เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - สืบเนื่องจากกรณีพบคนงานหญิงอินโดนีเซียติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ เอช7เอ็น9 (H7N9) เป็นรายแรกของฮ่องกง หลังเดินทางกลับมาจากเมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งดำเนินมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์แพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นอย่างเข้มงวด
ศูนย์ป้องกันสุขอนามัยของฮ่องกงเผยวานนี้ (3 ธ.ค.) ว่า ได้กักตัวบุคคล 17 รายที่มีประวัติใกล้ชิดกับ Tri Mawarti คนงานหญิงชาวอินโดนีเซีย วัย 36 ปี ที่ล้มป่วยด้วยภาวะติดเชื้อไวรัสเอช7เอ็น9 (H7N9) ไว้ที่โรงพยาบาลปริ้นเซส มาร์กาเร็ต เขตขุยหย่ง โดยมี 10 รายเป็นสมาชิกครอบครัวชาวฮ่องกงที่ Tri ทำงานให้ และ 1 รายเป็นเพื่อนชาวอินโดนีเซีย วัย 33 ปี ที่เดินทางไปเมืองเสิ่นเจิ้นพร้อมกับ Tri เมื่อวันที่ 17 พ.ย. และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกโดยตรง
ดร.เหลียง ถิ่งสยง หัวหน้าผู้ควบคุมศูนย์ฯ ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น และจากการประเมินขององค์การอนามัยโลกและศูนย์ฯ คิดว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อในหมู่ประชาชนท้องถิ่นไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป ทางด้าน Tri ได้ถูกย้ายไปรักษาตัวที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลควีน แมรี่ เขตเป๋าฝูหลิน ตั้งแต่วันเสาร์ (30 พ.ย.) ซึ่งอาการยังคงน่าเป็นห่วง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นของบุคคลที่ต้องเฝ้าระวังอาการชี้ว่า 11 รายไม่พบกลุ่มอาการต้องสงสัย ขณะที่อีก 6 รายยังต้องทำการตรวจตราอย่างละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เคยเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลถุนเหมิน อันเป็นโรงพยาบาลที่ Tri เข้ารักษาตัวในตอนแรกเป็นระยะเวลา 4 วันก่อนที่อาการจะทรุดหนักจนพบว่าติดเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ Malik Peiris ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาประจำมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า กรณีการติดเชื้อไวรัสเอช7เอ็น9 ของ Tri ได้รับการยืนยันหลังจากผ่านการตรวจสอบถึง 3 ครั้ง ซึ่งมันหมายความว่าการตรวจสอบเชื้อไวรัสระดับเบื้องต้นอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และเชื้อไวรัสอาจหลบซ่อนตัวอยู่ได้ หากมันยังอยู่ในภาวะเริ่มแรก
“จากตัวอย่างการตรวจสอบเชื้อไวรัส H7N9 สองครั้งแรกที่บริเวณระบบทางเดินหายใจช่วงบนของผู้ป่วยนั้นไม่พบการติดเชื้อก็เพราะเธอยังไม่มีอาการของเชื้อไวรัสปรากฏออกมา ทว่าเมื่อมีการตรวจสอบครั้งที่ 3 ก็พบว่าเชื้อไวรัสซ่อนตัวลึกอยู่ในปอดของเธอ”
ขณะเดียวกันศาสตราจารย์เหอ ไป่เหลียง ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่ง เผยว่า จากการวิเคราะห์กลุ่มผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่จำนวน 4 รายของจีนแผ่นดินใหญ่ พบร่องรอยการเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ที่อาจพัฒนาการส่งต่อเชื้อจากคนสู่คนขึ้นได้
ทั้งนี้ กรณีการติดเชื้อไวรัส H7N9 จากนกสู่มนุษย์ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. เมื่อสื่อทางการจีนเปิดเผยว่า ชาวจีน 2 รายในเซี่ยงไฮ้เสียชีวิตหลังจากได้รับเชื้อไวรัสในเดือน ก.พ. เป็นเหตุให้ทางการจีนต้องสั่งปิดตลาดและฆ่าสัตว์ปีกในหลายๆ หัวเมือง ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะรุนแรงยิ่งขึ้น
ทว่าองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ยังไม่พบหลักฐานการส่งผ่านเชื้อไวรัสระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์แต่อย่างใด และจำนวนผู้ติดเชื้อฯ ในจีนก็ลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยต้นเดือน พ.ย. สรุปยอดผู้ติดเชื้อฯ ทั้งสิ้นอยู่ที่ 139 ราย และเสียชีวิต 45 ราย