รอยเตอร์ส - จีนเร่งปลูกต้นไม้ สร้างผืนป่าใหม่เพิ่มหลายสิบล้านไร่ แต่ผู้เชี่ยวชาญหวั่นได้พื้นที่สีเขียวแบบไม่ยั่งยืน ซ้ำเติมแผลเก่าให้รุนแรงกว่าเดิม
สำนักงานกิจการป่าไม้แห่งรัฐ (State Forestry Administration: SFA) ของจีน รายงานว่า จีนกำลังเดินหน้าขยายผืนป่าให้ครอบคลุมพื้นที่ราว 23 เปอร์เซ็นต์ของประเทศภายในปี 2563 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า เพื่อต่อสู้กับปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงและการสูญเสียทรัพยากรดินอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเกษตรกรรมและอนุรักษ์ธรรมชาติ
นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จีนลงมือสร้างพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่กว่า 13 ล้านเอเคอร์ (ราว 33 ล้านไร่) ซึ่งเทียบเท่าได้กับขนาดประเทศมอนเตรเนโกร ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศพุ่งสูงถึง 208 ล้านเอเคอร์ (ราว 526 ล้านไร่) หรือเกิน 21 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ
“เราทำตามเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 23 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563 ได้กว่าร้อยละ 60 แล้ว” เจ้า ซูชง ผู้อำนวยการสำนักฯ กล่าวกับนักข่าวในกรุงปักกิ่ง
ทั้งนี้ จีนเริ่มดำเนินโครงการปลูกป่าในปี 2541 หลังเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งหลายฝ่ายตำหนิว่าเป็นเพราะขาดแคลนป่าธรรมชาติที่เปรียบเสมือนกำแพงกั้นกระแสน้ำเชี่ยวกราก รวมถึงปัญหาพายุทรายที่โจมตีหลายเมืองทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการลักลอบตัดต้นไม้จำนวนมาก
สำนักฯ ระบุว่าจากการปลูกป่ากลับคืนอย่างรวดเร็วได้ช่วยป้องกันน้ำท่วมหลากกว่า 581 พันล้านลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี ขณะเดียวกันก็ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกกว่า 8.4 พันล้านตัน ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้แปรรูปภายในประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของผืนป่าแห่งใหม่ โดยแย้งว่าทางการเอาแต่สนใจการสร้างป่าผืนใหม่ แต่ละเลยต่อการฟื้นฟูป่าธรรมชาติดั้งเดิม
“สำนักฯ มองที่การปลูกป่าเพียงอย่างเดียว แต่กลับลืมมองภาพรวมทั้งหมด” สี่ว์ เจี้ยนชู ศาสตราจารย์จากสถาบันโบทานี่ของเมืองคุนหมิง หน่วยงานในสังกัดสำนักวิชาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนกล่าวกับรอยเตอร์ส
ศาสตรจารย์สี่ว์เผยว่าป่าแห่งใหม่ส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากหน่วยงานท้องถิ่นมักเลือกปลูกพืชพรรณที่ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมือง เช่น ยางพาราหรือผลไม้ต่างถิ่น เพราะหวังกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แทนที่การปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ธรรมชาติท้องถิ่นอย่างแท้จริง
“สำหรับภูมิภาคอันแห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งของจีน การกระทำเช่นนี้ยิ่งซ้ำเติมปัญหาหน้าดินพังทลายและแหล่งน้ำเสียหายให้เลวร้ายกว่าเดิม”
“พวกเขาควรมองไปที่การทำเกษตรกรรมแบบยืนยาว และรักษาระบบนิเวศวิทยาโดยรวมไว้ให้ได้มากที่สุด” สี่วกล่าวทิ้งท้าย