xs
xsm
sm
md
lg

Prisoners + Gravity : หนังดีสิบดาว/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของทุกๆ ปี นับเป็นช่วงเวลาที่ดีของคนดูหนัง เพราะช่วงนี้มักจะมีหนังดีๆ ทยอยเข้าฉาย ซึ่งนั่นหมายถึงการใกล้เข้ามาของเทศกาลประกาศผลรางวัลใหญ่ๆ ระดับสากลด้วย ทั้งลูกโลกทองคำและออสการ์ แน่นอนว่า ทั้ง Gravity และ Prisoners ซึ่งพร้อมใจเข้าฉายเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีความดีความเด่นเพียงพอต่อการเรียกความสนใจจากเวทีรางวัลทั้งสอง

แซนดร้า บูลล็อก ดารานำหญิงแห่ง Gravity หรือจอร์จ คลูนี่ย์ จากเรื่องเดียวกันก็มีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อเข้าชิง (จะนำชายหรือสมทบชายก็ตามแต่) ขณะที่ฮิวจ์ แจ็กแมน กับ เจค จิลเลนฮาล จาก Prisoners ก็มีโอกาสถูกขานชื่อเข้าชิงรางวัลได้ทั้งนั้น นั่นยังไม่นับรวมมวลสารด้านอื่นๆ ทั้งบทหนัง การกำกับ ไปจนถึงเทคนิคงานสร้าง ซึ่งมีพลังเหมาะสมเพียงพอกับรางวัลเช่นเดียวกัน และที่สำคัญ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเอ่ยอ้างได้ลำบากว่าชอบเรื่องไหนมากกว่าระหว่างสองเรื่องนั้น เพราะแต่ละเรื่องก็มีแนวทางเป็นของตัวเองและดูเหมือนจะทำออกมาได้เยี่ยมในแนวของตน

ผมชอบกราวิตี้ เพราะรู้สึกว่า จากหนังที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนอกไปจากคนสองคนที่ติดอยู่บนห้วงอวกาศแล้วก็ลอยไปลอยมา แต่หนังกลับทำให้เรื่องราวดูมีอะไรขึ้นมาได้ แถมมีประเด็นที่เฉียบแหลมคมคาย แซนดร้า บูลล็อก รับบทเป็นด็อกเตอร์ไรอัน สโตน ที่ต้องขึ้นไปเวหาเพื่อซ่อมดาวเทียมฮับเบิล โดยมีนักบินอวกาศแม็ตต์ โควอลสกี้ เป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือ แต่เกิดเหตุไม่คาดคิด ทำให้ทั้งคู่หลุดออกจากยาน ลอยคว้างอยู่กลางห้วงหาว และยิ่งนานไปเท่าใด ความหวังที่จะได้กลับบ้านก็ดูจะยิ่งริบหรี่ลงเท่านั้น

งานชิ้นนี้ของหนึ่งในสามทหารเสือเม็กซิกัน “อัลฟองโซ คัวรอง” (อีกสองคน คือ กิลเลอร์โม เดล โตโร และ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริทู) ถูกขนานนามว่าเป็น 2001 : A Space Odyssey แห่งปี 2013 ซึ่งสำหรับคอหนังไซไฟตัวจริงกันแล้ว ย่อมทราบว่า 2001 : A Space Odyssey ของผู้กำกับสแตนลี่ย์ คูบริก นั้นคลาสสิกเพียงใด มันเป็นหนึ่งในเดอะเบสต์ตลอดกาลของหนังแนวนี้ อย่างไรก็ดี ทั้ง 2001 : A Space Odyssey และ Gravity ไม่ใช่หนังไซไฟในแบบที่คุ้นเคย ซึ่งมักจะต้องสร้างศัตรูคู่ขัดแย้งเพื่อความสนุกสนานในเชิงแอ็กชั่น ต้องมีสัตว์ประหลาดจากต่างดาวมาบุกโลกอย่างพวก ID4 หรือมีอุกกาบาตจะพุ่งมาชน “บ้าน” ของเรา อย่าง Deep Impact

คงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่า กราวิตี้ คือ 127 Hours (แดนนี่ บอยล์) ของ ค.ศ.นี้ เพียงแต่เปลี่ยนจากการถูกก้อนหินทับ ไปเป็นการ “ติดกับ” อยู่บนห้วงอวกาศ ทั้งเจมส์ ฟรังโก้ แห่ง 127 Hours และแซนดร้า บูลล็อก แห่งกราวิตี้ ต่างก็ติดอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง และพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อออกไปจากที่แห่งนั้น มีช่วงเวลาที่อยากจะยกธงขาว เท่าๆ กับที่มีวินาทีที่ฮึกเหิม ทั้งสองเรื่องทำได้ดีเหมือนกันในแง่ที่ว่า ดูไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าคนปลิวมาปลิวไปในอวกาศกับคนที่ถูกก้อนหินทับ แต่หนังก็สร้างตัวเองขึ้นมาจากจุดเริ่มเพียงเล็กๆ แค่นั้น และขยายจักวาลทางความคิดและประเด็นเนื้อหาออกไปได้อย่างทรงพลัง

กับหนังเรื่องกราวิตี้ อีกหนึ่งตัวละครซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเรื่องราวก็คือ จอร์จ คลูนี่ย์ บทของเขาดูสมาร์ท มองโลกแง่ดี และมีชีวิตชีวา เปี่ยมอารมณ์ขันอย่างคนที่เข้าอกเข้าใจในชีวิต สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาดูเท่ในความคิดและตัวตน เขาเสริมส่งให้บทบาทของแซนดร้า บูลล็อก เปล่งพลังอย่างเต็มที่

แซนดร้าในงานชิ้นนี้ นอกจากจะดูสวยผุดผาด ผิดไปจากอายุระดับเลขห้าที่เธอแบกรับไว้ หนังเปิดโอกาสให้เธอได้แสดงแบบมองปลายทางไปถึงรางวัลออสการ์ได้เลย เธอให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีแก่อัลฟองโซ คัวรอง ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสื่อสารถึงเนื้อหาที่ยิ่งใหญ่ ในสภาวะของคนที่สำนึกว่าตนกำลังสูญสิ้นทุกสิ่งอย่างและเห็นแต่เพียงปลายทางอันน่าสลดรอคอยอยู่ข้างหน้า แซนดร้าสื่อออกมาเป็นภาษากายได้เยี่ยมยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายตาและท่าทีตอนที่ความรู้สึกสิ้นหวังถึงขีดสุดนั้น เชื่อว่าคงมีหลายคนที่รู้สึกเครซี่หรือสติแตกไปพร้อมกับเธอ เช่นเดียวกับเทคนิคสามมิติที่ทำให้คนดูรู้สึกคล้ายกับกำลังลอยละลิ่วปลิวไปในห้วงเวหาพร้อมกับแซนดร้า บูลล็อก

งานด้านภาพดูน่ามหัศจรรย์และน่าตื่นตาตื่นใจ อัลฟองโซ คัวรอง ไม่เพียงพาเราเที่ยวท่องล่องจักรวาล หากแต่ยังทำให้เรามองเห็น “บ้าน” หรือโลกของเราจากมุมสูง อาจจะฟังดูโอเวอร์ไปสักนิด หนังเรื่องนี้สะกิดให้ผมคิดในหลากหลายเรื่อง บางเรื่องแม้หนังจะไม่ได้พูดออกมา แต่ดูแล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ อย่างตอนที่แซนดร้ากับจอร์จ คลูนี่ย์ ถูกพัดปลิวอยู่กลางเวหา ตัวของพวกเขาดูเล็กจิ๋วราวฝุ่นผงในจักรวาลอันเวิ้งว้างไพศาล สำนึกที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมองภาพแบบนี้ก็คือ เราก็เพียงสิ่งเล็กกระจ้อยร่อยในจักรวาลอันกว้างใหญ่นั้น

ผมคิดว่าความแยบคายมากที่สุดของหนัง คือการนำเรื่องแรงโน้มถ่วง (Gravity) มาอุปมาอุปไมยกับความเป็นไปในชีวิตมนุษย์ ด็อกเตอร์สโตนที่ตกอยู่ท่ามกลางแรงโน้มถ่วง จะร่วงก็มิร่วง จะหล่นก็มิหล่น บ่อยครั้งบ่อยหน ชีวิตคนก็เป็นเช่นนั้น เราเหมือนตกอยู่ในแรงโน้มถ่วงของเรื่องราวบางเรื่อง อยากไปให้พ้นแต่ยังต้องผจญราวกับไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งในจุดนี้ นักบินอวกาศผู้รับบทบาทโดยจอร์จ คลูนี่ย์ ก็กล่าวได้ดีว่าเราควรจะมีท่าทีต่อสถานการณ์แบบที่ว่านั้นอย่างไร เมื่อหลายเรื่องมารุมล้อม เราจะหลับตายอมแพ้ หรือจะสู้จนถึงที่สุด?

และพูดก็พูดเถอะ ผมรู้สึกว่า ถ้าจะดูหนังเรื่องด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นหนังโรแมนติกก็ได้เช่นกัน ไม่ใช่โรแมนติกหวานซึ้งสไตล์หนังรักที่เธอชอบฉัน ฉันชอบเธอ แต่มันโรแมนซ์ด้วยความปรารถนาดีที่มีต่อกัน ขณะที่คนคนหนึ่งหมุนคว้างอยู่กลางแรงโน้มถ่วงของความทุกข์ มีใครสักคนปลุกปลอบให้กำลังใจและชี้ทางสว่างไสวให้ เช่นนี้แล้ว แม้มิใช่คนรัก ก็เสมือนกับคนรัก และนั่นก็คือสิ่งที่มีความหมายมากที่สุดแบบหนึ่งเท่าที่มนุษย์จะมอบให้แก่กันได้ เป็น “ลมใต้ปีก” ที่งดงาม โดยไม่จำเป็นต้องใช้คำว่ารักมาเอ่ยอ้างเจือปน...

เอาล่ะ ในขณะที่แซนดร้า บูลล็อก กับจอร์จ คลูนีย์ ติดกับอยู่กลางห้วงหาว ราวกับเป็นนักโทษของแรงโน้มถ่วง เราจะพบว่า ฮิวจ์ แจ็กแมน กับเจค จิลเลนฮาล ในเรื่อง Prisoners ก็กำลังเคร่งเครียดกับการค้นหานักโทษเช่นเดียวกัน ผมคิดเล่นๆ ว่า ในบางมุม แซนดร้า บูลล็อก ใน Gravity และฮิวจ์ แจ็กแมน ใน Prisoners มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ตรงที่ทั้งสองคน ต่างตกอยู่ในสภาพที่คล้ายกับ “ติดคุก” เช่นเดียวกัน คนแรกติดอยู่ในคุกกลางอวกาศ จับต้องสัมผัสไม่ได้ แต่แรงโน้มถ่วงก็กักขังหน่วงเหนี่ยวเธอไว้อย่างที่ยากจะหาเจอประตูทางออก ส่วนอีกคนนั้น ก็สาหัสไม่แพ้กัน เพราะถึงแม้ไม่มีกรงครอบกรอบกั้น แต่เขาก็ทำให้ตัวเองค่อยๆ กลายเข้าสู่สถานะแห่ง Prisoners (นักโทษ) ทีละเล็กละน้อย คุกที่เขาสร้างขึ้นด้วยมุ่งหวังว่าจะใช้จองจำผู้อื่น เขากลับค่อยๆ จับกุมคุมขังตัวเขาไว้ในคุกนั้นเสียเอง

เนื่องจากเกรงว่าบทความจะยาวเกินไป ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดอะไรมากเกี่ยวกับ Prisoners และจริงๆ หนังแบบนี้เล่ามากไป ก็สุ่มเสี่ยงต่อการสปอยล์ได้เหมือนกัน พูดสั้นๆ ว่าหนังเดินตามแบบแผนของงานสืบสวนสอบสวน จากการหายตัวไปของเด็กน้อยสองคน Prisoners ค่อยๆ ขยายขอบเขตเรื่องราวออกไปได้ซับซ้อนซ่อนปม เช่นเดียวกับประเด็นเนื้อหาซึ่งมีความหนักหน่วงเข้มข้นระคนสะเทือนใจ แบบที่สามารถทำให้คนดูรู้สึกได้ถึงความน่าเวทนาและน่าเศร้าของเรื่องราวมนุษย์

นอกจากการใช้สัญลักษณ์อย่างไม้กางเขนที่มักจะปรากฎขึ้นมาในตอนที่ฮิวจ์ แจ็กแมน เข้าฉาก ซึ่งมองอย่างตื้นเขินที่สุด สิ่งนี้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงความผูกพันกับศรัทธาในพระเป็นเจ้าและความดีความงาม ของตัวละครฮิวจ์ แจ็กแมน...ในการเป็นงานเชิงสืบสวน Prisoners ทำได้ดีในระดับที่ต้องชม ลูกล่อลูกหลอกที่หนังใช้เล่นกับการคาดเดาของคนดู ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ชมคาดการณ์และใช้เป็นจิ๊กซอว์ปะติดปะต่อเรื่องราวไปเรื่อยๆ เพื่อคลี่คลายปริศนาและค้นหา “คนบาป” ร่วมกัน

โดยโครงสร้างทิศทางและวิธีการถ่ายทอด Prisoners เป็นหนังแบบที่เขาเรียกกันว่าสร้างออกมาเพื่อมุ่งหวังรางวัลโดยแท้จริง องค์ประกอบทุกส่วนดูซีเรียสจริงจัง แม้แต่คนดูเองก็จะรู้สึกเหมือนถูกกักขังอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งต้องยอมรับในฝีมือของการกำกับที่สามารถควบคุมโทนของหนังได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

สุดท้าย ถ้าหนังอย่าง Gravity จะทำให้เรากลับมาฮึกเหิมและเรียกคืนพลังที่หลับใหลอยู่ในตัวให้กลับมาคุโชนขึ้นอีกครั้ง Prisoners ก็คงไม่ต่างอะไรกับเสียงหนึ่งซึ่งชักชวนให้เราหันมาทบทวนตรวจสอบตัวเราเอง ตรวจสอบความดีความงามในตัวของเราเอง หลายสิ่งที่เราทำ ในนามของ (การกล่าวอ้างว่าเป็น) “ความถูกต้อง” หรือกระทั่งในนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใด อาจเต็มไปด้วยจุดบอดและรอยรั่ว และกว่าจะจับได้ว่าใครชั่ว ก็อาจถึงจุดที่หัวใจสลายไปแล้วเรียบร้อย...







กำลังโหลดความคิดเห็น