xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์จีนพบ “แอนติบอดี” ตัวแปรสำคัญต่อกรเพชฌฆาต ‘ไวรัสเมอร์ส’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “เชื้อไวรัสเมอร์สอาจแพร่มาจากค้างคาวสู่คนโดยผ่านอูฐ ดังเช่นที่ซาร์สกระจายสู่มนุษย์โดยผ่านตัวชะมด” (ภาพ รอยเตอร์ส)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิทยาศาสตร์จีนและฮ่องกงพบ “แอนติบอดี” ในร่างกายมนุษย์ อาจช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสเมอร์ส (Mers) ซึ่งกำลังแพร่ระบาดและทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

รายงานข่าว (30 เม.ย.) อ้างผลการวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์จีนและฮ่องกง ระบุการค้นพบ “แอนติบอดี” (Antibody) โปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งคอยตรวจจับและทำลายเชื้อโรคแปลกปลอม จำนวน 2 ชนิด สามารถยึดตรึงเชื้อไวรัสเมอร์สและกีดกันไม่ให้เข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน (host cell) ตลอดจนตัดตอนกระบวนการติดเชื้อทั้งหมดลงได้

การวิจัยซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิงหวาแห่งกรุงปักกิ่ง ใช้ประสบการณ์จากกรณีไวรัสซาร์ (Sars) ที่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2546 และไข้หวัดหมู (Swine flu) หรือไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก ปี 2552 มาวิเคราะห์เชื้อไวรัสตัวใหม่

พวกเขาใช้แอนติบอดีที่ได้จาก “ห้องสมุดแอนติบอดีส์ของมนุษย์” (library of human antibodies) ในสหรัฐฯ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากมนุษย์ 58 ราย โดยนำแอนติบอดีปะปนกับเชื้อไวรัส ปรากฏว่ามีตัวอย่างแอนติบอดี 2 ราย ที่เกาะแน่นกับพื้นผิวของเมอร์ส

หยวน กั๋วหย่ง ศาสตราจารย์ด้านโรคติดต่อจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า ผลลัพธ์ได้ให้ความหวังในยามที่ไวรัสกระจายตัวอย่างรวดเร็ว และมีเหยื่อเพิ่มขึ้นไม่หยุดตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมอร์สเป็นไวรัสในกลุ่ม “โคโรนาไวรัส” (coronavirus) ลูกพี่ลูกน้องกับไวรัสซาร์ส ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน และมีประชาชนติดเชื้อแล้วกว่า 300 ราย โดยราว 75 เปอร์เซ็นต์ รับเชื้อจากการส่งผ่านระหว่าง “คนสู่คน” ขณะที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่รอดชีวิต

บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “เมอร์สอาจแพร่มาจากค้างคาวสู่คนโดยผ่านอูฐ ดังเช่นที่ซาร์สกระจายสู่มนุษย์โดยผ่านตัวชะมด”

“หากข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นจริง มีความเป็นไปได้ว่าไวรัสเมอร์สจะเกิดการกลายพันธุ์ และวันหนึ่งมันจะระบาดไปทั่วดังเช่นกรณีไวรัสซาร์ส” หยวนกล่าว “ดังนั้นเราจึงต้องหาทางป้องกันก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริงๆ”

อนึ่ง ซาร์สเป็นไวรัสที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 8,000 ราย ด้วยระยะเวลา 9 เดือน ระหว่างปี 2545-2546 โดย 1 ใน 5 ของผู้ป่วย และ 299 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 774 ราย อยู่ในฮ่องกง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่พบรายงานการติดเชื้อไวรัสเมอร์สบนเกาะฮ่องกง ทว่าแพทย์ท้องถิ่นก็ได้สั่งเฝ้าสังเกตอาการนักท่องเที่ยวจีนที่มีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สอย่างเข้มงวด

กำลังโหลดความคิดเห็น