เอเอฟพี/เอพี - สืบเนื่องจากอาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (e-commerce) หรือการซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ของแดนมังกร เตรียมเปิดตัว (IPO) สู่สาธารณะชนทั่วโลกในวันพฤหัสบดี (18 ก.ย.) นี้ ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะแวดวงการลงทุนต่างสนใจเป็นพิเศษว่า “จระเข้แห่งลำน้ำแยงซี” ตัวนี้ จะสำแดงฤทธิ์พิษสงอย่างไรบ้าง
ก่อนหน้านี้ อาลีบาบาซึ่งมีฐานอยู่ในนครหังโจว มณฑลเจ้อเจียงทางจีนตะวันออก ไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางเท่าไรนัก จนกระทั่งการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดคราหนึ่งของผู้ก่อตั้งอย่าง “แจ็ค หม่า” ที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ได้พลิกสถานะจากที่เคยแต่โด่งดังอยู่ในบ้าน เขยิบชั้นเป็น “ม้ามืด” ตัวใหม่บนเวทีเศรษฐกิจโลก
ตลอดจนการบุกตลาดอี-คอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา ด้วยการเปิดเว็บไซต์ช้อปปิ้งชื่อ 11main.com ก็สร้างปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าจับตามองว่า ยักษ์ทรงพลังซึ่งใช้เวลาเพียง 15 ปี บุกเบิกและหยั่งรากแก้วใต้สนามธุรกิจออนไลน์ในประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกนี้ กำลังเตรียมประลองสนามแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมในไม่ช้า
การเปิดขายหุ้นให้กับมหาชน (IPO) ครั้งปฐมฤกษ์ ภายใต้ชื่อหุ้น “บาบา” (BABA) กว่า 368.1 ล้านหน่วย จะทำให้มูลค่าของบริษัทอาลีบาบาแตะหลัก 148,000-162,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.7-5.2 ล้านล้านบาท) ตามราคาขาย 66-68 ดอลลาร์/หุ้น ที่แจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC)
จากตัวเลขข้างต้น อาลีบาบาจะสร้างทำลายสถิติการทำไอพีโอของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ด้วยมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 25,030 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 800,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
“เมื่อ 15 ปีก่อน บรรดาผู้ก่อตั้งอาลีบาบาทั้ง 18 คน ตั้งใจจะสร้างบริษัทด้านอินเทอร์เน็ตในระดับนานาชาติ ที่ดูแลจัดการโดยคนจีน และวาดหวังให้มันกลายเป็น 1ใน 10 บริษัทอินเทอร์เน็ตชั้นนำของโลก” แจ็ค หม่า อดีตคุณครูสอนภาษาอังกฤษซึ่งผันตัวเองสู่นักธุรกิจพันล้าน กล่าวเมื่อเดือน พ.ค.
โดยสัปดาห์ก่อนหม่าและผู้บริหารระดับสูงคนอื่นๆ ได้ใช้เวลาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เพื่อชักชวนกลุ่มนักลงทุนศักยภาพสูงมาร่วมแผนการครั้งสำคัญนี้ โดยรายงานข่าวบางส่วนระบุว่า มีผู้สนใจร่วมหัวจมท้ายกับอาลีบาบาเป็นจำนวนมากเกินอัตราแล้ว
เดิมทีอาลีบาบาวางแผนการจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ด้วยเหตุว่าทิศทางบริษัทจะยังคงเดินไปบนผืนแผ่นดินจีน แต่สุดท้ายการหารือระหว่างบริษัทกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็พังพาบลงไปในปีก่อน เนื่องจากกฎระเบียบบางประการ สร้างความไม่สะดวกแก่หม่าและผู้บริหารร่วม ที่ยังต้องการควบคุมดูแลคณะกรรมการบริษัทต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้อาลีบาบาจะโยกย้ายมายังตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ก็ต้องยอมปรับเปลี่ยนและทำตามข้อกำหนด โดยเปิดเผยข้อมูลของหุ้นส่วนมากกว่า 20 คน ที่มีอำนาจสั่งการคณะกรรมการส่วนใหญ่ของบริษัท แก่เอสอีซี (SEC)
“มันไม่เหมือนกับโครงสร้างการถือหุ้นแบบมีสิทธิออกเสียงไม่เท่ากัน (dual-class) เพราะวิธีปฏิบัติของเราออกแบบมาให้รวบรวมทัศนะของหุ้นส่วนการจัดการกลุ่มใหญ่เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน” คำชี้แจงต่อเอสอีซี
ขณะที่ชื่อ “อาลีบาบา” หม่าเลือกมาจากอมตะนิทาน “อาหรับราตรี” (1,001 Nights) เพราะออกเสียงง่ายทั้งในภาษาจีนและภาษาอังกฤษ รวมถึงวลี “ความสำเร็จที่ได้มาอย่างง่ายดาย” (open-sesame) ซึ่งปรากฏบ่อยครั้งในงานวรรณกรรมและติดปากคนทั่วไป ก็สื่อว่าบริษัทสามารถ “เปิดทางเข้าออกให้กับธุรกิจขนาดเล็กสู่ทรัพย์สมบัติและความมั่งคั่งร่ำรวย”
ที่ผ่านมาอาลีบาบามักบอกว่าบริษัทเป็น “อีเบย์” (eBay) ฉบับจีน ที่มีระบบการชำระค่าสินค้าและบริการ หรืออาลีเพย์ (AliPay) เป็นของตัวเองเหมือนกับอี-คอมเมิร์ซสหรัฐฯ แต่ความแตกต่างคือ การกุมชัยชนะในจีนมานานเกินทศวรรษจนยักษ์ใหญ่อย่างอีเบย์และเจ้าอื่นๆ ต้องถอยทัพจากไปโดยปริยาย
“อีเบย์อาจเป็นฉลามในท้องมหาสมุทรกว้างใหญ่ แต่เราเป็นจระเข้ในแม่น้ำแยงซีที่ไหลเชี่ยวกราก หากต่อสู้กันในมหาสมุทร เราคงพ่ายแพ้ แต่ถ้าสู้กันในแม่น้ำ เราย่อมชนะขาดลอย” คำกล่าวของหม่าที่ได้รับการหยิบยกมาให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง
ส่วนคู่แข่งในประเทศก็มี เจดี ด็อท คอม (JD.com) ซึ่งจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) ในเดือน พ.ค. และก้าวหน้ารวดเร็วโดยมีกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ วั่นต๋า กรุ๊ป (Wanda Group) ของหวัง เจี้ยนหลิน บุคคลที่นิตยสารฟอร์บส (Forbes) จัดอันดับเป็นคนรวยที่สุดในจีนด้วยสินทรัพย์กว่า 16 พันล้านดอลลาร์ คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
จุดต่างอีกหนึ่งประการของอาลีบาบากับขาใหญ่อี-คอมเมิร์ซสหรัฐฯ อีกรายอย่างอเมซอน (Amazon) คือ อาลีบาบาไม่มีคลังสำรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยเลือกใช้วิธีการเชื่อมผู้ซื้อกับผู้ขายให้มาเจอกันโดยตรง หรือรูปแบบผู้บริโภค-ผู้บริโภค (Consumer to Consumer : C2C) แทน
ตัวอย่างคือ เว็บไซต์เถาเป่า (Taobao.com) ผลผลิตหลักของอาลีบาบา ที่ประเมินว่าครองสัดส่วนตลาดออนไลน์จีนมากกว่าร้อยละ 90 ด้วยสินค้าที่พอจะเรียกได้ว่า “ขายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ” กว่า 800 ล้านรายการ และจำนวนผู้ลงทะเบียนในเว็บฯ ราว 500 ล้านบัญชี จนเกิดศัพท์เรียกมวลชนบนเว็บฯ ว่า “หมู่บ้านเถาเป่า” (Taobao Villages)
นอกจากนั้นยังมีเว็บไซต์ทีมอลล์ (Tmall.com) ที่กินส่วนแบ่งตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้วยรูปแบบธุรกิจ-ผู้บริโภค (Business to Consumer : B2C) โดยทั้งสองเว็บฯ ต่างดึงประโยชน์ของสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ มาเป็นกลยุทธ์เด่นเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้ารุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“นักลงทุนต่างน้ำลายสอกับสิ่งที่อาลีบาบาป่าวร้องว่า มีบริษัทน้อยมากที่จะเติบใหญ่ วิ่งเร็ว และทำเงินกำไรได้มหาศาลอย่างที่เขาทำ” กิล ลูเรีย นักวิเคราะห์จากเวดบุช (Wedbush) ผู้ให้บริการด้านการเงินและการลงทุนในสหรัฐฯ กล่าว โดยกิลเสริมว่า อาลีบาบาตั้งเป้าราคาหุ้นต่อหน่วยไว้ที่ 80 ดอลลาร์ ในเวลา 12 เดือน
อนึ่ง การทำไอพีโอของอาลีบาบาคราวนี้ ยังเป็นการท้าทายตัวเองของแจ็ค หม่า โดยเขาตั้งเป้าโกยกำไร 800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 25,600 ล้านบาท จากการขายหุ้น ขณะเดียวกันหม่ายังคงผูกขาดถือหุ้นร้อยละ 7.8 ที่คิดเป็นมูลค่า 12,800 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4 แสนล้านบาทอยู่
ด้านรายได้รวมของบริษัท อาลีบาบาเผยว่า ไตรมาสล่าสุดที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. บริษัททำเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จากปีก่อน ไปอยู่ที่ 2,540 ล้านดอลลาร์ (ราว 81,280 ล้านบาท) ขณะที่กำไรสุทธิไต่ขึ้นไปที่ร้อยละ 60 หรือเกือบ 1,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 38,400 ล้านบาท) หลังตัดลบกำไรพิเศษ (one-time gain) และองค์ประกอบอื่นๆ ออกไป