โกลบอลไทมส์ - บริษัทจากจีนตบเท้าทุ่มเงินลงทุนในอังกฤษ โดยเฉพาะภาคสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์ ปี 55 แตะระดับ 8 พันล้านดอลลาร์ ชี้สภาพแวดล้อม-นโยบาย-ทัศนะคนท้องถิ่นเอื้อต่อการลงทุน สร้างนวัตกรรม ต่อยอดแบรนด์
สองปีก่อน สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษได้ผลิตสารคดีโทรทัศน์เรื่อง “คนจีนมาแล้ว” โดยเน้นไปที่การเติบโตของการลงทุนในแอฟริกา และอเมริกาใต้ของทุนจีน และวันนี้ทุนจีนก็มาอีกแล้ว แต่คราวนี้ทุนจีนบุกมายังที่บ้านของบีบีซี นั่นคือเกาะอังกฤษ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ หุ้นของสินค้ายี่ห้อดังๆ ของเกาะอังกฤษ ได้ถูกบริษัทจีนครอบครองหรือซื้อไปเป็นส่วนหนึ่ง อย่างเช่น ยี่ห้อวีทาบิกซ์ (Weetabix; บริษัทผลิตอาหารเช้าจากธัญพืชชื่อดัง) เทมส์ วอเตอร์ส (Thames Water; บริษัทผลิตน้ำประปา) และ สนามบินฮีธโทรว์
“ปัจจุบันมีบริษัทจีนประมาณ 500 บริษัทที่ลงทุนในอังกฤษ โดยใช้ความได้เปรียบจากบรรยากาศในการลงทุนที่เปิดกว้างที่สุดในโลก แต่เราก็ยังยินดีต้อนรับการลงทุนจากบริษัทจีนมากกว่านี้อีก” แดเนียล คาร์วัลโญ่ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและสื่อสารของสำนักการค้าและการลงทุนของสหราชอาณาจักรแห่งสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงปักกิ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์
“ผมคิดว่าเรากำลังมองเห็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มการลงทุนในสหราชอาณาจักรของจีนที่แข็งแกร่ง” คาร์วัลโญ่กล่าวเสริม
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาข้อมูลจากสถานทูตจีนในกรุงลอนดอนระบุว่า ในปี 2555 การลงทุนของจีนในเกาะอังกฤษแตะระดับ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนในช่วงปี 2552-2554 สามปีรวมกันเสียอีก โดยทุนจีนมีการขยายการลงทุนไปในภาคส่วนต่างๆ ของอังกฤษ เช่น ภาคการผลิตระดับสูง สาธารณูปโภค และการค้นคว้าวิจัย
ในปี 2556 นับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงต้นเดือนสิงหาคม จีนมีการลงทุนในอังกฤษแล้วมากกว่า 2,000 ล้านหยวน หรือราว 1 หมื่นล้านบาท ข้อมูลดังกล่าวมาจากนายโจว เสี่ยวหมิง ทูตพาณิชย์ของสถานทูตจีนในอังกฤษเคยให้ข้อมูลไว้กับสื่อ 21st เซ็นจูรี บิสเนส เฮรัลด์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2556 นี้
รายงานดังกล่าวยังอ้างถึง คำพูดของโจวที่ระบุว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้มีบริษัทจีนที่ประกาศการลงทุนในสาธารณูปโภคของอังกฤษที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านปอนด์เพิ่มเติมอีกด้วย
• รุกลงทุนภาคสาธารณูปโภค
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทุนจีนได้รุกเข้าไปลงทุนในภาคสาธารณูปโภคของอังกฤษหลายส่วน ด้วยนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่ให้สิทธิพิเศษหลายประการ
ในปี 2555 กองทุนความมั่งคั่งของรัฐบาลจีนอย่าง ไชน่า อินเวสต์เมนต์ คอร์ป (ซีไอซี) ซื้อหุ้นร้อยละ 8.68 ใน บ.เคมเบิล บริษัทแม่ของ เทมส์ วอเตอร์ และซื้อหุ้นอีกร้อยละ 10 ของสนามบินฮีธโทรว์ ขณะที่ในปีที่แล้วเช่นกัน กิงโกะ ทรี อินเวสต์เมนต์ กองทุนซึ่งมีสํานักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีน (State Administration of Foreign Exchange : SAFE) เป็นเจ้าของก็นำเงินมาลงทุนในบริษัทผลิตน้ำประปาของอังกฤษเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทที่นายลี กาซิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกงเป็นเจ้าของก็ยังกุมชะตาการผลิตไฟฟ้าในเกาะอังกฤษกว่าร้อยละ 30 และยังมีร้อยละ 25 ของการผลิตก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงร้อยละ 7 ของการผลิตน้ำประปา
ขณะเดียวกันนักลงทุนจากนี้ก็ยังแสดงความสนใจในภาคอสังหาริมทรัพย์ของอังกฤษด้วย โดยในเดือนกรกฏาคม กลุ่มผิงอัน ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจประกันของจีนได้ซื้อตึกลอยด์ อาคารซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของมหานครลอนดอนไปด้วยมูลค่า 260 ล้านปอนด์ (ราว 13,000 ล้านบาท)
ก่อนหน้านั้นในเดือนมิถุนายน กลุ่มต้าเหลียน ว่านต๋า ของจีนก็เพิ่งทุ่มเงินกว่า 700 ล้านปอนด์ (ราว 35,700 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอน เป็นอพาร์ตเมนต์ 2 แห่ง และโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวโดยใช้ชื่อ โรงแรมว่านต๋า
ในเดือนพฤษภาคม บ.แอดวานซ์ บิสเนส พาร์ก (เอบีพี) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่มีฐานอยู่ในปักกิ่งก็เพิ่งลงนามในสัญญามูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับเทศบาลนครลอนดอนเพื่อพัฒนาย่านท่าเรือรอยัล อัลเบิร์ต (Royal Albert Dock)
นายหวัง เจี้ยนหลิน ประธานกลุ่มต้าเหลียน ว่านต๋า เปิดเผยกับ นสพ.ปักกิ่ง นิวส์เมื่อเดือนมิถุนายนว่า โครงการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษนั้นกลุ่มว่านต๋าถือว่าได้เปรียบมาก คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวนี้เองที่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุใดบริษัทจากจีนจำนวนมากจึงสนใจในอสังหาริมทรัพย์บนเกาะอังกฤษ
ราคาที่ดินของโครงการในอังกฤษถือว่าถูกกว่าราคาในปักกิ่งอย่างมาก ทำให้รายรับจากการขายน่าจะสูงกว่าต้นทุนในการลงทุนมาก หวังระบุ
ด้านแฟรงค์ เฉิน หัวหน้าฝ่ายวิจัยของซีบีอาร์อี บริษัทให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์สาขาประเทศจีนให้สัมภาษณ์กับโกลบอล ไทมส์ว่า ปริมาณของอสังหาริมทรัพย์คุณภาพสูงเหมาะแก่กรลงทุนที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นยังมีจำนวนจำกัดอยู่เมื่อเทียบกับในอเมริกาเหนือและยุโรป ดังนั้น นักลงทุนจีนจึงคาดหวังและเน้นการลงทุนไปที่อสังหาริมทรัพย์ในเมืองซึ่งเป็นประตูสู่ภูมิภาคนั้นๆ ที่มีศักยภาพมากพอในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าเชื่อถือและมีความสม่ำเสมอ
ขณะเดียวกัน บริษัทจีนก็ยังแสดงความสนใจที่จะซื้อแบรนด์ในภาคการผลิตชั้นสูง รวมไปถึงการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในอังกฤษด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มว่านต๋ายังซื้อหุ้นร้อยละ 91.81 ใน ซันซีกเกอร์ (Sunseeker) บริษัทผู้ผลิตเรือยอร์ชของอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มผลิตรถยนต์จี๋ลี่ จากหังโจวก็ซื้อแมงกานีส บรอนซ์ ผู้ผลิตรถแท็กซี่ลอนดอนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เช่นกัน ส่วนบริษัทข้ามชาติจากจีนเจ้าอื่นๆ อย่าง เซี่ยงไฮ้ ออโตโมบิล และหัวเหวย เทคโนโลยีก็กำลังสร้างและขยับขยายศูนย์วิจัยในอังกฤษเพิ่มเติม
• ผลดีกับอังกฤษ
“เศรษฐกิจอังกฤษกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากตกอยู่ในภาวะชะงักงันมาหลายปี ดังนั้นนี่เป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนจีน” ศาสตราจารย์หวัง ชิ่ง นักวิชาการหญิงผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตลาดและนวัตกรรมแห่งโรงเรียนธุรกิจ มหาวิทยาลัยวอริคในอังกฤษ กล่าวกับโกลบอล ไทมส์
เธอกล่าวด้วยว่า ระบบกฎหมายที่ดีของอังกฤษ และระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง รวมถึงสถานะของกรุงลอนดอนในฐานะศูนย์กลางทางการเงินและบริการระดับนานาชาติส่งผลให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายการลงทุนในยุโรปที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนจีน
ส่วนนโยบายสิทธิพิเศษสำหรับนักลงทุนต่างๆ ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เนื่องจากอังกฤษเลือกที่จะใช้ปรัชญาในการ “เปิดประตู” เพื่อรับการลงทุนจากต่างชาติในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม มิเชล เกอราซิ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของสถาบันนโยบายโลก กลุ่มคลังสมองที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยเมโทรโปลิแทน ลอนดอน กล่าวกับโกลบอล ไทมส์
“เราต้องการจะเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุนจีน บอกนักลงทุนจีนอื่นๆ ให้มาที่ลอนดอนและมาใช้เงินของเขา” เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวกับนิตยสารฟอร์จูนในเดือนพฤษภาคม
บริษัทจีนจะได้รับการต้อนรับอย่างดี และจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลอังกฤษ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและสื่อสารของสำนักการค้าและการลงทุนของสหราชอาณาจักรแห่งสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงปักกิ่งยืนยัน พร้อมกันนั้นเขายังกล่าวด้วยว่า ระเบียบเรื่องภาษีที่เหนือกว่า และแรงงานมีฝีมือของอังกฤษยังเป็นจุดเด่นในการดึงดูดนักลงทุนอีกด้วย
“ในอังกฤษ เรามีเงินลงทุนจากต่างชาตินับเป็นแสนๆ ล้าน ดังนั้นเราจึงเคยชินกับมัน นี่เป็นวิธีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา เรายอมรับเงินลงทุนจากภายนอก และเราก็ลงทุนจำนวนมากทั่วโลกด้วยเช่นกัน” คาร์วัลโญ่ระบุ
หวัง กล่าวด้วยว่า ทั้งรัฐบาลจีนและอังกฤษได้ตั้งเป้าในการกระตุ้นการค้าแบบทวิภาคี เพื่อที่จะสามารถสอดประสานเรื่องสินทรัพย์ขององค์กร และขีดความสามารถเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเสริมศักยภาพให้กับการลงทุนของบริษัทจีนในอังกฤษได้อีกมาก
• เปิดประตูให้เจ้าของชาวต่างชาติ
ศ.หวัง ชิ่ง รวมถึงมิเชล เกอราซิ กล่าวตรงกันว่า คนอังกฤษไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าบริษัทท้องถิ่นจะถูกนักลงทุนต่างชาติซื้อกิจการไป ตราบใดที่การลงทุนนั้นเพิ่มการจ้างงานให้กับอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม บริษัทจีนที่มุ่งหวังจะลงทุนในสหราชอาณาจักรก็ต้องเตรียมตัวที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในโครงสร้างของผู้ถือหุ้น เพื่อที่ว่าผู้ที่ขายจะได้ทราบว่าใครเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์ของพวกเขากันแน่ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของสถาบันนโยบายโลกแนะนำ
ขณะที่คาร์วัลโญ่จากสถานทูตอังกฤษในจีนก็ให้คำแนะนำด้วยว่า นักลงทุนต่างชาติควรมี “ยุทธศาสตร์ในการประชาสัมพันธ์เพื่อผูกสัมพันธ์กับสื่ออังกฤษและชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเชื่อถือ และเพิ่มความเชื่อมั่น”
เป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทจีนจะต้องทำความเข้าใจและเคารพ กฎระเบียบที่มีในกฎหมายอังกฤษ และระบบเศรษฐกิจของอังกฤษด้วย ศ.หวังกล่าว พร้อมแสดงความเห็นด้วยว่า หวังว่าบริษัทจีนจะสามารถพัฒนาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ และสร้างแบรนด์ระดับโลกได้จากการลงทุนในอังกฤษ
ในรายงานจาก 21st เซ็นจูรี บิสเนส เฮรัลด์ โจว เสี่ยวหมิง ทูตพาณิชย์ของสถานทูตจีนในอังกฤษ แนะนำว่าบริษัทจีนสามารถใช้ความได้เปรียบของการสร้างนวัตกรรมของอังกฤษ และบ่มเพาะแบรนด์ที่นี่ พร้อมกับกล่าวด้วยว่า วิกฤตของยูโรโซนได้สร้างช่วงเวลาแห่งความได้เปรียบของบริษัทจากจีนขึ้นมา ซึ่งสามารถพึ่งพาสถานะในการเป็นศูนย์กลางระดับนานาชาติของอังกฤษและสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างในการขยายไปสู่ตลาดสากล
สารคดี The ChineseAre Coming โดย BBC (2011)