เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ขึ้นชื่อว่า ปลาฉลาม มันคือเพชฌมาตแห่งท้องมหาสมุทร ที่ดุร้ายน่ากลัวในความคิดของมนุษย์
จนกระทั่ง เมื่อนักอนุรักษ์สัตว์ทะเลได้มีโอกาสเข้าไปภายในโรงชำแหละของบริษัทแห่งหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียงบนชายฝั่งภาคทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ก็ถึงกับใจแป้ว
ซากปลาฉลามถูกเฉือนชำแหละชิ้นส่วน กองเกลื่อนกลาด
“เราไปที่นั่นมา 3 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และแต่ละครั้งระดับการฆ่ามันเหลือเชื่อจริง ๆ” นายพอล ฮิลตัน และนายอเล็กซ์ ฮอฟฟอร์ด แห่งไวลด์ไลฟ์ริสก์ ( WildLifeRisk) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลระบุในรายงาน
“ ที่เหลือเชื่อยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ที่ฆ่าตายเป็นเบือทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่อสนองรูปแบบการใช้ชีวิต ที่ไม่จำเป็น เช่น ลิปสติก ครีมทาหน้า อาหารเสริมสุขภาพ และซุปหูฉลาม”
จากการสืบสวนมานานถึง 4 ปีของกลุ่มอนุรักษ์ดังกล่าว โรงงานนรกแห่งนี้ชำแหละปลาฉลามวาฬ ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้จะสูญพันธุ์ถึงปีละกว่า 600 ตัว รวมทั้งปลาฉลามอื่น ๆ อีก 2 สายพันธุ์ ซึ่งเสี่ยงจะสูญพันธุ์ด้วยเช่นกัน โดยนายฮิลตันเล่าว่า ทางไวลด์ไลฟ์ริสก์ ได้รับแจ้งเบาะแสโรงงานดังกล่าวจากกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าในท้องถิ่นเมื่อปี 2553
“เราไปอย่างสายลับ ทำทีว่าเป็นบริษัทค้าอาหารทะเลระหว่างประเทศ กำลังมองหาสินค้าใหม่ ๆ” นายฮิลตันเล่า
“ ผู้จัดการทั่วไปของโรงงานถูกถ่ายวิดีโอ ขณะกำลังบอกว่ามีฉลามวาฬถูกชำแหละที่นี่มากกว่า 600 ตัวในแต่ละปี”
จากการสอบสวนพบว่า ฉลามวาฬถูกขาย เพื่อนำไปทำหนังผลิตกระเป๋า ส่วนเนื้อถูกส่งไปยังภัตตาคารของชาวจีนในฝรั่งเศสและอิตาลี และครีบตากแห้งถูกส่งไปขายให้ร้านอาหารในเมืองก่วงโจว (กวางเจา)
ทว่าที่ทำเงินจริง ๆ นั้นได้แก่น้ำมันจากตับของปลาฉลาม เพราะนำไปทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ลิปสติก และน้ำมันโอเมก้า 3 สำหรับบำรุงสุขภาพ โดยมีการส่งน้ำมันนี้ไปยังโรงงานแห่งหนึ่งในมณฑล
ไห่หนัน ซึ่งจะทำการผสม และผลิตออกมาในรูปแคปซูล ส่งไปจำหน่ายเป็นน้ำมันตับปลาที่สหรัฐฯ และแคนาดา
ฉลามถูกจับได้ในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก และน่านน้ำนอกชายฝั่งฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย และเม็กซิโก
นายฮิลตันเชื่อว่า นอกจากโรงชำแหละนี้แล้ว ยังอาจมีโรงงานแห่งอื่น ๆ บนชายฝั่งทะเลของแผ่นดินใหญ่อีกก็ได้
ด้านสื่อมวลชนของจีนรายงานว่า ฉลามวาฬตัวหนึ่งอาจขายได้ในราคาสูงถึง 200,000 หยวน หรือราว 1 ล้านบาท
นายฮิลตันไม่เคยเห็นการชำแหละปลาฉลามที่ไหนจะมากมายมหาศาลเท่าที่นี่ รวมทั้งครีบปลาที่อยู่บนลานของโรงงาน โดยตอนที่เขาไปที่โรงงานแห่งนี้ครั้งแรกนั้น เห็นครีบปลาฉลามบนพื้นไม่ต่ำกว่า 30 อัน และมีซ่อนอยู่ใต้ผ้าใบคลุมอีกมากกว่านั้น
นายฮิลตันกล่าวว่า การทำโรงชำแหละฉลามไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่สายพันธุ์ ซึ่งถูกชำแหละที่นี่ได้รับการขึ้นบัญชีคุ้มครองโดยอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Convention on lnternationalTradein Endangered Species of Wild ) หรือไซเตส ซึ่งจีนเป็นชาติหนึ่งที่ร่วมลงนาม และห้ามการส่งออกสินค้า ที่ผลิตขึ้นจากสัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยขณะนี้ ไวลด์ไลฟ์ริสก์กำลังเรียกร้องให้ทางการจีนสั่งปิดโรงชำแหละนรก และสอบสวนบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อหยุดยั้งธุรกิจการค้าอันโหดเหี้ยมให้ได้