เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิทยาศาสตร์แดนมังกรมีความมั่นใจมากขึ้นว่า จะสามารถคิดค้นเสื้อคลุมล่องหนตัวแรกในโลกได้สำเร็จ โดยใช้เทคโนโลยี่ในการอำพรางวัตถุให้พ้นจากการมองเห็น และทำให้มัน “หายตัวไป”
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งได้ทุ่มเงินให้กับนักวิจัยอย่างน้อย ๆ 40 คณะ เพื่อคิดค้นสร้างเสื้อคลุมล่องหนอย่างที่ปรากฏในนิยายวิทยาศาสตร์ และนิยายแฟนตาซีโด่งดัง เช่น แฮร์รี่ พ็อตเตอร์
นักวิทยาศาสตร์ในโครงการวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่า เทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์อย่างชัดเจนในด้านการทหาร เช่น การพัฒนาเครื่องบินสเตลท์ หรือเครื่องบินล่องหน แต่รัฐบาลจีนก็ยังเชื่อว่า การวิจัยอาจนำไปสู่การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย
หลักการสำคัญในการสร้างเสื้อคลุมล่องหนได้แก่การพัฒนาวัสดุ ที่จะสามารถหักเหแสงไปจากวัตถุได้ โดยการสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อหักเหแสงไปจากสิ่งที่เราพยายามจะซ่อน
เมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา คณะนักวิจัย ที่นำโดยศาสตราจารย์ เฉิน หงเซิ่ง แห่งมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ได้เผยแพร่วิดีโอ ซึ่งแสดงให้เห็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง ที่สามารถทำให้ปลาหายตัวได้ และเป็นเทคโนโลยีอย่างเดียวกับ ที่สามารถทำให้แมวหายตัวได้เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวทำขึ้นจากแผ่นลักษณะคล้ายกับแผ่นกระจก วางเรียงเป็นรูปหกเหลี่ยม ซึ่งจะพรางไม่ให้มองเห็นวัตถุด้วยการหักเหแสงรอบ ๆ วัตถุนั้น
มีการค้นคว้าวิจัยโครงการเสื้อคลุมล่องหนในอีกหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำบนแดนมังกร เช่น มหาวิทยาลัยชิงหวา สถาบันวิทยาศาสตร์จีน สถาบันเทคโนโลยีแห่งปักกิ่ง มหาวิทยาลัยซีอัน เจียวทง สถาบันเทคโนโลยีแห่งฮาร์บิน มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์อิเล็กทรอนิกและเทคโนโลยีแห่งจีน
ยกตัวอย่าง คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยการบินและอวกาศแห่งหนันจิง ได้รับงบประมาณจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติของจีน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และวัสดุ "การล่องหนอย่างสมบูรณ์” สำหรับนำไปใช้กับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ที่คล้ายคลึงกับเครื่องบินสแครมเจ็ต X-43 A ขององค์การนาซ่าสหรัฐฯ
เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงนี้อาจใช้สำหรับการยิงหัวรบนิวเคลียร์ ได้ทั่วโลกด้วยความเร็วกว่าความเร็วของเสียงอย่างน้อย ๆ ถึง 5 เท่า
“เราเป็นมนุษย์ล่องหน ที่กำลังศึกษาเทคโนโลยีล่องหนกันอยู่” นักวิจัยคนหนึ่งในโครงการกล่าว
ศาสตราจารย์หม่า อวิ๋นกุ้ย ผู้เชี่ยวชาญด้านoptical engineering ของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงกล่าวว่า ทีมของเขาจะประกาศผลงานการค้นพบล่าสุดในเร็ว ๆ นี้ เป็นอุปกรณ์ ที่ช่วยให้วัตถุรอดพ้นจากการถูกตรวจจับด้วยเซ็นเซอร์ความร้อน หรือเครื่องตรวจจับโลหะ
อุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่เท่ากล่องไม้ขีด แต่อาจขยายขนาดได้ เพื่อให้อาวุธผ่านด่านตรวจไปได้ นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยให้การเคลื่อนกองกำลังทหาร หรือการเคลื่อนไหวของจารชนในตอนกลางคืนรอดพ้นจากการตรวจจับของกล้องอินฟราเรดอีกด้วย
ศาสตราจารย์หม่ากล่าวว่า เสื้อคลุมล่องหน ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงนั้นอาจเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลอีกหลายทศวรรษ เนื่องจากต้องใช้วัตถุชนิดดีเยี่ยม ที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถทำขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งยังคงทุ่มงบประมาณสำหรับการวิจัยนี้ เพราะความรู้ในทางทฤษฎีที่ได้นั้นก็อาจสามารถสร้างผลพลอยได้อื่น ๆ ที่มีศักยภาพตามมาอีกมากมาย
เขาระบุว่า จีนไล่ตามทันผู้นำในงานวิจัยด้านนี้ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป
“ผมคิดว่า เรามีโอกาสราว ๆ ร้อยละ 40 ที่จะเป็นผู้สร้างเสื้อคลุมล่องหนได้เป็นตัวแรกในโลก” ศาสตราจารย์หม่ากล่าว
ศาสตราจารย์หวัง กั๋วผิง ประจำภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย และกำลังค้นคว้าเสื้อคลุมล่องหนนี้เช่นกัน เห็นด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์จีนในปัจจุบันมีข้อได้เปรียบในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์แดนมังกรอาจไม่เก่งในด้านการเสนอทฤษฎีใหม่ ๆ ที่เป็นการบุกเบิก แต่ก็มีความเป็นเลิศในการทำงานอย่างมุมานะในการวิจัยในห้องทดลอง เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยี่และวัสดุให้ดีขึ้น
“ ไม่เป็นการแข่งขันในด้านทฤษฎอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นในด้านวัสดุ นักวิทยาศาสตร์จีนมีข้อได้เปรียบตรงนี้” ศาตราจารย์หวังให้ความเห็น
“นักวิทยาศาสตร์จีนกำลังรุดหน้าไม่เฉพาะแต่เสื้อคลุมล่องหน แต่ในการวิจัยที่ก้าวหน้าในอีกหลาย ๆ ด้าน” เขากล่าวอย่างมั่นใจ