xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง!!!“ฉลามวาฬ” ยักษ์ใหญ่ใจดี ปีนี้โผล่ชุกที่เมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล ว่ายน้ำเล่นที่เกาะตาชัย เมื่อ ก.พ.57 (ภาพจาก FB : Armi Blue)
“ฉลามวาฬ” สัตว์น้ำที่ชื่ออาจจะดูน่ากลัว แต่ความจริงแล้วกลับได้รับฉายาว่าเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล สิ่งที่ดูน่ากลัว อาจจะมาจากขนาดตัวที่ใหญ่โตมโหฬาร เพราะฉลามวาฬนั้นเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ที่ฉลามวาฬก็เป็นยักษ์ใหญ่ใจดีนั่นก็เพราะมันกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร จึงไม่ได้ทำอันตรายแก่มนุษย์

ฉลามวาฬ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่นักดำน้ำทั่วโลกปรารถนาจะได้เห็นสักครั้งในชีวิต ด้วยความใหญ่โตมโหฬาร ลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ และความที่หาตัวได้ยาก บางคนถึงขนาดบอกว่าต้องคนมีโชคเท่านั้นถึงจะได้เจอ

นั่นก็เพราะฉลามวาฬจะอาศัยอยู่ในแถบทะเลเขตร้อนทั่วโลก (ยกเว้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) และจะอาศัยในน้ำที่มีอุณหภูมิระหว่าง 21-26 องศาเซลเซียส โดยจะพบในเขตที่มวลน้ำอุ่นปะทะกับน้ำเย็น ซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอน อันเป็นอาหารหลักของฉลามวาฬ
ฉลามวาฬออกมาโชว์โฉมบริเวณเกาะห้า เมื่อ ก.พ.57 (ภาพจาก FB : Armi Blue)
ฉลามวาฬจะกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารโดยการเปิดปากกว้างและว่ายน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อดักอาหารเข้าปาก กรองกินสิ่งมีชีวิตเล็กๆ และปล่อยน้ำออกทางช่องเหงือก ซึ่งปกติแล้วมันจะกินอาหารที่ผิวน้ำ หรือต่ำลงไปเล็กน้อย

เจ้าฉลามวาฬยักษ์ใหญ่ มีนิสัยชอบว่ายน้ำไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้สนใจใคร หน้าตามึนๆ แต่ก็น่ารักแบบนี้ จึงเป็นที่สนใจของนักดำน้ำทั่วไป ซึ่งปกติแล้วนั้นอาจจะเจอบ้างไม่เจอบ้าง แต่ในปีนี้ (2557) ถือว่าเป็นปีที่ฉลามวาฬว่ายน้ำออกมาอวดโฉมให้นักดำน้ำได้ยลอยู่บ่อยๆ

ณัฐพล พลบำรุงวงศ์ นักดำน้ำชาวไทย เล่าว่า ในปีนี้เจอฉลามวาฬในทะเลไทยค่อนข้างเยอะ ทั้งที่หมู่เกาะสิมิลัน เกาะตาชัย เกาะสุรินทร์ กองหินริเชลิว ซึ่งแต่ละจุดนั้นเป็นสถานที่ที่สามารถพบฉลามวาฬได้อยู่แล้ว เพียงแต่ในปีนี้มีให้เห็นมากและถี่ขึ้น
ยักษ์ใหญ่มีปลาตัวเล็กๆ ว่ายตามเป็นพรวน (ภาพจาก FB : Armi Blue)
“ในทะเลไทย ปกติก็จะเจอฉลามวาฬได้ตามจุดดำน้ำต่างๆ อย่างฝั่งอ่าวไทยก็จะเห็นแถวๆ ร้านเป็ด ร้านไก่ ที่ชุมพร ส่วนฝั่งอันดามันก็พบได้ทั่วไปตามแหล่งดำน้ำที่ค่อนข้างลึกหน่อย ซึ่งปกติเค้าก็จะว่ายน้ำเข้ามาหากินตามแนวเกาะบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก”

“สำหรับปีนี้จะเจอฉลามวาฬบ่อยกว่าปกติ บางคนได้เจอฉลามวาฬแบบใกล้ๆ เลย คือนักท่องเที่ยวจะลงไปดำสน็อกเกิล จอดเรืออยู่ก็สามารถลงไปว่ายน้ำดูปลาเห็นชัดเจนเลย ไม่ต้องดำน้ำลึกก็สามารถมองเห็นได้ คิดว่าที่ปีนี้เราได้เห็นฉลามวาฬเยอะขึ้นน่าจะมาจากเรื่องอุณหภูมิของน้ำที่เย็นขึ้นนิดหน่อย พอกระแสน้ำเย็นพัดมาก็จะพาเอาแพลงก์ตอนขึ้นมาด้านบนด้วย ทำให้ฉลามวาฬมาหากินให้เราเห็น”

“สำหรับตัวผมในปีนี้ลงดำน้ำแล้วเจอฉลามวาฬที่เกาะสุรินทร์ เค้าว่ายเข้ามาตามแนวหน้าหินกอง แต่ขนาดตัวไม่ใหญ่มากนัก แต่นักดำน้ำคนอื่นๆ ที่เขาดำอยู่แถวๆ เกาะตาชัย เกาะบอน เห็นว่าเจอกันค่อนข้างถี่มาก บางคนถ่ายรูปมาลงเยอะเลยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งช่วงเดือนกุมภาบางปีก็เจอถี่ อย่างเช่นปีนี้ แต่บางปีก็เจอแค่ตัวสองตัว”
ปีนี้ฉลามวาฬว่ายมาให้ดูกันใกล้ๆ เห็นชัดๆ แถวหมู่เกาะสุรินทร์ (ภาพจาก FB : Armi Blue)
นักดำน้ำชาวไทยยังเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่เจอฉลามวาฬกับตาตัวเองว่า “ครั้งแรกที่เจอฉลามวาฬ ก็เจอที่ริเชลิว สักเกือบสิบปีแล้ว หลังจากนั้นก็มาเจอแถวๆ อันดามันเหนือที่ค่อนข้างจะเห็นบ่อยหน่อย ครั้งแรกที่เจอมันตัวใหญ่มาก ใหญ่จนน่ากลัว ถ้าใครไม่เคยเจอมาก่อนแล้วมาเห็นตัวกลางๆ เล็กๆ ก็ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ แต่ถ้าไปเจอตัวใหญ่นี่จะค่อนข้างน่ากลัวนิดนึง มันจะดูมืดๆ มาเลย”

ส่วนพฤติกรรมของฉลามวาฬนั้น ณัฐพล อธิบายว่า “ฉลามวาฬจะว่ายน้ำช้าๆ ไปเรื่อยๆ ว่ายไปแบบไม่ค่อยจะสนใจอะไรเป็นพิเศษ เค้าจะว่ายแล้วก็กรองแพลงก์ตอนกินไปเรื่อยๆ แล้วก็ชอบมีปลาเหาฉลาม หรือปลาอื่นๆ ว่ายตามเค้ามา บางทีก็มีจำนวนเยอะเหมือนกัน แต่เค้าไม่เป็นอันตรายกับคนนะครับ เค้าเป็นสัตว์ตัวใหญ่ใจดี ยาวได้เป็น 10-12 เมตร”

สำหรับนักดำน้ำ หรือนักท่องเที่ยวที่ลงไปดำน้ำแล้วได้พบกับฉลามวาฬ ณัฐพลให้คำแนะนำว่า สามารถดำน้ำ ว่ายตามดูฉลามวาฬได้ แต่อย่าไปว่ายดักหน้าดักหลัง หรืออย่างไปสัมผัส แตะตัว หรือว่าเข้าใกล้ฉลามวาฬมากนัก ควรจะรักษาระยะห่างประมาณ 3-4 เมตร เนื่องจากฉลามวาฬว่ายน้ำแล้วไม่ค่อยสนใจรอบข้าง จะว่ายน้ำไปเรื่อยๆ ถ้าเราไปว่ายน้ำตามหลังอาจจะโดนหางฟาดมาได้ ค่อนข้างเป็นอันตราย

หากใครที่อยากจะไปชมฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล สิ่งหนึ่งที่ควรระลึกไว้เสมอก็คือ เราต้องช่วยกันปกป้องและรักษาท้องทะเลอันเป็นบ้านและที่อยู่อาศัยของฉลามวาฬ รวมถึงสัตว์น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลาย เพราะหากบ้านสกปรก ก็คงไม่มีใครอยากจะอาศัยอยู่ และวันนั้นเราก็คงจะไม่ได้เห็นฉลามวาฬในท้องทะเลไทยอีกต่อไป

 
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *  
 
 
จุดที่มักพบฉลามวาฬในทะเลไทย 
แม้ว่าฉลามวาฬจะพบได้ทั่วไปในท้องทะเลไทย (ที่มีน้ำค่อนข้างลึก) แต่มีจุดดำน้ำบางจุดที่สามารถพบฉลามวาฬได้บ่อยกว่าที่อื่น ดังนี้
 
กองหินริเชลิว ทะเลอันดามันเหนือ พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ รวมถึงเกาะบอน เกาะตาชัย ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่พบฉลามวาฬบ่อยที่สุด โดยจะพบประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน
 
หินม่วง-หินแดง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา พบช่วงเดือนมกราคม
 
เกาะเต่า-เกาะนางยวน จ.สุราษฎร์ธานี
 
ทะเลชุมพร บริเวณหินแพ เกาะง่ามใหญ่-เกาะง่ามน้อย 
 
กองหินโลซิน ฝั่งอ่าวไทย มักพบในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
 
เกาะตะรุเตา จ.สตูล
 
ระยอง-ตราด บริเวณเกาะรัง จ.ตราด เกาะทะลุ, หมู่เกาะมัน, หินเพลิง จ.ระยอง จะพบฉลามวาฬทางอ่าวไทยฝั่งตะวันออกในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์
 
 
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น