โดย...กิตติศักดิ์ อ้อมชาติ
มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีชื่อเสียงด้านการพัฒนา บุคลากร ที่ประสบผลสำเร็จสูง ซึ่งเหมาะสมอย่างมากต่อการส่งบุคลากรจากประเทศไทยไปฝึกฝน และแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งด้านภาษา พัฒนาการเรียนการสอนและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเป็นต้นแบบที่สามารถนำมาขยายผลในประเทศไทยต่อไปได้
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ เดินทางมาเยือนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยมี Mr.Zhu Shanluอธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาไทย โดยเฉพาะจะให้เกิดการแลกเปลี่ยนการศึกษาและบุคลากรร่วมกัน
“ประเทศไทยถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมายาวนาน บุคลากรด้านการศึกษาก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นมิตรมาโดยตลอด โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จฯ เยี่ยมมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งยังเคยเป็นศิษย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งด้วย ทรงพระกรุณาสนับสนุนความสัมพันธ์ต่อกัน นอกเหนือไปจากด้านอักษรศาสตร์ จะมีการขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคยกล่าวถึงปัญหานักเรียนไทยมาเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยความยากลำบาก ซึ่งมหาวิทยาลัยก็กำลังศึกษาที่จะแก้ปัญหานี้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของการดำเนินการสถาบันไทยศึกษา ทางมหาวิทยาลัยปักกิ่งหวังว่าไทย พร้อมที่จะให้การส่งเสริมสนับสนุนมากขึ้น”
Mr.Zhu กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ความสำคัญด้านการศึกษา ทั้งภูมิภาคเอเชียเฉียงใต้ และระดับโลก ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษา ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยปักกิ่งกำลังจัดทำโครงการห้องเรียนเยี่ยมจริง โดยให้ทุนเด็กเก่งจากทั่วโลกปีละ 100-200 ทุน เป็นเวลา 1 ปี มาศึกษาระดับปริญญาโท
Mr.Zhu กล่าวว่า ขอให้ชาวไทยไว้วางใจ เพราะมหาวิทยาลัยพยายามดูแลนักศึกษาไทยอย่างเต็มที่ และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยจะหาเวลาที่เหมาะสมไปเยี่ยม รมว.ศธ. และไทย รวมทั้งเยี่ยมนักศึกษาชาวจีนที่ไปศึกษาต่อในไทยด้วย
ด้าน นายจาตุรนต์ เล่าที่มาที่ไปของการเดินทางมาครั้งนี้ให้ฟังว่า สองประเทศให้ความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาอาจารย์ การวิจัยให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ในอนาคตเชื่อมั่นว่านักเรียนไทยจะเลือกเรียนที่ปักกิ่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแห่งนี้มากขึ้น เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ด้านการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่งมีการปรับเปลี่ยนจากห้องเรียนขนาดใหญ่ มาเป็นห้องเรียนที่มีขนาดเล็กลง และมีระบบการสอนทางไกลมากขึ้น ในขณะที่การพัฒนาอาจารย์ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ ศธ. ไทยให้ความสนใจ
ขณะเดียวกัน ประเด็นการพัฒนาสถาบันไทยศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ยินดีให้การส่งเสริมสนับสนุน ยกตัวอย่างความสำเร็จการสอนภาษาไทยในประเทศจีน เพราะในประเทศจีนมีระบบการสอนภาษาไทยได้ดีมาก จึงต้องการส่งคนมาดูวิธีการสอนภาษาไทย ว่าการสอนภาษาต่างประเทศให้ได้ผล จะทำอย่างไรให้ได้ 100% เพราะไทยสอนภาษาจีนแก่ผู้เรียน 8 แสนคน แต่กลับได้ผลน้อยมาก นอกจากนี้ ไทยกำลังพัฒนาการสอบภาษาไทยสำหรับคนต่างประเทศ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังว่ามหาวิทยาลัยปักกิ่งจะให้ความสนใจและแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องนี้ร่วมกันต่อไป
แน่นอนการพัฒนาบุคลากรด้วยการส่งไปศึกษาเรียนรู้กับเจ้าของภาษา นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถนำมาขยายผลส่งต่อความรู้ประสบการณ์แก่คนไทยได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้การนำแบบอย่างที่ดีที่ประสบผลสำเร็จมาพัฒนาต่อยอดเพื่อยกระดับการศึกษาไทย เชื่อว่าในอนาคตคุณภาพทางการศึกษาไทยจะค่อยๆ ดีขึ้น