xs
xsm
sm
md
lg

ม.วลัยลักษณ์ บุกโค่นป่าท้องถิ่นปลูกแตงโมแล้วนับ 100 ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก internet
นครศรีธรรมราช - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช บุกโค่นพื้นที่ป่าพฤกษศาสตร์ท้องถิ่นแล้วกว่า 1,000 ไร่ เพื่อปลูกไร่แตงโม ด้าน “ประชาคมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” พร้อมเคลื่อนไหวคัดค้านเต็มสูบ จี้ผู้บริหารตอบคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

วันนี้ (17 ก.พ.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประมาณ 9,000 กว่าไร่ พื้นที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยฯ ได้มาจากการบริจาค โดยการเวนคืนพื้นที่เลี้ยงวัว พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของคนในพื้นที่ การเวนคืนพื้นที่ได้สร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นอย่างมาก มีการฟ้องศาล ร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชน กันยาวนานหลาย 10 ปี ซึ่งระยะเวลาผ่านมา ถึงปัจจุบันนี้คดีก็ยังไม่สิ้นสุด
ภาพจาก internet
พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยฯ เมื่อปลูกสร้างอาคารต่างๆ แล้ว ยังมีเหลือพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นป่าพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีในพื้นที่อื่นๆ โดยความเป็นป่าเฉพาะนี้เอง ส่งผลให้ฝ่ายบริหารชุดก่อนๆ ได้ก่อสร้างสวนพฤกษศาสตร์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไป

ในส่วนของสวนพฤกษศาสตร์ เป็นพื้นที่ซึ่งมีการบริหารจัดการได้ดีมาก เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มาเกิดเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง เมื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำการตัดโค่นทำลายป่าพื้นที่ป่าภายในมหาวิทยาลัยฯ ไปแล้วกว่า 200 ไร่ เพื่อปลูกแตงโม
ภาพจาก internet
จากกรณีดังกล่าว ได้ส่งผลให้ “ประชาคมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ตื่นตัวพูดคุยเคลื่อนไหวกันอย่างจริงจัง นับเป็นปรากฏการณ์ชนิดที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนตั้งแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย โดยเป้าหมายที่ถูกจับตามอง และตั้งคำถามคือ ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร ใครควรเป็นคนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ล่าสุด “ประชาคมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ได้ทำการสำรวจพื้นที่ป่าที่ถูกตัดทำลายเพื่อปลูกแตงโม พบตัวเลขที่ชัดเจนมากขึ้น พร้อมทำแผนที่ประกอบให้เห็นอย่างชัดเจน โดยประเมินว่าพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 200 ไร่ตามที่เป็นข่าว แต่หากดูแผนที่ประกอบโดยคำนวณจากสภาพพื้นที่ทั้งหมดแล้ว 9,000 กว่าไร่
ภาพจาก internet
พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ป่าเดิม พื้นที่สีเขียวอ่อนเป็นพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเพื่อปลูกแตงโม ดังนั้น จึงชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ตัวเลขป่าที่ถูกทำลายไปแล้วต้องมีนับ 1,000 ไร่อย่างแน่นอน หลังจากสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวออกไป ฝ่ายผู้บริหารของมหาวิทยาลัยยังคงนิ่งสงบ หากมีความคืบหน้าอย่างไร “ASTVผู้จัดการภาคใต้” จะรายงานให้ทราบต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น