เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของยุโรปรับบททีมสำรอง ช่วยจีนปล่อยยานฉางเอ๋อ 3 ออกเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์วันนี้ (จันทร์) โดยจะทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณการบัญชาการและคำสั่งต่าง ๆ ไปยังยาน ในกรณีจีนเกิดปัญหาผิดพลาดในการสื่อสาร
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญของยุโรป ที่ปรารถนาจะกระชับความร่วมมือด้านโครงการสำรวจอวกาศกับจีน และไปให้ถึงขั้นที่มั่นใจได้ว่าจะได้ที่นั่งหนึ่งในยานเสินโจว จากการเปิดเผยของนายโทมัส ไรเตอร์ อดีตนักบินอวกาศของเยอรมนี และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเที่ยวบินอวกาศของมนุษย์และปฏิบัติการ (Human Spaceflight and Operations) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA)
ด้านรัฐบาลปักกิ่งเองก็กำลังเปิดกว้างยอมรับการเข้าร่วมจากต่างชาติในโครงการอวกาศ ที่ครั้งหนึ่งจีนเคยป้องกันอย่างยิ่งยวด โดยในระหว่างการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเดินทางไปอวกาศ ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานด้านอวกาศเข้าร่วมจำนวนมากที่กรุงปักกิ่งเมื่อสิ้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของจีนพยายามดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อ “ขาย” ผลประโยชน์จากโครงการอวกาศของจีน และเชื้อเชิญให้มาร่วมมือกัน
ศาสตราจารย์มอริซิโอ ฟาลังกา ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์จากชาติตะวันตกผู้หนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่กำลังทำงานอยู่ในจีนเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของจีนโดยตรง โดยปัจจุบันเขารับผิดชอบดูแลสถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศนานาชาติ (ISSI) ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์อวกาศแห่งชาติในเขตไห่เตี้ยนในกรุงปักกิ่ง
“ผมรู้สึกเป็นอิสระและสะดวกสบายเหมือนอย่างที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ” เขากล่าว
ISSI เป็นหน่วยงานวิจัย ที่ไม่แสวงหากำไร โดยร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์ของจีน(CAS) และสถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศระหว่างประเทศในกรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์
ศูนย์อวกาศแห่งชาติเป็นที่กำเนิดของดาวเทียม ที่จีนสร้างขึ้นเองดวงแรก ตลอดจนเป็นสถานที่ดำเนินการค้นคว้างานด้านอวกาศทุกมิติของแดนมังกร ฟาลังกากล่าวว่า มีบางส่วนที่เขาไม่สามารถเข้าไปได้ แต่ก็เป็นข้อบังคับเช่นเดียวกับในองค์การอวกาศยุโรป หรือในองค์การนาซ่าของสหรัฐฯ
เมื่อทศวรรษที่แล้ว นับเป็นเรื่องเหลือเชื่อ หากมีชาวตะวันตกสักคนทำงานอยู่ในศูนย์กลางการค้นคว้าพัฒนาด้านงานอวกาศของจีน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตครองความเป็นจ้าวด้านโครงการอวกาศ
การเปิดประตูต้อนรับความร่วมจากยุโรปก่อผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย โดยผู้เชี่ยวชาญจากยุโรป ที่ถูกตัดงบประมาณจากรัฐบาลของตน จะสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เมื่อร่วมมือกับจีน ขณะเดียวกัน จีนก็จะได้รับเทคโนโลยี่ใหม่ และเรียนรู้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่แตกต่างออกไป นอกจากนั้น ยุโรปยังจะสามารถส่งนักบินอวกาศของตนเดินทางไปในอวกาศได้ต่อไป หลังจากโครงการกระสวยอวกาศของสหรัฐฯ สิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างจีนกับยุโรปยังมีหนทางอีกไกลกว่าจะบรรลุเป้าหมาย โดยยุโรปเองก็มิได้ตั้งเป้าว่าจะเข้าร่วมการเดินทางไปอวกาศภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่จีนวางแผนสร้างสถานีในอวกาศของจีนให้เสร็จสมบูรณ์ นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าที่นักบินอวกาศจากยุโรป หรือสหรัฐฯ จะเดินทางไปอวกาศด้วยยานเสินโจวของพญามังกร