xs
xsm
sm
md
lg

จีนเผยผู้บริหารใหญ่บริษัทยาข้ามชาติชื่อดัง ติดสินบนหมอ-รพ.ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แกล็กโซสมิธไคลน์ หรือจีเอสเค (GlaxoSmithKline : GSK) บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ (ภาพ เอพี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ทางการจีนเผย “แกล็กโซสมิธไคลน์” ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของแดนผู้ดี ติดสินบนหมอ โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศจนกลายเป็นเครือข่ายทุจริตขนาดมหึมา ด้านผู้บริหารต่างชาติไม่รอด รอศาลฯ จีนพิจารณาคดีความ อาจนอนซังเตยาวหลายปี

รายงานข่าว (15 พ.ค.) อ้างคำแถลงของกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์จีน ระบุวานนี้ว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนกลุ่มผู้บริหารบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ หรือจีเอสเค (GlaxoSmithKline : GSK) เป็นเวลากว่า 10 เดือน พบนายมาร์ค เรลลี่ (Mark Reilly) หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงชาวอังกฤษ ติดสินบนแพทย์ โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปใช้ในการรักษา และยังพบการยัดเงินแก่เจ้าหน้าที่ระหว่างการสอบสวน เพื่อปกปิดความผิดดังกล่าว

คำแถลงเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2555 นายมาร์ค เรลลี่ อดีตหัวหน้าจีเอสเคในจีน นายจัง กั๋วเหว่ย รองประธานฯ และนายเจ้า หงเหยียน ผู้ดูแลฝ่ายกฎหมาย ได้ตั้งทีมพิเศษแจกจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลจีนในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และที่อื่นๆ เพื่อปิดบังการติดสินบนอีกต่อหนึ่งด้วย

“จากการสนับสนุนจากผู้บริหารจีเอสเคคนอื่นๆ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2552 เป็นต้นมา เรลลี่ตั้งทีมขายเฉพาะกิจ ซึ่งทำเงินกำไรอย่างผิดกฎหมาย มูลค่าหลายพันล้านหยวน ด้วยการติดสินบนแพทย์ โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ”

นอกจากนั้น ปี 2553 แกล็กโซสมิธไคลน์ ไชน่า อินเวสต์เมนท์ หรือจีเอสเคซีไอ (GSKCI) บริษัทสาขาในจีน ได้จ่ายเงินหลายสิบล้านหยวนแก่โรงพยาบาลหลายแห่งให้ใช้ยารักษาโรคตับของจีเอสเคแทนยาที่จีนผลิตเอง และใช้เงินกว่า 13 ล้านหยวน ซื้อของขวัญ อาทิ รถยนต์ โทรทัศน์ และกล้องบันทึกวีดีโอ เป็นของสินบนแก่ลูกค้าที่มาจากหน่วยงานสาธารณสุขจีนอีกด้วย

ทางด้านโฆษกของจีเอสเค เผยว่า “เราได้เข้าพบเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยล่าสุดกระทรวงฯ ส่งเรื่องไปให้อัยการศาลประชาชนเมืองฉังซาของมณฑลหูหนัน ทบทวนเนื้อความแล้ว”

อย่างไรก็ดี หากศาลฯ พิจารณาว่านายมาร์ค เรลลี่ กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง เขาอาจต้องเผชิญโทษจำคุกหลายปี

หวัง ปิง นักกฎหมายในปักกิ่งที่ทำงานกับบริษัท Faegre Baker Daniels ที่ปรึกษาทางกฎหมายของสหรัฐฯ กล่าวว่า “ปกติบริษัทอังกฤษเข้มงวดกับการทำผิดศีลธรรมจรรยาและการติดสินบนอย่างมาก ... จึงยากจะเข้าใจว่าผู้บริหารชาวอังกฤษคนนี้กล้าทำเช่นนี้ได้อย่างไร”

Keith Williamson จากบริษัท อัลวาเรซ แอนด์ มาร์ซัล (Alvarez & Marsal) ที่ปรึกษาด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มองว่าการสอบสวนและการฟ้องร้องนักธุรกิจต่างชาติของทางการจีน เป็นสัญญาณเตือนบรรดานักธุรกิจประเทศอื่นๆ ในจีน

“ข่าวนี้บอกให้รู้ว่าจีนจริงจังกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่าเดิม” เบรนท์ คาร์ลสัน ผู้อำนวยการบริษัท AlixPartners ที่ปรึกษาทางธุรกิจระหว่างประเทศในฮ่องกง กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น