xs
xsm
sm
md
lg

“พงษ์ศักดิ์” ย้ำไทยเสี่ยงนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดหลังสำรองปิโตรเลียมเหลือใช้เพียง 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พงษ์ศักดิ์” ตอบกระทู้สมาชิกวุฒิสภา “อนาคตไทยหลังสิ้นสุดเชื้อเพลิงฟอสซิล” เร่งแผนกระจายเชื้อเพลิง-ขุดสำรวจหาปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่ม หากไทยยังไม่มีการต่ออายุสัมปทานหรือเปิดสัมปทานใหม่ เผยปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์ได้ หรือ Proved Reserve ใช้ได้อีก 4 ปี พร้อมวางยุทธศาสตร์กำหนดทิศทางพลังงานของประเทศระยะยาวเสริมความมั่นคง


นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวตอบกระทู้ของสมาชิกวุฒิสภา ในประเด็น “อนาคตของประเทศไทยภายหลังการสิ้นสุดของเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล” ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอยู่มาก ซึ่งในปีที่ผ่านมาความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ขณะเดียวกัน ไทยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์ได้ (Proved Reserve) ใช้ได้อีกเพียง 4 ปีเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นไทยจะต้องนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดเพื่อมาใช้ในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีการเปิดให้มีการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อหาสำรองใหม่ๆ พัฒนาเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาทดแทนและต้องสร้างความตระหนักกับทุกภาคส่วนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้พลังงานสามารถมีใช้ได้นานยิ่งขึ้น

“อนาคตประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งพลังงานปิโตรเลียมเพื่อหาสำรองใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อเป็นการขยายอายุสัมปทานเพราะปัจจุบันหลายบริษัทที่ได้สัมปทานปิโตรเลียมก็กำลังจะหมดลงหากไม่มีความชัดเจนถึงการต่ออายุหรือเปิดสัมปทานใหม่ๆ ก็จะทำให้ไม่มีการลงทุนเพิ่ม” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้มีการจัดเตรียมแผนที่จะรองรับกับการขาดแคลนพลังงานในอนาคตที่จะสูงขึ้นได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2555-2573 โดยเน้นกระจายชนิดเชื้อเพลิงให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากฟอสซิล แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554-2573) โดยมีเป้าหมายลดการใช้น้ำมันลง 25% ในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2548 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทด้านพลังงานของประเทศ 20 ปีเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานในระยะยาวเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานที่สังคมยอมรับและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น นายพงษ์ศักดิ์ได้กล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมและความเข้าใจในเรื่องของนิวเคลียร์ โดยล่าสุดประเทศไทยได้มีความร่วมมือกับจีนในการถ่ายทอดความรู้ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ส่งบุคลากรเพื่อเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการพลังงานนิวเคลียร์และเรียนรู้เรื่องการบริหารความปลอดภัยภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ยังคงไม่สามารถรองรับในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำทำให้ปริมาณไฟฟ้าไม่แน่นอน ซึ่งการสร้างเขื่อนเป็นไปเพื่อการชลประทานและการเกษตรมากกว่า ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในระยะยาวถือเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่มีศักยภาพ แม้ว่าที่ผ่านมาภาพของโรงไฟฟ้าแม่เมาะยังอยู่ในความไม่เข้าใจของประชาชนและเกิดความหวาดกลัว แต่โรงไฟฟ้าแม่เมาะในปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องจักรเพื่อรักษามลภาวะทำให้อากาศที่แม่เมาะมีคุณภาพที่ดีกว่ากรุงเทพฯ

ทั้งนี้ สำหรับเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีระบบปิดทั้งหมด ตั้งแต่ระบบขนส่งจนถึงการผลิต รวมถึงการปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศ ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่สะอาด ขณะเดียวกันถ่านหินมีปริมาณสำรองทั่วโลกอยู่มากและราคาก็มีเสถียรภาพมากกว่าน้ำมันทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินต่ำกว่า แต่กระบวนการสร้างการเรียนรู้โรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงต้องสร้างความเข้าใจต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
กำลังโหลดความคิดเห็น