xs
xsm
sm
md
lg

รมช.เกษตรฯ ปล่อยฉลามกบ 99 ตัว ภายใต้โครงการ “ปล่อยฉลามกลับบ้าน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมช.เกษตรฯ ปล่อยฉลามกบ 99 ตัว ภายใต้โครงการ “ปล่อยฉลามกลับบ้าน” ที่อ่าวแสมสาร อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี

วันนี้ (24 ก.ค.) นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานจัดกิจกรรม “ปล่อยฉลามกบ 99 ตัว กลับบ้าน” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กรมประมง หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ มหาวิทยาลัยบูรพา และมูลนิธิรักษ์สัตว์ป่า ณ ชายหาดเกาะแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวความเป็นมาถึงโครงการ นอกจากนี้ นายภวัต เลิศมุกดา นายอำเภอสัตหีบ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ คณะผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน และนักศึกษาในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมทำกิจกรรมครั้งนี้

ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ในฐานะผู้ดำเนินโครงการกล่าวว่า จากสถานการณ์จำนวนประชากรฉลามทั่วโลกมีจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกคุมคามจากการไล่ล่าเพื่อนำมาป้อนสู่ตลาดการค้าตามความต้องการของผู้บริโภค ในส่วนของประเทศไทย ถึงแม้ว่าปลาฉลามไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมายในการจับขึ้นมาจากการทำประมงโดยตรง แต่ก็ถูกจัดให้เป็นสัตว์น้ำพลอยจับได้ หรือที่เรียกว่า BY-CATCH ซึ่งมีผลกระทบต่อจำนวนปลาฉลามในธรรมชาติอยู่ดี เพราะถูกจับจากเครื่องมือประมง และด้วยธรรมชาติของปลาฉลามเองมีลูกน้อยออกเป็นตัว เติบโตช้า และใช้เวลาตั้งท้องนาน แหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย หรือเสื่อมโทรม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุให้ประชากรฉลามลดจำนวนลงทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้ทำแผนปฏิบัติการสากล เพื่อการอนุรักษ์ และการบริหารจัดการปลาฉลามขึ้น และผลักดันให้ประเทศสมาชิกจัดทำแผนปฏิบัติการสากลเพื่อการอนุรักษ์ และบริหารจัดการปลาฉลามในระดับชาติ เพื่อนำสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์ และบริหารจัดการทรัพยากรปลาฉลามอย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “ปล่อยฉลามกลับบ้าน” จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ และเพิ่มผลผลิตปลาฉลามในธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจุดที่ปล่อยปลาฉลามกบเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ จึงมั่นใจได้ว่าปลาฉลามที่ถูกปล่อยลงไปจะสามารถเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้ ประกอบกับฉลามสายพันธุ์ดังกล่าว มีอุปนิสัยไม่ดุร้าย พฤติกรรมชอบว่ายน้ำวนอยู่กับที่ ไม่เดินทางไกล และหากินสัตว์น้ำขนาดเล็ก จึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ด้วยสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย จะสามารถส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของฉลามกบให้มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ถาวรอย่างแน่นอน

สำหรับปลาฉลามในน่านน้ำไทย จากรายงานพบมีทั้งหมด 19 วงศ์ 34 สกุล 63 ชนิด เกือบทุกชนิดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากความนิยมในการบริโภคหูฉลามซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ราคาแพง ปัจจุบัน มีฉลามบางชนิดที่ถูกขึ้นบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ ปลาฉลามหัวค้อน ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ปลาฉลามครีบยาว และปลาฉลาม ในอนาคตคาดการณ์ว่า จะมีการผลักดันให้มีการขึ้นบัญชีชนิดฉลามเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น