ไชน่าเดลี่ - จีนยกเลิกข้อบังคับสำหรับการลงทุนของต่างชาติในเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (เซี่ยงไฮ้) กว่า 1 ใน 4 ของรายการต้องห้าม โดยกำลังมีการดำเนินการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทต่างชาติมากขึ้น
หลังจากรายการต้องห้าม (negative list) ของเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของจีน ถูกวิจารณ์ว่า มีข้อจำกัดเข้มงวดมากเกินไปในส่วนของการลงทุนจากต่างชาติ และปราศจากความโปร่งใสนั้น ในที่สุดเมื่อวันอังคาร ( 1 ก.ค.) คณะกรรมาธิการบริหารเขตการค้าเสรีแห่งนี้จึงได้ประกาศผ่อนคลายข้อบังคับบางส่วน เพื่อให้มีความโปร่งใส เปิดกว้าง และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศมากขึ้น อาทิ การลงทุนของต่างชาติได้มีการยกเลิกข้อบังคับ 9 ข้อในภาคการผลิต ยกเลิก 4 ข้อในภาคบริการการค้า และ 2 ข้อในภาคบริการขนส่งสินค้า
นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการยังได้ประกาศนโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรม 10 ประเภท เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจน้ำมัน การแปรรูปชาเขียว และการออกแบบเรือสำราญ นโยบายดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากสภารัฐมนตรีจีนเมื่อวันเสาร์ ( 28 มิ.ย.) และจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้
เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีอาณาเขตกว้าง 28 ตารางกิโลเมตร เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนก.ย. 2556 โดยรายการต้องห้ามขณะนี้มีข้อห้ามและข้อบังคับทั้งหมด 139 มาตรา
นายเฉิน ปั๋ว อาจารย์มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ระบุว่า การปฏิรูปบางอย่างในเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ โดยบริษัทต่างชาติ ซึ่งต้องการเข้ามาทำธุรกิจในเขตนี้ ส่วนใหญ่มีฐานด้านบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสถาบันการเงิน แต่กลับไม่มีการปฏิรูปการเปิดเสรีในด้านนี้เท่าที่ควร
นายซุ่น หลี่เจี้ยน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเงินของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นระบุว่า มาตรา ที่มีความคลุมเครือหลายข้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดนั้น ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และเขาคาดว่า ข้อบังคับต่าง ๆ จะถูกตัดทอนให้สั้นลงในปี 2558
ทั้งนี้ มีบริษัทต่างชาติรายใหม่เข้าจดทะเบียนในเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ 207 รายในเดือนมิ.ย. เพิ่ม 6 เท่าจากเมื่อเดือนต.ค. 2556 ซึ่งเปิดให้มีการจดทะเบียน และจนถึงขณะนี้มีบริษัทต่างชาติจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,240 ราย โดยคณะผู้บริหารมหานครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า การปรับปรุงแก้ไขรายการต้องห้ามดังกล่าวยังได้มีการปรึกษาหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรม บริษัทต่างชาติ และสถาบันวิจัยต่าง ๆ อีกด้วย