เอพี/เอเจนซี—จีนขยับคืบหน้าในการผลักดันแผนการยกเครื่องภาคการเงิน โดยเมื่อวานนี้(11 มี.ค.) ผู้คุมกฎภาคการเงินการธนาคารจีนแถลงรายชื่อบริษัทรายใหญ่ 10 ราย ที่รัฐบาลได้คัดเลือกมาเป็นผู้ลงทุนเปิดธนาคารเอกชนกลุ่มแรกของประเทศ มีอาทิ อะลีบาบา และเทนเซ็นต์
สืบเนื่องจากเมื่อปีที่แล้ว (2556) ผู้นำจีนประกาศการปฏิรูปครั้งประวัติการณ์ โดยมีแผนการยกเครื่องภาคการเงินและจะก่อตั้งธนาคารเอกชนที่จะดำเนินการอย่างอิสระและอยู่ภายใต้กลไกลระบบตลาด
นาย ซั่ง ฝูหลิน ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินการธนาคารจีนแถลงเมื่อวันอังคาร(11 มี.ค.) ว่า รัฐบาลได้คัดเลือกผู้ลงทุน 10 ราย ที่จะก่อตั้งธนาคารเอกชน 5 ราย ซึ่งนับเป็นธนาคารเอกชนรุ่นบุกเบิกของประเทศ
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคการเงินการธนาคารจีนมีกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้ครอบงำตลาด ดังนั้น การก่อตั้งธนาคารเอกชนจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ โดยให้พลังตลาดเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้คุมกฎภาคการเงินจีน ก็ไม่ได้แจงตารางเวลาการเปิดธนาคารเอกชน และรายละเอียดเกี่ยวขนาดของธนาคารฯ
เป็นที่คาดว่าการปฏิรูประบบการเงินจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ลั่นวาจาว่าจเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดและครอบคลุมรอบด้านนับจากการปฏิรูประบบเศรษฐกิจตลาดสมัยผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ปี 1979 (พ.ศ. 2522)
ทั้งนี้ กลุ่มที่สนับสนุนการปฏิรูปชี้ว่าบรรดาธนาคารของรัฐเป็นตัวบั่นทอนเศรษฐกิจโดยปล่อยสินเชื่อให้แต่กลุ่มอุตสาหกรรมของรัฐ มากกว่าช่วยกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งเป็นแหล่งสร้างงานใหม่และความมั่งคั่ง นอกจากนี้ดอกเบี้ยเงินออมก็ต่ำ ทำให้ครัวเรือนจีนนำเงินไปปล่อยกู้ให้บรรดาลูกค้าที่มีเส้นสายทางการเมืองดี
ในสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง สัญญาจะเปิดทางให้พลังตลาดเข้ามามี “บทบาทเด็ดขาด” (decisive role) ในการอนุมัติสินเชื่อและการจัดสรรทรัพยากรอื่นๆเพื่อสร้างและรักษาการเติบโตระยะยาวที่ยั่งยืน
นาย ซั่ง ผู้คุมกฏภาคการเงินแถลงแก่ที่ประชุมข่าวที่จัดขึ้นระหว่างการประชุมสมัชชาประชาชน หรือรัฐสภาจีน กล่าวว่าการเปิดธนาคารใหม่แต่ละแห่งจะต้องมีนักลงทุนอย่างน้อยสองราย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตระเตรียมงาน
อะลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) ซึ่งเป็นบริษัทอี คอมเมิร์ช รายใหญ่สุดของโลก และ เทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส (Tencent Holdings Ltd.) ผู้ให้บริการเกม์ส ออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแดนมังกร ต่างก็ได้เปิดธุรกิจบริการการเงินเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ซึ่งเป็นตัวดูดบัญชีเงินฝากออกจากบรรดาธนาคาร
กลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาการเปิดธุรกิจการเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสองรายนี้ว่า ส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มธนาคารของรัฐ นักแสดงความเห็นยังได้ประณามผ่านรายการโทรทัศน์จีน และเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า “ตัวเรือดแห่งภาคการเงิน” แต่นายกฯหลี่ก็โน้มน้าวให้พรรคคอมมิวนิสต์สนับสนุนบริษัทเหล่านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยให้คำมั่นระหว่างแถลงนโยบายประจำปี จะส่งเสริมการเติบโตของภาคบริการการเงินออนไลน์
หนังสือพิมพ์ประชาชนจีน (People's Daily) ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคฯ ได้รายงานเผยรายชื่อบริษัท 10 ราย ที่จะเป็นผู้ลงทุนก่อตั้งธนาคารใหม่ ได้แก่ อะลีบาบา, เทนเซนต์, วั่นเซี่ยง (Wanxiang Group) ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์, ฟัวซัน กรุ๊ป (Fosun Group) กลุ่มเครือบริษัท ที่เป็นเจ้าของบริษัทการท่องเที่ยว คลับ เมด (Club Med)แห่งฝรั่งเศส , หวาเป่ย กรุ๊ป ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Huabei Group), ซังฮุย, เจิ้งไท่, เถิงซุ่น, ไป่เย่หยวน, หวาเฟิง
“เป็นที่คาดว่าสถาบันการเงินใหม่เหล่านี้จะมุ่งปล่อยกู้แก่กลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก” ซั่งกล่าว พร้อมเผยว่าธนาคารกลุ่มแรกจะก่อตั้งที่นครเซี่ยงไฮ้, นครเทียนจิน, ก่วงโจว (กวางเจา) และเจ้อเจียง
โฆษกของอะลีบาบา นาย จัง เต้าเซิ่ง เผยว่า อะลีบาบาจะจับมือกับวั่นเซี่ยง ก่อตั้งธนาคาร ที่พุ่งเป้าปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอี คอมเมิร์ช์ซ
ทั้งนี้การที่ธนาคารรัฐไม่อนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ส่งผลให้ตลาดใต้ดินผุดเฟื่องฟูขึ้นมาเป็นผู้ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง ส่วนผู้คุมกฎก็ไฟเขียวให้แก่ผู้ปล่อยกู้ใต้ดินเหล่านี้เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอกชน แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็พยายามเข้ามาควบคุมหลังจากที่พบว่ามีกลุ่มธนาคารและบริษัทเกี่ยวข้องในกิจการปล่อยกู้ใต้ดิน ซึ่งได้สร้างความเสี่ยงต่อพวกเขาเอง