4 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นหนังสือถึง รมว.ไอซีที คัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนเสนอ ครม. ระบุเนื้อหาหลายส่วนยังขาดความชัดเจน และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การเสนอบล็อกเว็บโดยไม่ผ่านรัฐมนตรี การสำเนาภาพลามกโดยอัตโนมัติถือเป็นความผิด พร้อมจี้เปิดรับฟังความเห็นเพิ่มให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วม “อนุดิษฐ์” รับให้คำตอบใน 1 สัปดาห์
วันนี้ (24 ต.ค.) ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ได้ยื่นหนังสือ “ประกาศแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่” ถึง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ที่ยกร่างโดยคณะทำงานของกระทรวงไอซีทีและรอการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้พิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเนื้อหาของร่างฯ มีรายละเอียดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลและขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก เนื่องจากได้แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการปิดบล็อกเว็บไซต์ให้ง่ายขึ้น โดยตัดส่วนของการกลั่นกรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีออกไป และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มากขึ้นโดยปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งทำให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารถูกละเมิด
รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดรายละเอียดและมาตรฐานของการจัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 3 วัน อันขัดต่อแนวปฏิบัติและกฎกระทรวงท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่บังคับใช้อย่างน้อย 3 เดือน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย และมีการตีความในการใช้อำนาจเกินขอบเขต
นอกจากนี้ เนื้อหาที่แก้ไขของกฎหมายฉบับนี้ยังขัดต่อหลักโครงสร้างขั้นพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต และก่อให้เกิดความรับผิดแก่บรรดาผู้ประกอบการเว็บไซต์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการมือถือ ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป อันจะเห็นได้จากร่างกฎหมายที่ระบุให้การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์และการครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ลามกอนาจารที่ส่งผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและมือถือผิดกฎหมาย แม้ประมวลผลอัตโนมัติโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและก่อให้เกิดปัญหาในการตีความในภายหลัง
โดยหนังสือฉบับนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหาของร่างที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และให้มีการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว และควรตั้งตัวแทนจากองค์กรสื่อสารมวลชน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการเชื่อมต่อบนอินเทอร์เน็ต หรือผู้ประกอบการเว็บไซต์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เข้าร่วมเป็นตัวแทนในการพิจารณายกร่างดังกล่าวด้วย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวหลังจากรับมอบหนังสือจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ข้อห่วงใยต่อเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตนพอจะรับทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมกับรับปากจะไปดำเนินการให้มีความชัดเจน โดยให้คณะทำงานทำรายงานมาตามข้อเท็จจริง และคาดว่าจะได้คำตอบภายใน 1 สัปดาห์ รวมทั้งอาจมีการพิจารณาให้จัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มสื่อมวลชนโดยเฉพาะด้วย