บรรณาธิการข่าวการเมืองและสังคม ไทยพีบีเอส เดินทางมาพร้อมทนายความ พบพนักงานสอบสวน ปอท. ให้ปากคำกรณีโพสต์ข้อความทางการเมือง เบื้องต้นขณะนี้ตำรวจยังไม่แจ้งข้อหาต้องสอบข้อเท็จจริงก่อน ด้าน 4 องค์กรสื่อออกแถลงการณ์อัดกรณีดังกล่าวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนพึงกระทำได้ตามสิทธิเสรีภาพ!ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หรือก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด ชี้ตำรวจอาจใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าข่ายละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ!
วันนี้ (9 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หรือเป๊ปซี่ อดีตผู้สื่อข่าวสายทหาร นสพ.บางกอกโพสต์ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมนายนคร ชมพูชาติ ทนายความ เข้าพบ พ.ต.อ.วรรณวุฒิ ชาญนุกูล รอง ผบก.ปอท. เเละพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำ หลังถูกออกหมายเรียกกรณีที่ ใช้นามแฝง “Sermsuk Kasitpradit” ในเครือข่ายเฟซบุ๊ก โพสต์ข้อความบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก
นายนครเปิดเผยว่า วันนี้เดินทางมาตามนัดหมายที่เจ้าหน้าตำรวจได้เรียก ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เเจ้งข้อกล่าวหา เพียงเเต่เรียกมาเพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงทำความเข้าใจในสิ่งที่นายเสริมสุขได้โพสต์ข้อความ ซึ่งอาจไปส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ทีแรกคุณเสริมสุขได้โพสต์ข้อความเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องที่โพสต์นั้นคืออะไร มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ก่อนจะโพสต์อีกข้อความตามมาว่า ข่าวที่โพสต์ในตอนเเรกนั้นไม่น่าจะเป็นความจริงและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งได้บอกเจตนาในการโพสต์ข้อความให้พนักงานสอบสวนได้เข้าใจแล้ว หวังว่าจะเป็นประโยชน์และไม่ทำให้นายเสริมสุขต้องเป็นผู้ต้องหา
ด้านนายเสริมสุขกล่าวว่า มีการโพสต์เรื่องที่ลือกันว่าจะมีการยึดอำนาจรัฐประหาร ซึ่งตนในฐานะสื่อมวลชนและคลุกคลีอยู่กับทหาร พอมีเหตุการณ์แบบนี้ตนก็ได้พูดคุยกับนายทหาร และมีความคิดเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่จริง ไม่น่าเชื่อถือ จึงได้โพสต์ข้อความชี้แจงให้คนในสังคมได้รับรู้ว่าข่าวลือพวกนี้ไม่จริง
ทางด้าน พ.ต.อ.วรรณวุฒิกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล เพราะว่าเมื่อใครโพสต์ข้อความใดที่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ก็จะเชิญมาให้ปากคำ แต่การจะกล่าวหาว่าใครผิดหรือถูกนั้นขึ้นอยู่กับการสอบสวน พยานหลักฐานและเจตนาของผู้ที่โพสต์ไม่ใช่จะมุ่งจับทุกคนทั้งหมด สำหรับนายเสริมสุขถ้าผิดก็จะแจ้งข้อหาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับอีก 3 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่เรียกมาให้ปากคำนั้น ตอนนี้เข้ามาพบแล้ว 2 รายอีก 1 รายอยู่ระหว่างการติดต่อ ซึ่งทั้งหมดเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้แจ้งข้อหาต่อผู้ใด และสำนวนการสอบสวนของแต่ละคนนั้นถูกแยกออกจากกันเป็นคนละสำนวน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า การโพสต์ข้อความที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) เรื่องการนำข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้กระทบต่อความมั่นคง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งผู้ที่กดไลก์และกดแชร์ก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน
วันเดียวกัน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ออกจดหมายเปิดผนึกกรณีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ออกหมายเรียกบุคคลที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า
ตามที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ออกหมายเรียกบุคคลที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ที่โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก จำนวน 4 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการอาวุโสสายข่าวการเมืองและความมั่นคงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS นั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมกันพิจารณากรณีนี้แล้วเห็นว่าการโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ของบุคคลดังกล่าว ถือเป็นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลตามสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หรือก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงควร ใช้ดุลยพินิจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างเป็นธรรม โดยการตีความบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ความเชื่อหรือแรงกดดันทางการเมืองในการใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ อันมีลักษณะเป็นการข่มขู่ให้เกิดความกลัวแก่ประชาชนทั่วไปในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้
นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ยังเห็นว่าการกด like หรือ กด Share เป็นปรากฎการณ์ปกติและเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในสังคมออนไลน์ที่นิยมแสดงความคิดเห็นระหว่างกัน (Interactive) ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรตีความว่า การกด Like คือการร่วมลงชื่อรับรองข้อมูลอันเป็นความผิดดังกล่าว แม้มิได้เจตนาโดยตรงแต่เป็นเจตนาเล็งเห็นผลว่าการ Like นั้นให้ข้อมูลได้รับความเชื่อถือมากขึ้นย่อมเข้าองค์ประกอบความผิดในฐานะตัวการร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ การกด Like หรือกด Share ดังกล่าวต้องไม่เป็นการกระทำตามบทบัญญัติมาตรา 14 (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเจตนาเล็งเห็นผล (ซึ่งอาจได้รับโทษฐานเป็นตัวการร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือข้อมูล คอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาหรือข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
อย่างไรก็ตาม ขอให้สื่อมวลชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์พึงตระหนักว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงควรยึดถือแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. 2553 เป็นสำคัญ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Sermsuk Kasitipradit