เอเจนซี - ทางการจีนเผยการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสสอง ปี 2557 ก้าวไปอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ขณะที่อัตราการจ้างงานก็ยังไปได้สวย สะท้อนเศรษฐกิจแดนมังกรครึ่งปีแรกมั่นคงและมีเสถียรภาพ
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงาน (16 ก.ค.) ตัวเลขชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ไตรมาสที่สอง (เม.ย.-มิ.ย.) ปรับขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 7.5 จากเดิมไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดตรงกับช่วงเศรษฐกิจขาลงปลายปี 2555 อันเกิดจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกปี 2551
นับตั้งแต่จีนผลัดเปลี่ยนคณะผู้นำประเทศชุดใหม่ในปีก่อน โดยเฉพาะนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีดีกรีด็อกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้พยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตบนรากฐานของการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก แทนการอิงอาศัยการค้าและการลงทุนจากต่างชาติ
ทว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง ก็สร้างความวิตกกังวลถึงปัญหาการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งได้เข้าจัดการแก้ไขโดยใช้มาตรการกระตุ้นเบื้องต้น อาทิ การเพิ่มเม็ดเงินในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟและสาธารณูปโภคอื่นๆ ให้สูงขึ้น
“ข้อมูลตัวเลขจำนวนมากของเดือน มิ.ย. ดูดีกว่าที่เคยคาดการณ์” จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด เศรษฐกรจากสถาบันวิจัย แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ในกรุงลอนดอน กล่าว
อย่างไรก็ดี ความอู้ฟู่รุ่งเรืองในช่วงทศวรรษก่อนของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์สองของโลกอย่างจีน ส่อเค้าเลือนรางและส่งผลกระทบเป็นคลื่นน้ำแผ่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะการตัดลดความต้องการวัตถุดิบอุตสาหกรรม เช่น แร่โลหะ และทองแดง ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์มองว่า ผู้นำจีนอาจเต็มใจยอมรับการเติบโตแบบเชื่องช้า ตราบเท่าที่ยังมีการสร้างตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นเพียงพอจะป้องกันปัญหาวุ่นวายต่างๆ ในประเทศ โดยตัวเลขฯ ร้อยละ 7.4 ก็ยังอยู่ในหนทางสู่เป้าหมายของปีนี้ที่ตั้งไว้ร้อยละ 7.5
เซิ่ง ไหลอวิ้น โฆษกรัฐบาลจีน กล่าวว่า พบการจ้างงานเพิ่มขึ้นในเขตเมือง 7.4 ล้านอัตราตลอดครึ่งปีแรก โดยทัพแรงงานต่างถิ่นกว่าสามล้านคนอพยพเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่หลายแห่ง สะท้อนความต้องการแรงงานที่ดี
“ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านพ้นไป การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานยังมั่นคงและมีเสถียรภาพ” เซิ่งกล่าวในงานแถลงข่าว
นอกจากนั้น ในไตรมาสสองพบผู้บริโภคชาวจีนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นร้อยละ 12.1 และระดับการลงทุนในกลุ่มโรงงาน อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 อีกด้วย
ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนเผยว่า อีกหนึ่งสัญญาณที่ดีคือ การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในจีน เดือน มิ.ย. ปรับขึ้นร้อยละ 0.2 ฟื้นคืนจากภาวะถดถอยในเดือน พ.ค. และภาวการณ์กู้ยืมเงินธนาคาร เดือน มิ.ย. ก็โตเร็วกว่าที่คาด ทำให้เห็นถึงการขยับขยายตัวของกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศ
นายกฯ หลี่ เคยกล่าวสัญญาว่า เศรษฐกิจไตรมาสสองจะแสดงพัฒนาการดีขึ้น แต่ก็เตือนว่าจีนยังคงเผชิญกับ “ภาวะกดดันต่ำลง” อยู่เช่นกัน โดยตัวเลขการเติบโตของภาคการค้าในปีนี้อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ที่พรรคคอมมิวนิสต์คาดการณ์ไว้ เกิดการหวั่นเกรงภาวะเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่มีแรงงานอยู่ในระบบหลายล้านคน
เศรษฐกิจจีนยังผจญกับระเบิดลูกใหญ่จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดฮวบ เนื่องจากรัฐบาลเข้ากำหนดควบคุมเพื่อฉุดรั้งราคาบ้านที่อยู่อาศัยไม่ให้พุ่งสูงเกินไป และกระตุ้นนักพัฒนาทั้งหมายให้สร้างบ้านต้นทุนต่ำแทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงอุตสาหกรรมปลูกสร้าง เหล็ก และอื่นๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดการณ์ตัวเลขเติบโตจะชะลออยู่ที่ร้อยละ 7.3 ในปีหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 7 ในปี 2559 โดยนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเศรษฐกิจจีนอาจเฉื่อยชากว่านั้น ด้วยอัตราเติบโตที่ร้อยละ 6.8 ในปีนี้ ซึ่งก็ยังดีกว่าสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือยุโรป แต่เลวร้ายสุดในรอบสองทศวรรษของจีน
ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งเป้าปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างการแข่งขันและประสิทธิภาพในระบบ ดังเช่น การเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนหรือบริษัทต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น หรือการผ่อนคลายข้อบังคับ การจัดเก็บภาษีบางส่วน และสั่งการให้อุตสาหกรรมธนาคารของรัฐจัดหาสินเชื่อแก่นักลงทุนมากขึ้น ซึ่งได้สร้างงานและความร่ำรวยจำนวนมากในจีน