำไปเป็นผลงานของขงเบ้ง สุมาอี้ ยกตัวอย่าง เช่น หวดเจ้ง เป็นกุนซือของเล่าเจี้ยง เจ้าเมืองเสฉวน แต่ได้ไปเป็นกุนซือให้เล่าปี่ จนสามารถยึดเมืองเสฉวนได้ และยังเป็นผู้วางแผนจนเล่าปี่สามารถชนะศึกยึดฮันต๋งเมืองชายแดนติดกับเสฉวน แต่หลอ กว้านจง กลับยกให้เป็นผลงานของขงเบ้งหมด

อีกตอนคือ การบุกเหนือครั้งที่สี่ของขงเบ้ง ในวรรณกรรมบอกสุมาอี้เตือนเตียวคับอย่าติดตามทัพขงเบ้ง เพราะอาจโดนซ้อนกล ถูกซุ่มโจมตี แต่เตียวคับก็ตามไป และก็ถูกสังหารในที่สุด แต่ในประวัติศาสตร์จีน เตียวคับไม่อยากติดตามตีขงเบ้ง ทั้งได้บอกสุมาอี้ว่าอย่าไปเลย แต่เป็นสุมาอี้นั่นเองที่บอกให้เตียวคับตามไป เตียวคับต้องทำตามคำสั่งสุมาอี้ และสุดท้ายเตียวคับก็ถูกสังหารวายชนม์

จะเห็นได้ว่าคนอย่างหวดเจ้ง และเตียวคับ คือ วีรชนที่หล่นหาย จริงๆ ทั้งสองมีคุณูปการมาก แต่กลับกลายเป็นแพะรับบาป เพื่อที่จะส่งให้ตัวละครอย่างขงเบ้ง สุมาอี้ โดดเด่นขึ้นมา “ถ้าอ่านเฉพาะวรรณกรรมสามก๊ก ก็จะไม่ทราบเลย ผมได้ค้นคว้าศึกษาและเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เพื่อให้รู้ว่ามีวีรชนมากมายที่ต้องจ่ายราคา เพื่อยกตัวละครหลักตัวอื่นเด่นดังขึ้นมา”

สำหรับตัวละครที่ผมชอบ สมัยเด็กชอบ จิวยี่ มองจิวยี่เป็นฮีโร่ จากการอ่านประวัติศาสตร์จีน จิวยี่ไม่ใช่คนขี้อิจฉาเหมือนภาพลักษณ์ที่วรรณกรรมแต่งขึ้น อย่างที่ยาขอบประณามว่า “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” จริงๆจิวยี่เป็นสุภาพบุรุษและไม่เคยอิจฉาขงเบ้ง จิวยี่เป็นที่ปรึกษาของซุนกวน ต้องการให้ซุนกวนยึดแผ่นดินจีนทั้งประเทศด้วยซ้ำ และในวรรณกรรมเขียนว่า จิวยี่กระอักเลือดตายเพราะคั่งแค้นขงเบ้ง จริงๆแล้วเขาป่วยตายต่างหาก ดังนั้น จิวยี่ก็กลายเป็นวีรชนที่ด้านดีๆหล่นหายไป เหลือเพียงด้านไม่ดีในวรรณกรรม

ตอนเติบโตขึ้นมา ผมชอบโจโฉ จริงๆแล้วเขามีด้านดีอยู่มากมาย การบริหารบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นได้ในระดับนั้น เพราะความดีที่มีอยู่สูง แต่หลายคนมองว่าโจโฉ เป็นคนทรยศโหดร้าย เมื่อมาอ่านประวัติศาสตร์แล้ว มันไม่ถึงขนาดนั้น แต่ด้วยเหตุผลความจำเป็นที่ต้องทำไปแบบนั้น พอโตขึ้นผมคิดว่าโจโฉเป็นคนยิ่งใหญ่

ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้
ผู้เขียน : ชัชวนันท์ สันธิเดช
พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2557
สำนักพิมพ์ ชวนอ่าน
จำนวนหน้า 527 หน้า
ราคาปก 450 บาท
วิทยากรในการเสวนา “สามก๊ก จริงหรือเท็จ ตอนค้นหาวีรชนที่หล่นหาย” ทองแถม นาถจำนง  (ซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน ชัชวนันท์ สันธิเดช (ขวา) ผู้เขียน นามานุกรมสามก๊ก  ฉบับแฟนพันธุ์แท้  (ภาพ มุมจีน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์)
ภาพปก สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)  นับเป็นวรรณกรรมแปลคลาสสิคของไทยชิ้นเยี่ยม ได้รับความนิยม มากว่า 200 ปี ด้วยลีลาภาษาและอรรถรสที่สอดคล้องกับสังคมไทย
ภาพปก หนังสือ “พิชัยสงครามสามก๊ก ฉบับบูรณาการ” แปลและเรียบเรียงโดย สังข์ พัธโนทัย

กำลังโหลดความคิดเห็น