เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์—วิกฤตหมอกมลพิษ (smog) ของจีน ทวีความรุนแรง โดยได้แพร่ขยายจากเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่งโจว เป็นต้น สู่เมืองต่างๆแถบตอนใน ภาคตะวันตก และภาคเหนือ ของประเทศ
หลายๆเมืองในภาคตะวันตก รวมทั้งเมืองแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของโลก ได้แก่ นครซีอัน และลาซา ก็โดนหมอกมลพิษครองเมืองในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้เมืองชายฝั่งตะวันออกในมณฑลซันตง ก็เต็มไปด้วยหมอก ดัชนีมลพิษพุ่งกระฉูดทะลุตารางดัชนี
“นี่คือ สัญญาณเตือนภัย สะท้อนถึงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ขณะนี้เมืองต่างๆทั่วประเทศกำลังจ่ายราคาเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม” หลี่ ปั๋ว ที่ปรึกษาอาวุโส แห่ง Friends of Nature องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในจีน กล่าว
นครลาซา ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 3,700 เมตร ผจญกับพายุทรายอย่างหนักในวันพฤหัสฯและศุกร์(19-20 ธ.ค.) ทัศนะวิสัยการมองเห็นไม่ถึง 5 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินที่สนามบนกอนกา (Gonga)
สำนักข่าวซินหวารายงาน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าพายุทรายยังคงป่วนไปถึงสุดสัปดาห์นี้ ดัชนีคุณภาพอากาศเลวร้าย โดยฝุ่นขนาดใหญ่ หรือ PM10 ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 10 ไมครอน เข้มข้นมาก
พระราชวังโปตะลา และยอดภูเขาหมวกหิมะ เลือนหายไปในม่านฝุ่น กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างตกใจ ที่เมืองที่ขึ้นชื่อด้านอากาศบริสุทธิ์ และฟ้าสีเทอร์ควอยซ์ ก็ยังไม่พ้นวิกฤตหมอกมลพิษ
“แม้แต่นครลาซา เมืองศักดิ์สิทธิ์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองฟ้าสีใสสด ก็เต็มไปด้วยฝุ่นพิษเสียแล้ว เราได้สูญเสีย “แผ่นดินบริสุทธิ์” แห่งสุดท้ายไปแล้ว” ชาวเน็ต โพสต์ใน ไมโครบล็อก “เวยปั๋ว” ที่คล้ายทวิตเตอร์
นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่ม ชี้ว่าการขยายกิจกรรมขุดเหมืองบริเวณภูเขากอนกา (Gonga) น่าจะเป็นตัวการโหมกระพือพายุทราย การระเบิดเหมืองทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายในอากาศ Gabriel Lafitte นักวิจัยชาวออสเตรีย กล่าว
นอกจากนี้ เมืองที่เผชิญวิกฤตมลพิษอย่างเลวร้ายที่สุดในสุดสัปดาห์นี้ ได้แก่ ซีอัน และ เป่าจีในมณฑลส่านซี, เหลียวเฉิง เต๋อโจว และจี่หนิง ในมณฑลซันตง
ปัญหาหมอกมลพิษในแผ่นดินดูจะแรงมากขึ้นจากระดับแย่สู่ระดับเลวร้ายที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ และยิ่งลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆจากกรุงปักกิ่ง สู่มณฑลภายใน และภาคตะวันตก ที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ขึ้นชื่อของโลก
เฉพาะในเดือน ธ.ค.นี้ ดัชนีมลพิษในเมืองอย่างน้อย 25 เมือง ได้ทะลุตาราง.