เอเจนซี - ต้นไม้ประชาธิปไตยเกาะฮ่องกงส่อแววมีปัญหาหลังเกิดกระแสสวนทาง ชาวเมืองหลายหมื่นคนเดินขบวนต่อต้านคำขู่ปิดเมืองของ "อ็อกคิวพาย เซ็นทรัล" ที่ลั่นไว้ก่อนหน้านี้ ชี้พลังเงียบหลักล้านไม่เห็นด้วย
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน (18 ส.ค.) การเดินขบวนและชุมนุมบริเวณสวนสาธารณะวิคตอเรีย ปาร์ค เมื่อวันอาทิตย์ (17 ส.ค.) ของประชาชนฮ่องกงหลายหมื่นคน ที่ต้องการแสดงพลังคัดค้านกลุ่มอ็อกคิวพาย เซ็นทรัล (Occupy Central) ซึ่งขู่ว่าจะปลุกระดมผู้คนออกมาปิดล้อมย่านธุรกิจใจกลางเมือง หากรัฐบาลปักกิ่งไม่ยอมรับการปฏิรูปการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้านี้
ชาวฮ่องกงกว่า 193,000 คน ตามตัวเลขที่กลุ่มพันธมิตรเพื่อสันติและประชาธิปไตย (Alliance for Peace and Democracy) ผู้จัดการชุมนุมอ้างอิง รวมตัวกันเดินไปตามท้องถนนท่ามกลางอาการศร้อนจัด บ้างโบกสะบัดธงชาติจีน บ้างชูป้ายข้อความ “พรรคคอมมิวนิสต์จีนจงเจริญ” หรือ “ไม่เอาความรุนแรง” และบางส่วนก็สวมใส่เสื้อผ้าสีแดงเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองบนแผ่นดินใหญ่
“เราอยากให้โลกรู้ว่าเรารักความสงบและต้องการประชาธิปไตยเช่นกัน แต่โปรดอย่าคุกคามชีวิต อย่าพลิกแผ่นดินอันสุขสันติสู่การนองเลือด” โรเบิร์ต ชอว์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าว โดยเสริมว่า คนฮ่องกงกว่า 7 ล้านคน ที่นิ่งเงียบต่างไม่เห็นด้วยกับกลุ่มอ็อกคิวพาย เซ็นทรัล
อย่างไรก็ดี พอล ยิพ นักสถิติจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง คาดการณ์ตัวเลขผู้ชุมนุมที่ 57,000 คน ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นระบุยอดไว้ที่ 111,800 คน ณ จุดชุมนุมของสวนสาธารณะ
การประท้วงครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นราว 7 สัปดาห์ หลังจากกลุ่มอ็อกคิวพาย เซ็นทรัล จัดการชุมนุมใหญ่ในเดือนก่อนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนชี้แจงว่า ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเกาะจะได้รับการสรรหาและมีที่มาอย่างไร ซึ่งคณะประสานงานอ้างว่า มีประชาชนเข้าร่วมกว่าครึ่งล้าน ขณะที่หน่วยงานอิสระประเมินไว้ระหว่าง 122,000 คน กับ 172,000 คน
แต่การเคลื่อนไหวของอ็อกคิวพายฯ ที่ชูธงประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และข่มขู่ “ชัตดาว์น” ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเกาะ หากทางการจีนปฏิเสธสิทธิของสาธารณะชนที่จะเสนอชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในปี 2560 ก็ได้รับเสียงตำหนิติเตียนจากปักกิ่งและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย สร้างความแตกแยก และนำไปสู่ความรุนแรง
“ผมมาที่นี่เพื่อคัดค้านอ็อกคิวพาย เซ็นทรัล เหตุผลง่ายๆ คือมันเป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับคนรุ่นใหม่วัยเยาว์” ชายแซ่หวัง วัย 70 ปี กล่าว
“ฉันไม่รู้ว่าจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างไร เพราะเป็นเรื่องการเมืองระดับสูง” คนงานก่อสร้างวัย 40 ปี กล่าวขณะโบกธงชาติจีน “แต่ฉันรู้เพียงว่าถ้าไร้ความความสุขสงบ ก็จะไร้เงินทองไปด้วย”
ทว่าบางคนก็ดูเหมือนยังงงงวยว่าตนเองมาทำอะไร ดังเช่นหนุ่มเซินเจิ้น วัย 18 ปี ที่เพิ่งข้ามด่านชายแดนมายังเกาะฮ่องกงในเช้าวันอาทิตย์ กล่าวว่า “ไม่รู้ว่าทำไมต้องเข้าร่วมขบวนฯ” ที่มาก็เพราะเพื่อนเอ่ยปากชวนเท่านั้นเอง
นอกจากนั้นยังพบข้อครหาว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกกดดันให้มาเข้าร่วมโดยนายจ้างของพวกเขา ขณะที่บางส่วนก็ได้รับการแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งกระตุ้นอื่นๆ จากกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลจีนในฮ่องกง โดยสถานีโทรทัศน์เคเบิลท้องถิ่นแห่งหนึ่ง รายงานว่า ประชาชนบางกลุ่มที่เดินทางมาร่วมชุมนุมได้รับ “เงินค่ารถ” ราว 200 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 800 บาท
“วันนี้คุณได้เห็นแล้วว่าการเดินขบวนฯ ของวันอาทิตย์นั้นเป็นอย่างไร เราหวังว่าผู้คนจะไปเข้าร่วมเพราะพวกเขาตัดสินใจไปด้วยตนเอง” เฉิน เจี้ยนหมิน หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มอ็อกคิวพาย เซ็นทรัล กล่าว ด้านโรเบิร์ต ชอว์ ก็แย้งว่า “ถ้าประชาชนไม่อยากร่วมชุมนุม พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องมา”
ทั้งนี้ ฮ่องกงหวนคืนสู่การปกครองของจีนในฐานะ “เขตบริหารพิเศษ” ภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2540 โดยรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ให้สิทธิฮ่องกงปกครองตนเอง มีระบบกฎหมายและอิสระทางการเมือง สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ การค้า การเงิน ฯลฯ ได้อย่างเสรี
ด้านทางการจีนก็สัญญาจะเปิดทางให้มีการเลือกตั้งโดยตรงเพื่อสรรหาพ่อเมืองในปี 2560 แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องที่มาของผู้รับตำแหน่ง เนื่องจากกลุ่มผู้นำฝ่ายซ้ายในปักกิ่งอ้างว่า ตามรัฐธรรมนูญฮ่องกงระบุให้ตำแหน่งดังกล่าวต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1,200 ที่นั่ง แต่ตลอดมาคณะกรรมการฯ แทบทั้งหมดเป็นกลุ่มที่ภักดีต่อปักกิ่งอย่างเหนียวแน่น ทำให้บรรดานักรณรงค์ประชาธิปไตยต่างมองว่าเป็นการดำรงพวกพ้องและกีดกันฝ่ายตรงข้าม