เอเอฟพี - สืบเนื่องจากการเดินทางเยือนกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่เริ่มต้น ณ ประเทศมัลดีฟส์เป็นแห่งแรกในวันจันทร์ (15 ก.ย.) ที่ผ่านมา ผู้นำแดนมังกรก็ได้กล่าวขอแรงสนับสนุนในการสร้าง “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” ซึ่งจะเชื่อมการค้าระหว่างจีน อาเซียน ผ่านมหาสมุทรอินเดีย และไปจรดทวีปยุโรปปลายทาง
“มัลดีฟส์เป็นจุดแวะพักสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเลในยุคโบราณ” ส่วนหนึ่งบทความจากสีที่ ซัน ออนไลน์ (Sun Online) สื่อท้องถิ่นมัลดีฟส์ เผยแพร่ในวันอาทิตย์ (14 ก.ย.) ก่อนผู้นำจีนจะมาถึง โดยหมู่เกาะมัลดีฟส์นั้นมีชื่อเสียงโด่งดังในวงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก และยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสายหลักอีกด้วย
“จีนยินดีต้อนรับมัลดีฟส์สู่การร่วมมือกันสรรสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ ด้วยการดึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของตนเองออกมา”
อนึ่ง “เส้นทางสายไหมทางทะเล” นี้ ถูกพูดถึงครั้งแรกระหว่างสีเยือนอินโดนีเซียในปีก่อน ซึ่งเป็นความตั้งใจฟื้นชีพเส้นทางการค้า ที่วิ่งจากจีน ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย ก่อนสุดปลายทางที่ทวีปยุโรป
มัลดีฟส์กลายเป็นแหล่งลงทุนของนักธุรกิจจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ด้านรัฐบาลปักกิ่งก็พยายามหาโอกาสเปิดเส้นทางการค้า โดยการเยือนมัลดีฟส์เป็นแห่งแรกของผู้นำจีนมุ่งสนใจอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน อันแผ่กิ่งก้านเติบโตอย่างต่อเนื่องในเอเชียใต้ ซึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมสั่นไหวไปถึงมหาอำนาจเจ้าถิ่นอย่างอินเดีย
สำนักข่าวซินหวาของจีน รายงานว่า นายอับดุลลา ยามีน ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ แสดง “ความเห็นพ้องต้องกัน” กับข้อเสนอของสี โดยหลังจากผู้นำทั้งสองได้พบปะพูดคุย ณ นครหลวงเมลในวานนี้ สำนักงานของยามีนก็แถลงว่า มัลดีฟส์และจีนได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ 9 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเมืองหลวงกับสนามบินนานาชาติบนเกาะฮัลลูย์ (Hululle) ที่อยู่ห่างออกไปราว 1 กม.
ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดรัฐบาลมัลดีฟส์เผยกับเอเอฟพีว่า ทั้งสองฝ่ายเลี่ยงการหารือประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค เนื่องจากเจ้าถิ่นใหญ่อย่าง “อินเดีย” กำลังเพ่งเล็งการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านของตนด้วยความกังวล โดยไม่นานนี้ นายนาเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของอินเดีย ได้ประกาศแผนจัดลำดับความสัมพันธ์ในภูมิภาคครั้งใหม่ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างประหลาดใจ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏในรัฐบาลชุดก่อนๆ
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางต่อไปยังประเทศศรีลังกา จุดหมายแห่งที่สองของทัวร์เอเชียใต้ในวันอังคาร (16 ก.ย.) โดยจะมีการพูดคุยโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติและท่าเรือน้ำลึก มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จีนสนับสนุนทุนช่วยเหลือบางส่วน ก่อนจะปิดท้ายที่ประเทศอินเดียเป็นจุดหมายสุดท้ายของทริปกระชับสัมพันธ์นี้