จากเมล็ดข้าวโพดธรรมดาๆ กลายมาเป็น ป๊อปคอร์น อร่อยอิตติดใจกันทั่วโลก ซึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้บ้านเราได้เกิดกระแสป๊อบคอร์นเกิดเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ขึ้นมา กับ 2 ปรากฏการณ์สำคัญ
นั่นก็คือ
1.ปรากฏการณ์ป๊อบคอร์นจากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดสาขาที่เมืองไทยในห้างดัง มีคนไปรอต่อคิวกันยาวเหยียด
2. ปรากฏการณ์ชายนิรนามทำป๊อบคอร์นหล่นหลายเม็ดทั้งที่หลักสี่และที่ผ่านฟ้า จนตะกวดกระเจิง กลายเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์
อนึ่งเมื่อพูดถึง ป๊อปคอร์น (popcorn) หรือข้าวโพดคั่ว อาจจะเป็นของโปรดของใครหลายๆคน เพราะมีรสชาติที่ถูกปาก ทั้งรสหวาน เค็ม รสเนย รสชีส คาราเมล บาบีคิว และอีกหลายๆรสชาติที่ล้วนคิดค้นมาเพื่อให้ลูกค้าติดอกติดใจ และยังหาทานง่ายตั้งแต่ร้านค้าตามตลาดนัด ในโรงหนัง ไปจนถึงขั้นยึดเป็นอาชีพคิดแบรนด์สินค้าขึ้นมาก็มี แต่ใครที่เป็นคนคิดเอาเมล็ดข้าวโพดมาทำเป็นขนมที่ยิ่งกินก็ยิ่งมันกัน
ตามหลักฐานสำคัญที่นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสพบข้าวโพดคั่วในซากเมืองโบราณ หลายแห่ง เช่น เมืองอินคาในอเมริกาใต้ ระบุว่า เมื่อกว่า 5,600 ปีที่แล้วชาวอินเดียนแดง หรือชนพื้นเมืองอเมริกันถือเป็นชนกลุ่มแรกที่กินข้าวโพดคั่ว หรือเรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของ “ป๊อปคอร์น” นั่นเอง โดยค้นพบฝักป๊อปคอร์นที่เก่าแก่ที่สุด ที่ถ้ำค้างคาว(Bat Cave) ณ เวสต์เซ็นทรัล มลรัฐ นิวเม็กซิโก ในปี พ.ศ. 2491 และ 2493 มีขนาดตั้งแต่เล็กกว่าเหรียญเพนนี ไปจนถึงขนาดสองนิ้ว ฝักอายุมากที่สุดมีอายุถึง 4000 ปี โดยประมาณ
ซึ่งสันนิษฐานว่าการทำป๊อปคอร์นในสมัยนั้นเริ่มต้นจากการฝังหม้อดินปั้นไว้ในทรายที่ร้อนจัด และนำเมล็ดข้าวโพดใส่ลงไป ปิดฝา หรือเอาหม้าอีกใบมาทับไว้ ความร้อนจากทรายที่ระอุอยู่ในหม้อจะทำให้เมล็ดข้าวโพดแตกตัว ฟองฟูจนกลายเป็น ป๊อปคอร์น ในที่สุด ซึ่งชาวอินเดียไม่ได้นำข้าวโพดคั่วนี้มาทานอย่างเดียว แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของชาวอินเดียนเผ่าแอสเท็กในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เบอร์นาดิโน เดอ ซาฮากัน(Bernardino de Sahagun) ได้บันทึกไว้ว่า “แลเมื่อหญิงสาวจำนวนมากมายเต้นรำ อย่างเต็มไปด้วยคำมั่นสัญญา งานเต้นรำป๊อปคอร์น มาลัยของพวกเธออันหนาเท่ากับข้าวโพด และพวกเขาสวมพวงมาลัยเหล่านี้เอาไว้บนศีรษะของพวกเธอ” หรือพูดง่ายๆก็คือการนำมาร้อยเป็นมงกุฎสวมใส่ สร้อยคอ และเครื่องประดับบนรูปปั้นของเทพเจ้าของพวกเขาด้วย รวมถึง ทลาล็อค(Tlaloc) เทพแห่งฝนและความอุดมสมบูรณ์ และยังถูกมาทำเป็นสัญลักษณ์คล้องคอสำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่า หรือนักรบอีกด้วย
หลังจากนั้นในยุโรปราวๆ ศตวรรษที่ 15 โดยโคลัมบัส หรือที่รู้จักกันในนามนักสำรวจและนักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้ค้นพบทวีปอเมริกาบันทึกไว้ว่า ชาวอินเดียนแดงนำช่อดอกไม้และเครื่องประดับศีรษะที่ทำด้วยข้าวโพดคั่วมาขาย ให้ลูกเรือของตน ซึ่งก็ถือเป็นการรับเอาวัฒนธรรมป๊อปคอร์นนี้มาทำเป็นธุรกิจในช่วง ปลายศตวรรษที่ 19 โดยประเทศอเมริกาเป็นประเทศแรกที่จำหน่ายข้าวโพดคั่วออกสู่ตลาด
ต่อมาธุรกิจข้าวโพดคั่วนี้ก็ดูเหมือนจะเติบโตได้ดีจนมีการคิดค้น เครื่องคั่วข้าวโพดขึ้น ในปี 1885 โดยนายชาลส์ เครเตอร์ ชาวเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ และได้พัฒนาต่อไปเป็นเครื่องคั่วข้าวโพดแบบไฟฟ้าขึ้น จนมีคนนำเครื่องนี้ไปทำข้าวโพดคั่วขายในโรงภาพยนตร์ จนเป็นที่ถูกอกถูกใจ กลายเป็นของขบเคี้ยวที่ยิ่งกินยิ่งมันอยู่คู่โรงหนังจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีของมนุษย์ที่รักความสะดวกสบายได้มีการคิดป๊อปคอร์นที่ไม่ต้องใช้เครื่องคั่วอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ไปซื้อป๊อปคอร์นปรุงสำเร็จ นำเข้าไมโครเวฟ รอเวลา แค่นี้ก็ได้ป๊อปคอร์นทานเองที่บ้านสบายๆแล้ว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com