xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่งเตรียมโละ ‘รถเมล์เก่ากินน้ำมัน’ นับหมื่นคัน แก้ปัญหาอากาศเป็นพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายประชาสัมพันธ์ของทางการกรุงปักกิ่งแสดงข้อความ “ยกระดับคุณภาพอากาศ เราทุกคนช่วยได้” ตั้งอยู่ด้านหน้าอนุสาวรีย์วีรบุรุษ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 24 ธ.ค. ซึ่งทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยหมอกหนา (ภาพ – รอยเตอร์ส)
รอยเตอร์ส - กรุงปักกิ่งเล็งโละทิ้ง ‘รถเมล์เก่ากินน้ำมัน’ หมื่นกว่าคัน พร้อมซื้อรุ่นใหม่แบบรักษ์สิ่งแวดล้อม หวังลดปัญหาอากาศเสียเรื้อรัง

ซินหวา สื่อทางการจีน อ้างรายงานของสำนักงานขนส่งมวลชนและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครปักกิ่ง ระบุ ทางการเตรียมดำเนินโครงการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางรุ่นใหม่ เพื่อช่วยส่งเสริมนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยรถโดยสารประจำทางชุดใหม่ จำนวน 14,000 คัน ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก จะถูกทยอยนำมาทดแทนรถโดยสารประทางรุ่นเก่าราว 2 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งวิ่งด้วยน้ำมันภายในปี 2560

ทั้งนี้ชาวจีนในกรุงปักกิ่งต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศสุดเลวร้ายมาตั้งแต่ต้นปี 2556 โดยในเดือน ม.ค. หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นสามารถวัดค่าดัชนีฝุ่นพิษขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม2.5 (PM2.5) ได้สูงถึง 755 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 38 เท่าจากมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

โดยคุณภาพอากาศที่มีทีท่าย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องของจีนเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งรีบตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา หลังการประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำคนสำคัญในปี 2521 ที่พลิกบทบาทและปลุกมังกรหลับใหลให้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกดังเช่นปัจจุบัน

ทว่าประชาชนจีนส่วนใหญ่ก็เริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะการรับมือกับคลื่น “หมอกพิษ” ที่แพร่กระจายแทบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และคุกคามสุขภาพร่างกายให้ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ต่อชนชั้นผู้นำซึ่งต่างหวั่นเกรงว่าความไม่พอใจของพลเมืองอาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นและเสถียรภาพโดยรวมได้

ด้วยเหตุนี้ทางการจีนจึงมิอาจเพิกเฉยหรือนิ่งนอนใจ โดยที่ผ่านมาได้ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขหลากหลายด้าน เช่น การกำหนดวันวิ่งของรถยนต์ส่วนบุคคลตามเลขทะเบียนคู่-คี่ หรือการงดการเรียนการสอนในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ ลงชั่วคราว ยามที่สภาพอากาศเลวร้ายและเป็นภัยต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น