สำหรับบรรษัทข้ามชาติที่หวังเข้าเจาะตลาดจีนแล้ว ใครเล่าจะอาจหาญท้าทาย “ล้ำเส้น” ที่ผู้นำมังกรขีดไว้ แม้กิจการสื่อมวลชน ที่มี “จิตวิญญาณเสรีภาพ” เป็นคำขวัญในบทบาทหน้าที่ ก็ไม่เว้น ดังจะเห็นได้ชัดแจ้งจากกรณี ยักษ์ใหญ่สำนักข่าวโลก ที่ผู้สื่อข่าวถูก”เตะโด่ง” เหมือนลูกฟุตบอล ออกจากสนามลูกแล้วลูกเล่า
ล่าสุด ยักษ์ใหญ่สำนักข่าวสัญชาติอเมริกัน รอยเตอร์ และบลูมเบิร์ก ก็ได้รับบทเรียนอันเจ็บปวด และดิ้นรนหาทางได้อยู่ทำมาหากินในตลาดใหญ่สุดในโลกของพญามังกรต่อไป
หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานเมื่อวันศุกร์(8 พ.ย.) กระทรวงต่างประเทศจีนได้แจ้งการไม่อนุมัติวีซ่าผู้สื่อข่าวอาวุโสแห่งรอยเตอร์ คือ นายพอล มูนีย์ (Paul Mooney) โดยมิได้อธิบายเหตุผลใด มูนีย์บอกว่าวีซ่าฉบับก่อนหน้าของเขาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ หมดอายุไปเมื่อปีที่แล้ว(2555)
นาย มูนีย์ ได้ยื่นขอวีซ่าไปเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจีนบังคับใช้มาตรการคุมเข้มในการอนุมัติวีซ่าแก่ชาวต่างชาติ
“จีนเป็นอนาคตของผม ผมไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะมาจบลงแบบนี้ ผมเสียใจและผิดหวังมาก” นี่คือ คำกล่าวของมูนีย์ ผู้รักในวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นชีวิตจิตใจ เป็นผู้สื่อข่าวหัวเห็ดประจำภูมิภาคเอเชียราว 30 ปี และรายงานข่าวจากกรุงปักกิ่งในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา
รอยเตอร์ส บอกแก่มูนีย์ ว่าจะไม่เซ้าซี้จีนในเรื่องนี้อีกต่อไป และบาร์บ บูร์จ (Barb Burg) โฆษกหญิงของรอยเตอร์ในนิวยอร์ก แถลงว่า “เรากำลังพิจารณาตำแหน่งอื่นๆให้แก่พอล”
มูนีย์กล่าวว่าการที่จีนปฏิเสธวีซ่าแก่เขานั้น เชื่อมโยงกับการรายงานกรณีละเมิดสิทธิมนุษย์ชนในจีน
ในวันสุดสัปดาห์เดียวกัน มีรายงานข่าวเผยว่า บรรณาธิการใหญ่ค่ายสำนักข่าวที่มุ่งเน้นด้านการเงินค่ายบลูมเบิร์ก คือนาย แมทท์ธิว วินเคลอร์ (Mattthew Winkler) ในกรุงนิวยอร์ก ก็ได้โทรประชุมทางไกลกับผู้สื่อข่าว 4 คนในฮ่องกง แจ้งเรื่องระงับการเผยแพร่รายงานข่าวสืบสวนสอบสวนที่เจาะรายละเอียดสัมพันธ์ซ่อนเร้นระหว่างกลุ่มอภิมหาเศรษฐีและครอบครัวของเหล่าผู้นำใหญ่ในจีน ซึ่งก็ได้สร้างความคับข้องใจแก่ผู้สื่อข่าวที่เจาะข่าวนี้กันมาเป็นปี
พนักงานคนหนึ่งของ บลูมเบิร์ก เล่าว่าระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อปลายเดือนที่แล้ว วินเคลอร์ยังได้กล่าวปกป้องการตัดสินใจของเขา โดยเปรียบเทียบการที่สำนักข่าวต่างประเทศต้องเซนเซอร์ตัวนั้น เหมือนกับการดิ้นรนหาทางรายงานข่าวในประเทศเยอรมนียุคนาซี
“เขาบอกว่า หากเราปล่อยรายงานข่าวออกไป พวกเราก็จะถูกเตะออกจากจีน” ผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง เผย
อย่างไรก็ตาม พนักงานหลายคนของบลูมเบิร์กในฮ่องกง กล่าวว่า วินเคลอร์ยืนยันว่าความวิตกกังวลของเขาคือ นักข่าวสามารถทำงานในประเทศจีนต่อไป มิใช่การปกป้องผลประโยชน์ผลกำไรของบริษัท กระนั้นก็ตามบรรดาพนักงานบลูม เบิร์กในฮ่องกง กล่าวว่าจากการโทรประชุมทางไกลกัน บรรณาธิการใหญ่สร้างความกระจ่างแล้วว่าบริษัทต้องล่าถอยจากการเจาะประเด็นและรายงานข่าวหลายๆด้านของชาติเศรษฐกิจอันดับสองของโลกนี้
บลูมเบิร์กเริ่มสร้างความโกรธเกรี้ยวแก่รัฐบาลพญามังกรเมื่อปีที่แล้ว โดยนำเสนอชุดรายงานข่าวความมั่งคั่งส่วนตัวบุคคลในครอบครัวของผู้นำสูงสุดในจีน รวมทั้งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
นับจากนั้นมา การทำงานของบลูมเบิร์กในจีน ก็สะดุดตอมาตลอด ทั้งการอนุมัติวีซ่าแก่กลุ่มผู้สื่อข่าวใหม่ และยอดขายข้อมูล/ข่าวด้านการเงินให้แก่กลุ่มวิสาหกิจรัฐจีนก็ชะลอตัวลง ขณะที่ผู้นำจีนย้ำหลายครั้งว่ารายงานข่าวเรื่องความมั่งคั่งและการใช้ชีวิตส่วนตัวของกลุ่มผู้นำใหญ่จีนนั้น เป็นการล้ำเส้นแดง
เมื่อบลูมเบิร์กเผยแพร่บทความเกี่ยวกับความมั่งคั่งของสี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2555 เจ้าหน้าที่จีนก็บล็อกเว็บไซต์ข่าวบลูมเบิร์กในทันใด ทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าดูข่าวบลูมเบิร์กผ่านเซอเวอร์จีนได้ นอกจากนี้จีนยังไม่ไฟเขียววีซ่าอาศัยในจีนระยะยาวแก่กลุ่มผู้สื่อข่าวใหม่ของบลูมเบิร์ก
พนักงานบลูมเบิร์กเผยกรณีล่าสุด คือ ผู้สื่อข่าวสองคนของบลูมเบิร์ก คือ มิเชล ฟอร์ไซธ (Michael Forsythe) และ ไช ออสเตอร์ (Shai Oster) ผู้ร่วมเขียนรายงานชำแหละความมั่งคั่งของครอบครัวชนชั้นนำจีนเมื่อปีที่แล้ว ได้เขียนรายงานเปิดโปงกลุ่มมหาเศรษฐีที่มีสัมพันธ์การเงินกับเครือญาติของสมาชิกในคณะกรรมการหระจำกรมการเมือง หรือโปลิตบูโร โดยบทความชิ้นนี้ถูกตรวจทานข้อเท็จจริงโดยบรรณาธิการใหญ่อย่างถี่ถ้วน และก็พอใจบทความมาก แต่ในเดือนต่อมา บรรณาธิการอาวุโสก็แจ้งแก่บรรณาธิการในฮ่องกง มิให้เผยแพร่บทความชิ้นนี้
บรรณาธิการอาวุโสอธิบายว่า บทความชิ้นนี้ยังขาดหลักฐานที่แน่ชัดพอ และพวกมหาเศรษฐีที่ไหนก็ล้วนมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทั้งนั้น นอกจากนี้บทความชิ้นใหม่นี้ก็ไม่มีข้อมูลใหม่ไปกว่าบทความชุดเก่าที่บลูมเบิร์กได้นำเสนอไปเมื่อปีที่แล้ว
“พวกเขายืนกรานว่า การสั่งเก็บบทความเป็นเหตุผลทางบรรณาธิการ มิใช่การเมือง” พนักงานบลูมเบิร์ก เผยโดยอ้างคำกล่าวของบก.อาวุโส และกล่าวต่อว่าเหตุผลที่แข็งแกร่งที่สุดที่บก.กล่าวคือ บลูมเบิร์กอาจถูกขับออกจากจีน พวกเขาต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการอยู่ในจีนให้นานที่สุด
ทั้งนี้ ปลายปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวแห่งนิวยอร์ก ไทม์ส นาย คริส บัคเคลย์ (Chris Buckley) ผู้อาศัยในจีนถึง 15 ปี ก็ถูกขับออกจากประเทศจีน โทษฐานนำเสนอรายงานสืบสวนสอบสวน เรื่องความมั่งคั่งมหาศาลของครอบครัวอดีตนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า
ก่อนหน้า ก็มีกรณีขับนักข่าวต่างชาติออกจากจีนที่ฮือฮามาก คือกรณีปิดสำนักงานสถานีโทรทัศน์ อัลจาซีรา (Al Jazeera) จากแดนอาหรับประจำกรุงปักกิ่งในเดือนพ.ค.(2555) หลังจากที่เจ้าหน้าที่ถอนใบอนุญาตสื่อและไม่ต่อวีซ่าแก่ เมลิสซา ชาน นักข่าวหญิงแห่งอัลจาซีราผู้มีเชื้อสายอเมริกัน-จีน ซึ่งทำข่าวในจีนนาน 5 ปี กระทรวงต่างประเทศจีนไม่แจ้งเหตุผลใด เพียงกล่าวว่า “นักข่าวต่างชาติจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ”
วงการชี้ว่าการปฏิเสธวีซ่าของชาน เป็นการโต้ตอบการรายงานข่าวด้านมืดสังคมจีน
ชาวเน็ตจีน “สีว์ หยวน” ได้โพสต์ในเว็บบล็อก ซีน่า (sina.com) พร้อมกับเขียนข้อความสั้นๆว่า “เมลิสซา ชาน ผู้สื่อข่าวแห่งอัลจาซีรา ถูกถอนใบอนุญาตผู้สื่อข่าว ชานยืนยันการสัมภาษณ์ของเธอ มิได้ฝ่าฝืนกฎหมายจีน รายงานข่าวของเธอ ได้แก่ กรณีคุกมืด ประเทศจีนสีเขียว งานเลี้ยงของหลวงจีน คอรัปชั่น และประเด็นอ่อนไหวอื่นๆของจีน จากบัญญัติมาตราบนหนังสือกฎหมาย ชานมิได้ฝ่าฝืนกฎหมาย แต่เธอได้ฝ่าฝืน “กฎยิ่งใหญ่ของผู้นำ””
พร้อมกันนี้ “สีว์ หยวน” ได้โพสต์เนื้อหาบทความ “Good Bye to China, country of contradiction” ของเมลิสซา ชาน ทั้งพากย์ภาษาอังกฤษ และพากย์ภาษาจีน
ในต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้เขียนร่วมกับกลุ่มบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวจากสื่อประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เยี่ยมชมและประชุมพูดคุยกับยักษ์ใหญ่สื่อแห่งนครเซินเจิ้น “เซินเจิ้น เพรส กรุ๊ป” (Shenzhen Press Group) บรรณาธิการหลายท่านถามถึง “เสรีภาพสื่อในจีน” เจ้าหน้าที่จากหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน หรือ พีเพิล เดลี่ ผู้จัดกิจกรรมฯ ขอตอบคำถามว่า สื่อมีเสรีภาพในการรายงานข่าว แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและหลักนโยบายของรัฐบาล เพราะเสถียรภาพความมั่นคงสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
นี่คือ “เสรีภาพสื่อแบบจีน” ที่บรรดานักข่าวต่างชาติต้องจดจำไว้ให้ดี หากไม่อยากถูกขับออกจากแผ่นดินใหญ่.