xs
xsm
sm
md
lg

คนรักสัตว์เฮ! ผู้ผลิต “ดีหมี” รายใหญ่สุดในจีนหาวัตถุดิบทางเลือกอื่น เพื่อยุติการทารุณสัตว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดาหมีควายในฟาร์มเลี้ยงของบริษัทผลิตดีหมีแห่งหนึ่งในมณฑลฝูเจี้ยนทางภาคตะวันออกของจีน (ภาพ เอเอฟพี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เจ้าพ่อวงการ “ดีหมี” แดนมังกร เปรยกำลังคิดหาวัตถุดิบทางเลือกอื่นมาใช้แทนดีหมีธรรมชาติ ด้านกลุ่มคนรักสัตว์เฮลั่น “ข่าวดีที่รอมาเนิ่นนาน” จบฉากทรมานสัตว์น่าสงสารไร้ทางสู้

บริษัทยาและเวชภัณฑ์ ไข เป่า ในมหานครเซี่ยงไฮ้ ผู้ผลิตดีหมีธรรมชาติรายใหญ่สุดของจีน ประกาศ (31 ก.ค.) ความพยายามครั้งสำคัญ ที่จะคิดค้นวัตถุดิบทางเลือกมาทดแทนของเดิม ซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตที่นักรณรงค์เพื่อสิทธิสัตว์ต่างส่ายหน้าไม่เห็นชอบอย่างรุนแรง

ข้อมูลบนเว็บไซต์ข้อมูลหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ระบุว่า ไข เป่า จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางจำนวน 5.3 ล้านหยวน (ราว 26.5 ล้านบาท) และจากรัฐบาลท้องถิ่นอีก 6 ล้านหยวน (ราว 30 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการศึกษาวิจัยและทดลองวิธีการผลิตวัตถุดิบสังเคราะห์ทางเคมี นำมาใช้ทดแทนดีหมีธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี เงินช่วยเหลือก้อนโตดังกล่าวยังไม่รวมกับเงินทุนของไข เป่า เองอีก 12 ล้านหยวน หรือราว 60 ล้านบาท

ไข เป่า ตั้งเป้าพัฒนาวัตถุดิบฯ ที่มีคุณสมบัติเหมือนดีหมี โดยการใช้น้ำดีจากสัตว์ปีกและเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงยา (biotransformation) ซึ่งไข เป่า ถือครองลิขสิทธิ์ทางปัญญาอยู่

“โครงการจะส่งผลดีในการปกป้องและการใช้ทรัพยากรเพื่อการแพทย์จากสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เกิดวัตถุดิบฯ ที่มีคุณภาพมั่นคงและควบคุมได้ ต่อยอดถึงการพัฒนายารักษาโรคและผลิตภัณฑ์ผงดีหมีใหม่ๆ ในอนาคต” คำแถลงของไข เป่า บนเว็บไซต์ฯ

ทั้งนี้ “น้ำดีหมี” ถือเป็นส่วนประกอบปรุงยารักษาโรคตามตำราแพทย์แผนจีนสมัยโบราณ โดยจะสกัดออกมาจากรูที่เจาะตัดผนังช่องท้องและถุงน้ำดีของหมีควาย ทำให้ที่ผ่านมากลุ่มคนรักสัตว์พากันรุมประณามความโหดร้ายทารุณต่อสิ่งมีชีวิตทั้งที่ยังมีลมหายใจ

จิลล์ โรบินสัน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสัตว์แห่งเอเชีย (AAF) ที่ต่อสู้คัดค้านธุรกิจนี้มาโดยตลอด กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินเรื่องแบบนี้ การริเริ่มที่มาจากบริษัทขนาดใหญ่ ... นับเป็นข่าวดีที่เฝ้ารอมาเนิ่นนาน”

“การกระทำของบริษัทครั้งนี้จะช่วยปกป้องชีวิตสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์อย่างหมีควาย และยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขให้สูงขึ้น โดยดีหมีในเวอร์ชั่นสังเคราะห์ทางเคมีจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งหมี ผู้ค้า รวมถึงผู้ป่วยอีกด้วย” เธอกล่าว

มูลนิธิสัตว์แห่งเอเชีย (Animals Asia Foundation) ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกง มุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความโหดร้ายทารุณของกรรมวิธีผลิตดีหมี และพยายามชักจูงรัฐบาลกลางมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ทั้งยังได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนเสาะหาหนทางยุติการค้าดีหมีอีกด้วย

ขณะที่ประธานสมาคมผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรจีนในฮ่องกง นายควัน ชืออี มองว่า ตัวเลือกวัตถุดิบสังเคราะห์ทางเคมีจะมีผลดีทั้งอุตสาหกรรมยาจีนและตัวผู้ป่วยเช่นเดียวกัน โดยเสริมว่าปัจจุบันดีหมีถูกใช้น้อยลงแล้วแม้ว่ามันจะปรากฏในตำรับการปรุงยาจีนโบราณหลายขนานก็ตาม

ทว่านายควันก็ทิ้งท้ายข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเลือกใหม่นี้ไว้ “จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าวัตถุดิบสังเคราะห์ฯ จะมีประสิทธิภาพทัดเทียมดีหมีธรรมชาติได้จริงหรือไม่”
หมีควายพักอยู่ในกรงเหล็กรอการเจาะช่องท้องเพื่อดูดเอาน้ำดี (ภาพ เอเอฟพี)
คนงานใช้แก้วสูงรองรับน้ำดีหมีควาย (ภาพ เอเอฟพี)
(ภาพ เอเอฟพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น