เอพี - นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงขณะนี้กำลังสั่นคลอนบทบาทการเป็นเมืองศูนย์กลางทางการเงินของดินแดนอดีตอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้
การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ในฮ่องกงเริ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลปักกิ่งประกาศว่า คณะกรรมการ ซึ่งควบคุมโดยผู้นำทางธุรกิจ ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่ง จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงในการเลือกตั้ง ซึ่งจะให้ชาวฮ่องกงหย่อนบัตรลงคะแนนในปี 2560
การประกาศดังกล่าวทำให้ชาวฮ่องกงรู้สึกว่า กำลังสูญเสียสถานภาพพิเศษ ที่ฮ่องกงมี ทั้งที่รัฐบาลจีนเคยสัญญาว่า จะให้อำนาจฮ่องกงอย่างมากในการปกครองตนเอง เมื่อครั้งที่อังกฤษส่งมอบคืนฮ่องกงให้แก่จีนเมื่อปี 2540
นอกจากประเด็นนี้แล้ว การชุมนุมยังมีสาเหตุจากความไม่พอใจของประชาชน ที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหลายประการ ที่กำลังหยั่งรากลึกในสังคม ซึ่งรวมทั้งช่องว่างของรายได้ระหว่างคนธรรมดาทั่วไปกับคนร่ำรวย โดยแกนนำของกลุ่ม “อ็อกคิวพาย เซ็นทรัล วิท เลิฟ แอนด์ พีซ” ( Occupy Central with Love and Peace) ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมและปักหลักยึดย่านธุรกิจการเงินในฮ่องกงระบุว่า หากปราศจากระบบการเลือกตั้ง ที่ยุติธรรม ความสงบสุขปรองดองในระยะยาวย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้
แม้ผลกระทบต่อธุรกิจการเงินและการค้า ซึ่งเป็นภาคธุรกิจสำคัญของฮ่องกงจนถึงขณะนี้ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด โดยผลกระทบ ที่เกิดขึ้นล่าสุดได้แก่ทางการจีนได้สั่งระงับนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่เดินทางมาฮ่องกงเมื่อวันพุธ ที่ 1 ต.ค. ซึ่งเท่ากับตัดแหล่งรายได้สำคัญแก่ธุรกิจท่องเที่ยวที่นี่
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่า ในระยะยาวแล้ว ความน่าดึงดูดใจของฮ่องกงในสายตาบริษัททั่วโลกอาจถูกกัดกร่อน ถ้าบริษัทเหล่านี้เริ่มมองว่า การประท้วงจะเกิดขึ้นถี่ขึ้นในดินแดนแห่งนี้
นายแอนดรูว์ คอลกูฮอน หัวหน้าฝ่ายการจัดอันดับในเอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทจัดอันดับฟิตช์ระบุในรายงานว่า นักลงทุนเกิดคำถามขึ้นว่า ฮ่องกงจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและเชิงโครงสร้างของรัฐบาล ที่ไม่ขัดกับการเห็นชอบของประชาชน
ทั้งนี้ ฮ่องกงเจริญเติบโตในฐานะเมืองท่าและการเป็นผู้ให้บริการ ในขณะที่จีนก้าวขึ้นเป็นชาติ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ในโลก อย่างไรก็ตาม ความเจริญรุ่งเรืองนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีระบบกฎหมายแบบตะวันตกและมีอิสระ รวมทั้งเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งสัญญาว่า จะรักษาเอาไว้ไปจนถึงปี 2590
ดินแดน ซึ่งประกอบด้วยประชากร 7 ล้านคนแห่งนี้ถูกใช้เป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจการค้าในตลาดโลกของบริษัทจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งหลายรายเป็นรัฐวิสาหกิจ ชื่อเสียง ที่แข็งแกร่งในด้านระบบกฎหมายและการกำหนดระเบียบข้อบังคับของฮ่องกงมีส่วนดึงเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดหุ้น
นายโทนี่ แนช รองประธานของบริษัทเดลต้าอิโคโนมิกส์ ชี้ว่า ธุรกิจในฮ่องกงอาจเสียหาย หากการตอบโต้ของรัฐบาลจีนต่อการชุมนุมประท้วงเป็นไปในลักษณะที่ทำลายหลักนิติธรรม ความโปร่งใส และเสรีภาพ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้คือปัจจัย ที่ทำฮ่องกงเป็นเมืองศูนย์กลางระดับโลกในทุกวันนี้