เอเจนซี - สื่อจีนเผยชีวิตต้องสู้ของคนงานกรรมกรต่างถิ่น ที่อดทนกินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ นานกว่า 30 ปี เพียงเพื่อให้รุ่นลูกของตนไม่ต้องมีชะตะกรรมเช่นตนเอง ผ่านบทสัมมภาษณ์ของนายหลิว หนึ่งในกรรมกรต่างถิ่นที่ร่วมชะตากับคนอีกกว่า 40 ล้านชีวิต ซึ่งเร่ร่อนรับจ้างรายวันอยู่ตามเมืองต่างๆ และจัดเป็นกลุ่มคนที่ไร้สิทธิไร้เสียงที่สุดในสังคมจีน
เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รายงาน (17 มี.ค.) ชีวิตของคนงานกรรมกร ชื่อนายหลิว ซี่อู่ วัย 53 ปี ที่ออกจากบ้านในมณฑลเหอเป่ย ตั้งแต่อายุได้ 18 ปี เพื่อมาทำงานสร้างทางรถไฟในกรุงปักกิ่ง เมื่อ 30 ปีก่อน
ปัจจุบันแม้เวลาจะล่วงมากว่า 30 ปีแล้ว แต่หลิวก็ยังคงไม่ได้กลับบ้าน โดยตระเวนรับจ้างก่อสร้างไปตามเมืองต่างๆ มีชีวิตเช่นเดียวกับคนงานต่างถิ่นอีกกว่า 40 ล้านคน ที่ล่องลอยออกจากภูมิลำเนา เนื่องจากการทำมาหากินในถิ่นเกิดนั้น ไม่พอยังชีพเลี้้ยงครอบครัว
หลิว กล่าวว่า ชีวิตกรรมกรคนยากนั้นคงเรียกร้องอะไรไม่ได้ ใครจะทำอะไรเราก็ได้ทั้งนั้น เราเป็นคนชั้นล่างสุดของสังคม
ขณะที่ตึกรามระฟ้า ถนนหนทางสลับซับซ้อนมากมาย ยังคงก่อสร้างทุกวัน หลิวก็หวังเพียงว่าเขาจะได้ทำงานนี้ไปจนวันตาย หรือไม่ก็จนกว่าจะไม่มีใครจ้าง ซึ่งก็คงอีกสักสิบกว่าปี
รายงานข่าวกล่าวว่า ในร่างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะเวลา 5 ปีฉบับล่าสุด ที่จีนขยายบทบาทของผู้ประกอบการและพลังของตลาด ตลอดจนปฏิรูประบบการธนาคาร และในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ทางการคาดว่า ประชาชน 300 ล้านคนในชนบทจะโยกย้ายมาอยู่ในเมืองภายในปี 2573 เปลี่ยนสภาพสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง เพื่อแก้ปัญหาให้กลุ่มแรงงานอพยพผู้ไม่สามารถย้ายสำมะโนครัวจากภูมิลำเนาเดิม ถูกจำกัดสิทธิ์ด้านการศึกษา การประกันสุขภาพ และเงินบำนาญ แม้แต่พวกที่อาศัยอยู่ในเมืองมานานหลายปี ก็ไม่ได้รับสิทธิ์เหล่านี้เช่นกัน โดยในแผนการขยายเมืองนี้ จะให้สถานภาพชาวเมืองอย่างถาวรแก่แรงงานชนบท 100 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงหลิวบอกว่า เขาออกจากบ้านในเขตไท่หาง มาตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเริ่มอนุญาตให้ประชาชนออกไปหางานทำต่างเมืองได้ โดยค่าแรงนั้นก็ตกวันละ 3 หยวน จนเมื่อสิบกว่าปีก่อนนี้เอง ที่คนงานก่อสร้างจำนวนมากถูกเบี้ยวค่าแรงโดยจ่ายเพียงร้อยละ 60 แม้รัฐบาลจะเข้ามาคุ้มครองแต่บริษัทนายจ้างส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการจ้างโดยไม่มีสัญญาจ้างแรงงาน เพื่อเลี่ยงกฎหมาย คนงานจึงไม่ได้รับความคุ้มครองหรือการประกันรายได้ใดๆ การจ่ายเงินต่ำกว่าข้อสัญญายังคงเป็นเรื่องปกติ การกดขี่แรงงานก็เป็นเรื่องทั่วไป
"คนงานอย่างเราไม่กล้าเรียกร้องต่อรองอะไรมาก เราแค่ต้องการค่าตอบแทนของเรา" หลิวกล่าว
"ไม่มีใครตั้งคำถามเกี่ยวกับการเยียวยาทางกฎหมาย อย่างดีก็แค่รู้สึกว่าเรามันโชคไม่ดี" หลิวกล่าวอย่างปลง และว่าการทำการเกษตรไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ เพราะราคาผลผลิตต่อปีตกอยู่ที่เพียง 500 หยวน ดังนั้น การออกมาหางานต่างถิ่นจึงยังคงเป็นวิธีเดียวที่ครอบครัวจะอยู่รอด อย่างน้อยก็เป็นความหวังเดียวที่มี เพราะในเมืองนั้นต้องการใช้แรงงานจากเราตลอดเวลา
หลิวกล่าวว่า เขาโชคดีที่ทุกหยาดเหงื่อยังมีดอกผลให้หวังชื่นชม และชีวิตคนงานกรรมกรตลอดชั่วอายุของเขาก็ไม่เลวร้ายเกินไป หลิวบอกว่าอดทนทำงานเพื่อให้รุ่นลูกไม่ลำบาก ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ลูกสาวคนโตของเขาแต่งงานและมีงานทำในกรุงปักกิ่ง ขณะที่ลูกสาวอีกคนกำลังศึกษาระดับปริญญาโท ส่วนลูกชายก็ศึกษาในวิทยาลัยเทคนิค เป้าหมายต่อไปของเขาคือเก็บเงินให้มากพอที่จะซื้ออพาร์ตเมนต์ในเมืองให้ลูกๆ ทุกคนได้ลงหลักปักฐาน
หลิว กล่าวว่า พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสร้างอนาคตให้ลูก ด้วยความหวังที่ว่าไม่ต้องการให้รุ่นลูกรุ่นหลานต้องมาเป็นกรรมกรแรงงานต่างถิ่นเช่นตนเอง หลิวบอกว่าเขาอาจจะโชคดีพอได้เห็นวันนั้น ขณะที่เพื่อนกรรมกรต่างถิ่นอีกมากอาจไม่มีวันนั้น