เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - สืบเนื่องจากการรายงานพิเศษของสถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติ หรือซีซีทีวี (CCTV) ของจีนในเช้าวันอาทิตย์ (9 ก.พ.) ได้เปิดโปงเครือข่ายธุรกิจซ่องโสเภณีขนาดใหญ่ในเมืองตงกวน มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของประเทศ จึงนำไปสู่การระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้ากวาดล้างกลุ่มผู้กระทำผิดครั้งสำคัญ
สำนักงานพิทักษ์สันติราษฎร์มณฑลก่วงตงระบุว่าได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 6,500 นาย เข้าตรวจค้นสถานบันเทิงจำนวน 12 แห่ง ใน 5 เขตชุมชนเมืองตงกวน ซึ่งซีซีทีวีรายงานว่ามีการดำเนินธุรกิจค้าประเวณีซ่อนอยู่ โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิด 67 ราย และสั่งปิดสถานบันเทิงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยทันทีในคืนวันอาทิตย์
นอกจากนั้นยังได้เข้าควบคุมตัวนายตำรวจใหญ่ 2 นาย โดยรายแรกเป็นผู้อำนวยการสำนักงานตำรวจเขตชุมชนจงถัง ส่วนรายที่สองเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีโรงแรมร่วมธุรกิจผิดกฎหมายนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่การดูแล
อนึ่ง รายงานพิเศษของซีซีทีวีเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นเพิกเฉยต่อการทำธุรกิจซ่องโสเภณีในพื้นที่ ปล่อยปละให้อุตสาหกรรมค้าบริสุทธิ์เติบโตมานานกว่า 5 ปี แม้ว่ากระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ของจีนจะประกาศมาตรการลงโทษอย่างเข้มงวดออกมาก็ตาม นอกเหนือจากนั้น เครือข่ายธุรกิจสกปรกที่มีโรงแรมและซาวน่าหรูหราเป็นแหล่งมั่วสุมกามารมณ์ ยังมีบรรดานักธุรกิจใหญ่ที่ “แตะต้องไม่ได้” คอยหนุนหลังอยู่
สถานีวิทยุกลางแห่งชาติของจีนอ้างอิงรายงานพิเศษฯ ว่า นายเหลียง เหยาฮุ้ย ผู้บริหารโรงแรมคราวน์ปริ๊นซ์ (Crown Prince Hotel) ในตงกวน ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวที่พบส่วนพัวพันกับธุรกิจค้ากามนี้ ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีน โดยเขายังครอบครองโรงแรมหรูแห่งอื่นๆ และเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทน้ำมันจงหยวนกรุ๊ป (Zhongyuan Group) อีกด้วย
ด้านกวางเจา เดลี่ สื่อท้องถิ่นเผยว่า หลังจากได้รับชมรายงานพิเศษของซีซีทีวี นายหู ชุนฮวา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลก่วงตง สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้กระทำผิดทั้งหมด เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเข้ากวาดล้างเครือข่ายยาเสพติดครั้งใหญ่ในปลายปี 2556
อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวยังได้จุดกระแสสนทนาถึง “ธุรกิจค้าประเวณีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ในแวดวงสังคมจีนขึ้นมาอีกด้วย
อู๋ จยาเซียง อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน หนึ่งในนักวิชาการชื่อดังได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิดฐานค้าบริการทางเพศในมณฑลก่วงตง โดยกล่าวว่า “มันถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราจะพิจารณาให้ธุรกิจนี้เป็นเรื่องถูกกฎหมายเสียที”
นิโคลัส บีคิวลิน (Nicholas Bequelin) นักวิจัยในฮ่องกงซึ่งทำงานให้กับฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ชี้ว่ารายงานพิเศษของซีซีทีวีได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
“มันเกิดการถกเถียงพูดคุยเกี่ยวกับธุรกิจค้ากามอย่างกว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ... โดยเฉพาะการพูดถึงความเป็นไปได้ของ ‘คนงานขายบริการทางเพศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย’ เป็นครั้งแรก”
หลี่ อิ่นเหอ นักสังคมวิทยาจากสำนักวิชาสังคมศาสตร์แห่งชาติของจีน มองว่าการบุกเข้าทะลายซ่องคราวนี้คงไร้ประโยชน์ แม้ตงกวนจะปราศจากหญิงค้าบริการ ใช่ว่าลูกค้าจะไปหาผู้ขายจากที่อื่นไม่ได้ ทางการควรหาทางให้ธุรกิจอยู่ภายใต้การควบคุมมากกว่า
ขณะที่เป่ยจิง ไทมส์ สื่อจีน ก็ได้หยิบยกประเด็นร้อนนี้มากล่าวถึงในหน้าบทบรรณาธิการประจำวันอังคาร (11 ก.พ.) ด้วย โดยระบุว่า “หากซีซีทีวีไม่ได้ออกมาเปิดโปงกลไกและบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสกปรกนี้ ... เช้าวันรุ่งขึ้นก็ยังคงพบหญิงบริการเดินเคียงข้างชายหนุ่มอยู่เช่นเดิม”
ทว่าโกลบอล ไทมส์ สื่อทางการจีน โต้แย้งผ่านบทบรรณาธิการในวันเดียวกันว่า “การทำให้ซ่องโสเภณีถูกกฎหมายคงไม่ได้ช่วยกำจัดธุรกิจแรงงานกามารมณ์ให้หมดไปได้”
ซื่อหม่า หนัน (Sima Nan) นักเขียนและพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง กล่าวว่า ขนาดสังคมอินเดียที่มีซ่องโสเภณีถูกกฎหมาย ยังพบการก่ออาชญากรรมทางเพศติดอันดับโลก ดังนั้นการทำให้ถูกกฎหมายก็ใช่ว่าจะจบปัญหาความรุนแรงทางเพศในจีนไปได้
ทั้งนี้ จากการประเมินในปี 2552 ของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) คาดว่าน่าจะมีแรงงานค้ากามอย่างน้อย 1.8-3.7 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในจีน ขณะที่อินเดียมีเพียง 868,000 คนเท่านั้น