xs
xsm
sm
md
lg

ตะวันตกกลัวความอ่อนแอของจีนมากกว่าความแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ระหว่างพบปะกับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ จอห์น เคอร์รี่ ณ มหาศาลาประชาคมในกรุงปักกิ่งวันที่ 10 ก.ค. ระหว่างที่ผู้นำสหรัฐฯมาเจรจาหารือทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 (ภาพ เอเอฟพี)
เอเจนซี--ประธานาธิบดีบารัค โอมาบา ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ กล่าวต้อนรับการเรืองอำนาจอย่างสันติของจีน “แต่วิกฤตปัญหาในจีนก็จะสร้างปัญหาความมั่นคงแก่เรามากกว่า” อันดูราวจะบอกว่าสหรัฐฯไม่ได้กลัวความแข็งแกร่งของจีน แต่เป็นความอ่อนแอมากกว่า

เป็นกฎธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ล้วนมีสองด้านเสมอ สำหรับประเทศจีนที่ทะยานขึ้นมาเป็นดาวเด่นบนเวทีระหว่างประเทศ ในด้านหนึ่งคือความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจนครองแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ไปถึงการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตามกระแสคาดการณ์ทั่วไประบุจีนจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกใน 10 ปีข้างหน้า กระทั่งมีนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มชี้ว่าจีนอาจแซงหน้าสหรัฐฯภายในปีสองปีนี้ แต่อีกด้านหนึ่งคือปัญหาต่างๆนานาที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาฯ โดยปัญหาในด้านหนึ่งๆของจีนนั้น หากได้ระเบิดออกมาแล้วก็จะส่งผลกระทบแผ่กว้างสู่ประชาคมโลก เนื่องจากขนาดประชากรที่มากที่สุดในโลก ถึงกว่า 1,300 ล้านคน (ตามตัวเลขทางการ)

กว่า 30 ปี มานี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ช่วยยกระดับรายได้ต่อหัวประชากรจีน สูงกว่า 17 เท่า เทียบกับปี 2521 (1978 ) แต่ขณะนี้ผู้นำจีนก็กำลังเผชิญความขัดแย้งต่างๆนานาภายใน ที่อาจจุดชนวนระเบิดวุ่นวาย

จากทัศนะเชิงลบสุดขั้วของผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน นาย เคนเนธ ลีเบอร์ธัล ( Kenneth Lieberthal) แห่งสถาบันบรูคกิงส์ (Brookings Institution) กล่าวว่า “ขณะที่จีนพัฒนา วางพื้นฐานสู่สังคมสมัยใหม่ แต่การพัฒนาหลายๆด้านก็ริดรอนเสถียรภาพสังคม... และสหรัฐฯก็จะเป็นรายแรกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากจีนเป็นเจ้าหนี้รายเดียวที่ใหญ่ที่สุดของวอชิงตัน โดยถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน (US Treasury Securities) 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯเมื่อปีที่แล้ว สูงถึง 562,000 ล้านเหรียญ ขยายตัวขึ้นถึง 38 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว “วิกฤตวุ่นวายในจีนจะผลักดันคลื่นผู้อพยพมหาศาลหรือกระทั่งก่อความเสี่ยงในการควบคุมหัวรบนิวเคลียร์ของจีน ราว 250 ลูก”

แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นคล้อยตามทัศนะมองโลกในแง่ร้ายสุดโต่งดังกล่าว ส่วนใหญ่ยังมองว่าการเรืองอำนาจและความรุ่งโรจน์ของจีนนับวันยิ่งแก่กล้า และกำลังไปถึงขีดสุดดังในอดีตเมื่อ 200 ปีที่แล้ว
อาหมวยกำลังอ่านหนังสือบนระเบียงตึกท่ามกลางปล่องควันของโรงงานผลิตเหล็กในสภาพอากาศหมอกควันหนาในฉีว์โจว มณฑลเจ้อเจียง (แฟ้มภาพ 3 เม.ย.-รอยเตอร์ส)
“กระนั้นก็ตาม ความตระหนักถึงด้านอ่อนแอของจีน ก็มีส่วนในการกำหนดนโยบายสหรัฐฯ” นายEly Ratner อดีตเจ้าหน้าที่ด้านการเมืองประจำโต๊ะจีนของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เผย

“สหรัฐฯต้องสนับสนุนการเติบโตและเสถียรภาพของจีนแน่นอน ดังนั้นเราจะไม่พัวพันกับกิจกรรมใดๆที่จะบ่อทำลายเสถียรภาพการเมืองและเศรษฐกิจจีน ส่วนหนึ่งก็เพราะมันไม่ก่อผลประโยชน์ใดแก่เรา” Ratner แห่งศูนย์ความมั่นคงอเมริกันใหม่ (New American Security)

มิติสัมพันธภาพด้านความร่วมมือจีน-สหรัฐฯได้เผยออกมาในการเจรจาทวิภาคียุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ค. วอชิงตันได้ส่งรัฐมนตรีว่าการคลัง นาย จาค็อบ ลูว์ และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ นาย จอห์น เคอร์รี่ มาประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี วัง หยัง และหัวหน้าคณะมุขมนตรี หยัง เจี๋ยฉือ

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ปราศรัยในพิธีเปิดการเจรจาทวิภาคียุทธศาสตร์และเศรษฐกิจนี้ เรียกร้องให้สองมหาอำนาจเศรษฐกิจละวางการเผชิญหน้าแบบเก่า ที่รังแต่จะก่อหายนะ ด้านประธานาธิบดีโอบามาได้ส่งแถลงการณ์จากวอชิงตันมายังพิธีเปิดฯนี้ ว่า “สหรัฐฯและจีนมิได้เห็นพ้องกันในทุกประเด็น และนี่คือเหตุผลที่สองฝ่ายจะต้องสร้างสัมพันธภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รับผิดชอบอย่างเท่าเทียม และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน วาระการประชุมทั้งสองฝ่ายมุ่งไปที่ปัญหาโลกร้อน จากนั้นก็มีการลงนามโครงการขจัดโลกร้อน 8 โครงการ

การปรับความทันสมัยของจีนได้สร้างปัญหาที่จะต้องตามล้างตามเช็ค โดยแต่ละเดือนมีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ย้ายออกจากเรือกสวนไร่นาเข้ามายังเมืองต่างๆ ทิ้งทุกสิ่งอย่างที่พวกเขามองเป็นอนาคตที่ไม่แน่นอนไว้ในเขตชนบท
นับจากปี 2547 ประชากรเขตเมืองของจีน เพิ่มขึ้นมาอีก 200 ล้านคน เป็นตัวเลขที่เท่ากับประชากรบราซิล นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนการที่จะผลักดันประชาชนเข้ามายังเขตเมืองอีก ในปี 2573 หรืออีก 20 ปี จีนจะมีคนเมืองถึง 1,000 ล้านคน เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 731 ล้านคน ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติธนาคารโลก

นาย ลีเบอร์ธัล นักวิเคราะห์ชี้อีกว่าขณะที่คลื่นประชาชนจากชนบทย้ายเข้ามาในเขตเมืองได้ผลักดันรายได้สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็สะเทือนเสถียรภาพสังคมและสร้างความโดดเดี่ยว

นับจากปี 2532 (1989) ที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ผู้นำคอมมิวนิสต์ก็ได้รักษาเสถียรภาพสังคมด้วยสูตรผสมระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและอำนาจเบ็ดเสร็จ พื้นฐานระเบียบสังคมก่อขึ้นจากการต่อรองอย่างชัดเจน คือ พรรคฯยังคงรักษาอำนาจผูกขาด แลกกับการจัดมาตรการชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน
กลุ่มผู้ประท้วงนับพันต่อต้านแผนการสร้างเตาเผาขยะในอี๋ว์หัง เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง จนเกิดเหตุปะทะรุนแรงกับตำรวจในวันเสาร์(10 พ.ค.) ด้านรัฐบาลท้องถิ่นประกาศว่าจะยกเลิกแผนการสร้างเตาเผาขยะยักษ์หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ในภาพ: รถตำรวจถูกกลุ่มประท้วงทำลายยับ (ภาพ เอเอฟพี)
แต่ขณะนี้การต่อรองแบบนี้กำลังถูกกดดันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการพัฒนาอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่มุ่งแต่สร้างตัวเลขเท่านั้น ทั้งมลพิษอากาศ แม่น้ำเน่าเสีย พื้นดินเสื่อมสภาพ กลุ่มประชาชนไม่พอใจรัฐบาลที่ปล่อยให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทำลายสุขภาพและคุณภาพ การประท้วงด้านสิ่งแวดล้อมหลายกรณีที่บานปลายเป็นจลาจล กรณีล่าสุด เมื่อเดือนพ.ค.ก็เกิดเหตุรุนแรงระหว่างการประท้วงโครงการเตาเผาขยะในเขตอี๋ว์หัง เมืองหังโจวในมณฑลชายฝั่งตะวันออกเจ้อเจียง ประชาชนหลายพันคนออกมาร่วมประท้วงมีการเผารถตำรวจ มีคนได้รับบาดเจ็บนับสิบคน ตำรวจได้จับกุมผู้ประท้วง 60 คน จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชนจีนของพรรคคอมมิวนิสต์

ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังเปลี่ยนรูปแบบการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องผ่านช่วงการชะลอตัวไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนมากกว่ารักษาอัตราเติบโตที่ระดับเฉลี่ยกว่า 10 เปอร์เซนต์ดังในช่วงปี 2548-2554

การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน มีเป้าหมายให้พลังของตลาดเข้ามามีบทบาทในการกำหนดจัดสรรทรัพยากร ซึ่งจะทำให้กลุ่มสถาบันและบุคคลที่เสพผลประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ การไฟเขียวให้ราคาค่าแรง ทุน และพลังงาน สูงขึ้น จะสร้างปัญหาท้าทายกลุ่มผู้นำสูงสุดที่กำลังผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ นาย แบร์รี่ นูจตัน (Barry Naughton) ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก (University of California, San Diego)

นอกไปจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจมังกรยังต้องเลิกการพึ่งพิงสินเชื่อเข้าอัดฉีดเศรษฐกิจ นับจากวิกฤตการเงินปี 2551 มา จีนมีหนี้ก้อนโตคิดเป็นสัดส่วน 245 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จากรายงานสถิติของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำในจีนต่างตกอยู่ในอาการวิตกจริต สืบเนื่องจากประธานาธิบดี สิ จิ้นผิง กำลังขับเคี่ยวกวาดล้างคอรัปชั่นครั้งใหญ่ ไล่ล่าทั้ง “เสือใหญ่” (เจ้าหน้าที่ระดับสูง) และ “แมลงวัน”(เจ้าหน้าที่ระดับล่าง) รายงานข่าวการจับกุม ดำเนินการไต่สวน และขับออกจากสมาชิกภาพพรรคฯออกมาแทบไม่เว้นแต่ละวันตั้งแต่สีขึ้นมานั่งเก้าอี้นายใหญ่พรรคฯและประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2555 โดยเมื่อเร็วๆนี้ หลิว เที่ยหนัน อดีตรองผู้อำนวยการกระทรวงวางแผนเศรษฐกิจ ก็ได้ตกเป็นเหยื่อการกวาดล้างคอรัปชั่น ในข้อกล่าวหารับสินบนก้อนมหึมา

อีกด้านหนึ่ง พรรคฯกำลังเร่งสร้างความสมานฉันท์ระหว่างประชากร 1,300 ล้านคน ที่ร่วมกันฝ่าฟันยุคขาดแคลนจนมาถึงยุครุ่งโรจน์ ช่องว่างระหว่างรายได้ประชาชนยังคงถ่ายกว้างออกเรื่อยๆ

“อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นของโอบามา อาจสะท้อนความพยายามที่จะเพลาความหวาดระแวงของผู้นำจีนเกี่ยวกับนโยบายหวนคืนสู่แปซิฟิกของวอชิงตัน มากกว่าการแสดงความเป็นห่วงเป็นใยในเสถียรภาพจีน” แอนดริว นาธาน (Andrew Nathan) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก ว่าเช่นนั้น

ทั้งนี้ผู้นำจีนมอง “การปรับสมดุลใหม่” ของโอบามา เป็นการบ่งชี้ว่าเขาต้องการปรามมหาอำนาจคู่ปรับรายใหม่ ด้วยการเน้นย้ำความรุ่งโรจน์และเอกภาพของจีน เป็นผลประโยชน์ของอเมริกันเช่นกัน

ด้านผู้นำจีนเองนั้นต่างก็ตระหนักในจุดอ่อนที่เปราะบางของตน แม้ว่าหน่วยงานรัฐได้หยุดรายงานตัวเลขการประท้วงมาตั้งแต่ปี 2548 กระนั้น ความวุ่นวายในสาธารณะก็ปรากฏให้เห็นโทนโท่อยู่ทุกวัน อาจารย์มหาวิทยาลับชิงหวาในปักกิ่ง นาย ซุน ลี่ผิง ประมาณกรณีเหตุวุ่นวายในจีน ทั้งการประท้วง การหยุดงาน จลาจล และ เหตุ “วุ่นวายของฝูงชน” ในปี 2553 มีประมาณ 180,000 กรณี เพิ่มเป็นสองเท่าจากปี 2549

ด้วยเหตุนี้ คงไม่ผิดนักที่กลุ่มวิจัยในตะวันตกอย่าง นักวิจัยอาวุโส นาย Murray Scot Tanner แห่งสถาบันจีนศึกษาของ CNA Corp ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา จะกล่าวว่า “ผู้นำจีนกำลังสู้กับปัญหาท้าทายด้านระเบียบสังคมอย่างหนักหน่วง”


กำลังโหลดความคิดเห็น