เอเยนซี - นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นวันแห่งความสำเร็จของจีนในการส่งมนุษย์คนแรกของชาติขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ก็เป็นวันครบรอบ 10 ปีก้าวย่างแรกอันยิ่งใหญ่นี้ จีนยังคงมุ่งมั่น และดูเหมือนจะเป็นชาติเดียวในโลก ที่อุตสาหะกับความใฝ่ฝันเรื่องนี้ ขณะที่ชาติมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ได้ถอนตัว ทะยอยยุติโครงการต่างๆ ของนาซ่า แล้ว ด้วยปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
หยัง ลี่เหว่ย เป็นนักบินอวกาศคนแรกของจีน ที่ขึ้นสู่อวกาศโคจรรอบโลกได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2546 เขาเล่าว่าในปีนั้น เขาต้องบังคับยาน เสิ่นโจว5 โคจรรอบโลก 14 รอบ ในช่วงเวลา 21 ชั่วโมง แต่นั่นยังเป็นการเดินทางตามหลัง ยูริ กาการิน นักบินอวกาศโซเวียตรัสเซียถึง 40 ปี ซึ่งยุคนั้นมีเพียง รัสเซีย กับสหรัฐฯ สองชาติเพียงลำพัง ที่ทุ่มเทเกี่ยวกับอวกาศอย่างจริงจัง
หยังเล่าว่า ในวันที่เขาต้องเดินทางไปนอกโลก ด้วยความที่รัฐบาลจีนยังไม่มั่นใจว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ มันเป็นความฝันที่ยังไม่บรรลุ จีนไม่ต้องการเสี่ยงให้ใครเห็นภาพความล้มเหลว จึงตัดสินใจในนาทีสุดท้าย ยกเลิกการถ่ายทอดสดภารกิจยิงจรวดดังกล่าวที่เตรียมไว้ แต่นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ จีนมีนักบินอวกาศที่ออกเดินทางไปนอกโลกแล้ว 10 คน ภายใต้ปฏิบัติการอวกาศ 5 ภารกิจในรอบ 10 ปี ในจำนวนนั้น เป็นนักบินอวกาศหญิง 2 คน ยังไม่เคยล้มเหลว หรือย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ยังไม่นับรวมภารกิจสถานีอวกาศ เทียนกง-1 ขณะที่ภารกิจล่าสุดของยานเสิ่นโจว-10 เมื่อเดือนมิถุนายนที่่ผ่่านมา ก็มีการส่งสัญญาณทักทายระหว่างนักบินอวกาศนอกโลก กับประชาชน รวมทั้งผู้นำจีนที่เฝ้าดูการถ่ายทอดอย่าง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประสบการณ์ตลอด 10 ปี ทำให้ความมั่นใจของจีนจึงมีมากขึ้นๆ เป็นลำดับ
เอเอฟพี รายงานว่า ความสำเร็จของกิจการอวกาศจีน สร้างกระแสนิยมทำให้บริษัทต่างๆ ถือโอกาสทองวาระ 10 ปี นักบินอวกาศจีน ในปีนี้ ผลิตสินค้าหลากหลายประเภทวางจำหน่ายเป็นของที่ระลึกมากกมาย มีตั้งแต่ นาฬิกาข้อมือ ไปจนถึง น้ำมันเครื่องฯ รถยนต์กันทีเดียว นอกจากนั้นยังมีกาน้ำชาชุดพิเศษ ราคา 9,800 หยวน ที่ผู้ผลิตบอกว่า มีลายเซนต์ของนักบินอวกาศด้วย
สำหรับรัฐบาลจีนนั้น ภารกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานกลาโหมนี้ จัดเป็นภารกิจหน้าตาและลงหลักปักสถานะของจีนในบทบาทผู้นำโลก โดยยังเดินหน้าแผนงานอนาคต ถึงขนาดที่ว่าจะสามารถส่งคนไปลงดวงจันทร์ ภายในปลายปีนี้ ก่อนที่จะเปิดสถานีอวกาศในปี พ.ศ. 2566 อันเป็นเวลาที่สถานีอวกาศนานาชาติ ยุติปฏิบัติการร่วมกันระหว่าง สหรัฐฯ รัสเซีย ญี่ปุ่น แคนาดา และสหภาพยุโรป พอดีเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ ในปี 2554 สหรัฐฯ ได้ปฏิบัติภารกิจอวกาศครั้งสุดท้าย ขณะเดียวกันก็ตัดงบประมาณด้านนี้จนไม่สามารถทำอะไรได้อีก ล่าสุด เมื่อต้นเดือน ต.ค. ยังมีข่าวลือถึงขนาดที่ว่า เว็บไซต์ของนาซ่า ก็ดูจะไม่ได้พัฒนาเนื้อหาปฏิสัมพันธ์กับคนอ่านกันแล้วด้วย
มอร์ริส โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญกิจการอวกาศ ชาวออสเตรเลีย กล่าวกับเอเอฟพีว่า การโคจรในอวกาศของ หยัง เมื่อ 10 ปีก่อน เป็นสัญญาณชัดเจนแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสันติของจีน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความก้าวหน้าที่สามารถนำไปใช้ในทางการทหารได้ด้วย อาทิ เทคโนโลยีขีปนาวุธ
โจแอน จอห์นสัน ศาตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภารกิจป้องกันประเทศ จากโรงเรียนทหารในนิวพอร์ต ผู้ศึกษาติดตามภารกิจอวกาศของจีนอย่างต่อเนื่อง กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า ความสำเร็จในด้านอวกาศของจีนนั้น แม้ในเวลานี้จะเพียงระดับผู้นำภูมิภาค แต่ก็มีประโยชน์ใหญ่หลวงต่อการพัฒนาต่อยอดทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร
โจแอน กล่าวว่า ดูง่ายๆ อย่างการพัฒนาชุดอวกาศของจีน ซึ่งหลายๆ คนอาจไม่ทันสังเกต ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเจริญก้าวหน้าด้านวัสดุ ออกแบบผลิตเครื่องแต่งกาย รวมทั้งสร้างความตื่นตัว กระตือรือร้นให้เด็กๆ จีนรุ่นใหม่ สนใจในเทคโนโลยี
"ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์จีน"
แม้เวลานี้ จีนจะยังตามไล่หลังความสำเร็จของสหรัฐฯ กับ สหภาพโซเวียตในอดีต แต่ หยัง ซึ่งในปัจจุบัน เป็นรองผู้อำนวยการ หน่วยงานการบินอวกาศ ได้กล่าวในงานเทคโนโลยีอวกาศ ที่จีนจัดร่วมกับสหประชาชาติ ในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนได้รับข้อเสนอจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่สนใจในการร่วมมือด้านอวกาศ ซึ่งจีนก็ต้องการที่จะฝึกพัฒนากิจการร่วมกับนักบินอวกาศจากชาติอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เช่นกัน ดังนั้น ความต้องการของชาติต่างๆ ยังคงมีอยู่ ทว่าความที่ ผู้นำฯ อย่าง สหรัฐฯ กับรัสเซีย ไม่อยู่ในฐานะที่จะรองรับความต้องการเหล่านี้ได้ ย่อมทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำฯ แทนที่ได้โดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม โจแอน ชี้ว่า แผน 30 ปีอวกาศจีน ที่ผ่านมาได้ 10 ปีแรกนี้ แม้จะสร้างข้อได้เปรียบในระยะยาวให้กับจีน แต่ในระยะสั้นนี้ แน่นอนว่าภารกิจที่สิ้นเปลืองมหาศาลโดยไม่เห็นประโยชน์รูปธรรมแบบจับต้องได้ต่อประชาชนอย่างนี้ คงไม่สามารถเป็นไปได้ในประเทศที่เจตจำนงทางการเมืองของผู้นำ ต้องขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงความนิยมทุกรอบวาระการเลือกตั้งของประชาชน และแน่นอนเป็นเรื่องยากมากในระบอบประชาธิปไตย