xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ “มหาวิทยาลัยในจีน” มีคุณภาพการศึกษาสูงสุดในกลุ่ม BRICS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – มหาวิทยาลัยของจีนมีคุณภาพทางการศึกษาแซงหน้าชาติสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม BRICS แม้รัฐบาลจีนจะจำกัดเสรีภาพในด้านวิชาการก็ตาม ผลวิจัยซึ่งเผยแพร่วันนี้(18) ระบุ

สถาบันจัดอันดับคิวเอสในกรุงลอนดอนได้สำรวจข้อมูลเพื่อวัดระดับคุณภาพทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 5 ชาติที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, แอฟริกาใต้ และจีน ซึ่งก็พบว่า สถาบันอุดมศึกษาแดนมังกรทำคะแนนได้สูงสุด 6 ใน 10 ประเด็น

มหาวิทยาลัยชิงหัว และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ถูกจัดเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพอันดับ 1 และ 2 ในกลุ่ม BRICS นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังสรุปว่าจีนมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายในการสร้าง “มหาวิทยาลัยระดับโลก” มากที่สุดในบรรดา 5 ชาติ

บราซิลมีมหาวิทยาลัยเพียง 2 แห่งที่ติด 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในกลุ่ม BRICS ส่วนรัสเซียและแอฟริกาใต้ติดโผเพียงประเทศละ 1 มหาวิทยาลัยเท่านั้น

หลายสิบปีมานี้ รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นสูง โดยตั้งเป้าที่จะสร้างมหาวิทยาลัยซึ่งมีคุณภาพทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก

ผลสำรวจของคิวเอส ระบุว่า งบประมาณสนับสนุนมหาวิทยาลัยของจีนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในช่วง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 1996 และปัจจุบันถือเป็นระบบการศึกษาขั้นสูงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ผลงานวิจัยที่โดดเด่นของนักวิชาการจีนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาขั้นสูงของแดนมังกรถูกจัดว่ามีคุณภาพสูงสุดในกลุ่ม BRICS

“คำถามสำคัญต่อไปก็คือ งานวิจัยที่จีนผลิตออกมามากมายเหล่านี้จะถูกนำไปอ้างอิงทั่วโลกหรือไม่ ผลการศึกษาของเราบ่งชี้ว่า เป้าหมายนี้อาจไม่ยากเกินไปสำหรับมหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ของจีน แต่คงไม่ง่ายนักที่จะทำให้สถาบันการศึกษาโดยรวมประสบความสำเร็จทัดเทียมกันหมด”

ทั้งนี้ หากพิจารณาการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก มหาวิทยาลัยชิงหัวของจีนยังอยู่ในลำดับที่ 48 และ “กลุ่มประเทศ BRICS ยังห่างชั้นที่จะแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐฯ สิงคโปร์ และฮ่องกง” คิวเอส ระบุ

ผลการจัดอันดับ 200 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในกลุ่ม BRICS พบว่ามหาวิทยาลัยของจีนติดอันดับถึง 71 แห่ง รองลงมาคือรัสเซีย 53 แห่ง

คิวเอส ประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยโดยพิจารณาปัจจัยทั้งหมด 8 ข้อ เน้นหนักเรื่องชื่อเสียงด้านวิชาการมากที่สุด 30% ชื่อเสียงของนายจ้าง และสัดส่วนคณะต่อจำนวนนักศึกษาอย่างละ 20% รองลงมาคือจำนวนพนักงานที่มีวุฒิปริญญาเอกและปริมาณงานวิจัยต่อคณะ อย่างละ 10%

กำลังโหลดความคิดเห็น