xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ ‘จีน’ แชมป์ปล่อยคาร์บอนฯ กระตุ้นโลกพ่นก๊าซเรือนกระจก 3.6 พันล้านตันในปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายชาวจีนเดินผ่านโรงเผาไหม้ถ่านหินแห่งหนึ่งในเมืองหลิงอู่ เขตปกครองตนเองหนิงซย่า ชนชาติหุย ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ (แฟ้มภาพ - รอยเตอร์ส)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเผยผลวิจัยล่าสุด ระบุ ปี 2556 โลกจะปลดปล่อยก๊าซพิษ “คาร์บอนไดออกไซด์” สู่ชั้นบรรยากาศกว่า 36,000 ล้านตัน โดยมี “จีน” และการเผาไหม้ถ่านหินเป็นสาเหตุสำคัญ หวั่นซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนให้รุนแรงยิ่งขึ้น

จากการเปิดเผยรายงานการวิจัยประจำปีของโกลบอล คาร์บอน โปรเจค (Global Carbon Project: GCP) จัดทำโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 49 รายจาก 10 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั่วโลก ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการผลิตปูนซีเมนต์ของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.2 และจากการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจปี 2556 คาดการณ์ว่าก๊าซคาร์บอนฯ จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.1 แตะระดับ 36,000 ล้านตันเป็นอย่างน้อย โดยมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินของประเทศจีนเป็นตัวแปรสำคัญ

โดยจากบันทึกสถิติล่าสุด ปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ จากการเผาไหม้ถ่านหินอยู่ที่ 35,000 ล้านตัน ซึ่งสูงขึ้น 58 เปอร์เซ็นต์จากปี 2533 อันเป็นปีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจก (greenhouse-gas) ของโลก ทว่าอัตราการปล่อยก๊าซฯ ของปี 2555 และปี 2556 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ในช่วง 10 กว่าปีมานี้

ทั้งนี้ จีนกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยก๊าซคาร์บอนฯ กว่าร้อยละ 70 ของปี 2555 เกิดจากจีน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.9 เปอร์เซ็นต์จากปี 2554 อย่างไรก็ดี มันยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของจีน ซึ่งอยู่ที่ 7.9 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าปัจจุบันจีนได้หันมาใช้แหล่งพลังงานน้ำหรือพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น ดังเช่นปี 2555 ที่มีปริมาณการใช้งานพลังงานทางเลือกกว่าร้อยละ 25 แต่มันยังไม่เพียงพอจะชดเชยการใช้พลังงานถ่านหินร้อยละ 68 ของจีน ที่เกินเส้นมาตรฐานที่ควรจะเป็นขึ้นอีก 6.4 เปอร์เซ็นต์
คนงานกำลังคัดแยกเศษก้อนกรวดออกจากถ่านหินบนรางสายพานภายในโรงเผาไหม้ถ่านหินแห่งหนึ่งในเมืองไหวเป่ย มณฑลอันฮุย (แฟ้มภาพ - รอยเตอร์ส)
นอกจากนั้น ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ ญี่ปุ่นที่ร้อยละ 6.9 และเยอรมนีที่ร้อยละ 1.8 เนื่องจากการสับเปลี่ยนมาพึ่งพาเชื้อเพลิงถ่านหินแทนพลังงานนิวเคลียร์ อินเดียที่ร้อยละ 7.7 ด้วยอัตราการเผาไหม้ถ่านหินที่สูงขึ้น 10.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรป (EU) มีอัตราในภาพรวมลดลงร้อยละ 1.3

ทางด้านสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงอันดับ 2 ต่อจากจีน กลับมีการปล่อยก๊าซฯ ลดลงร้อยละ 3.7 ในปี 2555 โดยเป็นผลมาจากการเผาไหม้ถ่านหินที่ลดลงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการดำเนินนโยบายที่เน้นรักษาแหล่งพลังงานฟอสซิลของประเทศ

“หากการปล่อยก๊าซฯ ของสหรัฐฯ ยังคงลดลงเช่นช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะทำให้จีนเขยิบแซงสหรัฐฯ ขึ้นไปอีกในช่วงปี 2563-2568” ความเห็นของ Glen Peters นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศระหว่างประเทศ (Centre for International Climate and Environmental Research - Oslo: CICERO) กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในทีมวิจัยครั้งนี้

อย่างไรก็ดี จีนซึ่งถือเป็นประเทศกำลังพัฒนา กล่าวตำหนิว่า ผู้ร่ำรวยอย่างประเทศพัฒนาแล้วควรรับภาระในเรื่องโลกร้อนเช่นกัน เพราะพวกเขาเองก็เป็นคนริเริ่มปัญหา และอัตราการปล่อยก๊าซฯ ต่อคนในประเทศพวกเขาก็สูงกว่าในประเทศยากจนกว่าอยู่มาก โดยอัตราการปล่อยก๊าซต่อคน (per capita emissions) เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในวงการสภาพอากาศโลก ซึ่งจีนมีอัตราดังกล่าวสูงถึง 7 ตันต่อประชากร 1 คน

“แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีฐานะมากขึ้น แต่จีนก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีราคาค่างวดอันแพงลิบที่ต้องจ่ายคืนให้สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน” ปีเตอร์ส กล่าว

อนึ่ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide: CO2) เป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) ชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ การผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบระดับความเข้มข้นของก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศสูงเกิน 400 ส่วนใน 1 ล้านส่วน (parts per million: ppm) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ ณ ศูนย์สังเกตการณ์เมานาโลอา (Mauna Loa) ในฮาวาย สหรัฐฯ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่า โลกกำลังทวีคูณอุณหภูมิของตัวเองเพิ่มอีก 2 เท่าตัวจากที่ยูเอ็นเคยคำนวณไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้ง อุทกภัย พายุ และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงอย่างรุนแรงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น