เอเยนซี - โออีซีดี พบว่า การศึกษาระดับมัธยมในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้คะแนนสูงสุดในโลก โดยจีนนำรวด นักเรียนในเซี่ยงไฮ้ ได้อันดับหนึ่งในทุกด้าน ทั้ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และ การอ่าน
สื่อต่างประเทศ เผย (4 ธ.ค.) ผลสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือ และพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี พบว่า การศึกษาระดับมัธยมในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้คะแนนสูงสุดในโลก โดยจีนนำรวด นักเรียนในเซี่ยงไฮ้ ได้อันดับหนึ่งในทุกด้าน ทั้ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และ การอ่าน ตามติดด้วย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
รายงานการสำรวจครั้งล่าสุด นี้จัดทำโดยโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ Programme for International Student Assessment (Pisa) ซึ่งวัดผลการเรียนรู้จากนักเรียนวัย 15 ปี มากกว่า 5 แสนคน ในหลายภูมิภาค รวม 65 ประเทศ (กลุ่มชาติสมาชิก 34 ประเทศ และประเทศกำลังพัฒนาอีก 31 ชาติ) ทุกๆ 3 ปี ระบุว่า นักเรียนฮ่องกง ติดอันดับสูงในการสำรวจผลการเรียนโดยได้อันดับสองในวิชาวิทยาศาสตร์ และการอ่าน ดีขึ้นกว่าปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ขณะที่วิชาคณิตศาสตร์อยู่อันดับ 3 ของโลก และเมื่อเทียบกลับประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับ 2 ในวิชาคณิตศาสตร์ และอันดับ 3 ในวิชาวิทยาศาสตร์และการอ่าน จัดว่าพัฒนาการของฮ่องกงยังไม่ก้าวหน้านัก
ศาสตราจารย์ เอสเตอร์ โห สุ่ย ผู้อำนวยการศูนย์ประเมินผลการเรียนรู้ระหว่างประเทศ สาขาฮ่องกง กล่าวว่า แม้ฮ่องกงจะพัฒนาขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่น่าวิตกนัก และว่าไม่ทราบถึงวิธีการเตรียมเด็กเพื่อเข้าสอบฯ ในจีน และสิงคโปร์ เด็กนักเรียนฮ่องกง เข้าสอบแบบสบายๆ ไม่ได้มีการเตรียมกวด ติวเข้มเพื่อเข้าสอบวัดผล นอกจากนี้ผลสำรวจสะท้อนว่า บรรดาโรงเรียนในเอเชียตะวันออก อาทิ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ได้ก้าวสู่ความเป็นวิชาการ ด้วยการสอนให้นักเรียนแก้ปัญหาในห้องเรียนมากขึ้น และเลิกวิธีการเรียนการสอนแบบท่องจำ สามารถต่อยอดในเรื่องที่ได้รับการสอนมา และสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้อย่างสร้างสรรค์
ทั้งนี้ การคัดเด็กนักเรียนเข้าสอบครั้งนี้ ฮ่องกงได้สุ่มเลือกเด็กนักเรียนทุนรัฐบาล 5,000 คน ให้เข้าสอบแบบไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน เมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคมปีที่แล้ว
โห ยังกล่าวว่า รัฐบาลควรส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนให้ประสบความสำเร็จ แต่นั่นยังไม่พอ เพราะควรจะสนับสนุนให้พวกเขาก้าวหน้าไปในการเรียนรู้มากกว่าจะหยุดเพียงดูที่ผลการสอบ โดยรัฐบาลจีนควรพัฒนาบุคลากรครู สนับสนุนทรัพยากรทางด้านการเรียนการสอน และสร้างความหลากหลายของวิธีการสอนอันหลากหลายรองรับความสามารถของเด็กๆ ที่แตกต่างกัน
โฆษกสำนักงานการศึกษา กล่าวว่า ผลการสอบแสดงให้เห็นความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาของฮ่องกง ทั้งในด้านการอ่านเพื่อเรียนรู้ ทักษะด้านการคำนวณ และคิดวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์
รายงานยังระบุ ผลประเมินในด้านระบบการศึกษาที่ดีที่สุดว่า ลิคเทนสไตน์ สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ครอง 3 อันดับแรกของประเทศที่ระบบการศึกษาที่ดีที่สุด ส่วนเยอรมนี และโปแลนด์ มีความก้าวหน้าในเรื่องการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก