xs
xsm
sm
md
lg

ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้มนุษย์วานร พลิกต้นกำเนิดบรรพบุรุษแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องมือเครื่องใช้หินที่ค้นพบในเทือกเขาหมัวเตา มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัตถุในภาพที่ค้นพบบนเกาะฮ่องกง (ภาพ เอเจนซี)
เอเจนซี - จีนค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้สมัยยุคหินในกวางตุ้ง คาดเป็นของ “มนุษย์วานร” ที่ดำรงอยู่ก่อนมนุษย์ปักกิ่งโบราณ

เซาท์เทิร์น เมโทรโปลิส เดลี สื่อท้องถิ่นจีน รายงาน (10 ก.ค.) กลุ่มนักโบราณคดีขุดพบวัตถุเครื่องมือโบราณในมณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ทางภาคใต้ของประเทศ โดยสันนิษฐานว่าเจ้าของเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ อาจเป็น “มนุษย์วานร” ที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้ามนุษย์ปักกิ่ง (Peking Man) ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์จีน

อนึ่งจากข้อมูลของสารานุกรมบริตานิกา (Encyclopaedia Britannica) ระบุว่า ซากฟอสซิสของมนุษย์ปักกิ่ง ที่ค้นพบในเขตโจวโข่วเตี้ยน ใกล้นครหลวงปักกิ่ง มีอายุราว 770,000-230,000 ปี ได้รับการบันทึกให้เป็นหนึ่งในเชื้อสายต้นกำเนิดมนุษย์เมื่อปี 2470

ทีมนักโบราณคดีซึ่งทุ่มเทเวลากว่าสามเดือนศึกษาวิจัยอยู่ในเขตเทือกเขาหมัวเตา เมืองอวิ๋นฝู ในก่วงตง ได้ค้นพบวัตถุมากกว่า 350 ชิ้น ที่เชื่อว่ามีอายุย้อนกลับไปในช่วงต้นของยุคหิน (Stone Age)

“เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบวัตถุโบราณจำนวนมากขนาดนี้ในก่วงตง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับวัตถุของมนุษย์ปักกิ่ง และมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ใช้วัตถุเครื่องมือที่เพิ่งค้นพบนี้อาจมีอายุเก่าแก่กว่ามนุษย์ปักกิ่งอีกด้วย” เซี่ย เจิ้งไค ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวกับนักข่าว

ทั้งนี้ วัตถุทั้งหมดที่ค้นพบในเทือกเขาหมัวเตาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหิน ส่วนใหญ่เป็นขวานและพลั่ว โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า “มนุษย์วานร” คือผู้ประดิษฐ์ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาจากทั่วประเทศที่เดินทางมายังก่วงตงในวันพุธ (9 ก.ค.) เพื่อร่วมถกเถียงพูดคุย ยังไม่ตัดสินว่ามนุษย์วานรก่วงตงนั้นอาศัยอยู่ในช่วงเวลาใด แต่นักโบราณคดีจากมณฑลหูหนันรายหนึ่งเผยว่า “เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจมีชีวิตอยู่ราว 7-8 แสนปีก่อน”

ทว่า ณ ขณะนี้ นักโบราณคดียังไม่ค้นพบซากฟอสซิสของมนุษย์วานรตามที่ตั้งสมมติฐานขึ้นมา ซึ่งทำให้การชี้ชัดความแน่นอนของบรรพบุรุษมนุษย์ในก่วงตงมีความยากลำบากมากขึ้น อย่างเช่น พวกเขาเหล่านั้นมีรูปร่างหน้าตาเช่นไร เป็นต้น

“เป็นครั้งแรกของก่วงตงที่พบโบราณวัตถุของช่วงต้นยุคหิน โดยเครื่องมือเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นหินที่ช่วยอธิบายกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต” หวัง โย่วผิง หัวหน้าทีมขุดสำรวจในเทือกเขาหมัวเตา กล่าว “มนุษย์วานรที่อาศัยอยู่ที่นั่นอาจเป็นบรรพบุรุษของชาวก่วงตงในวันนี้ก็ได้”

กำลังโหลดความคิดเห็น