เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - เก้าอี้ตำแหน่งประธานกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือไชน่า อินเวสต์เมนท์ คอร์ป (ซีไอซี) ของจีน ที่มีทุนสำรองสูงถึง 480,000 ล้านเหรียญสหรัฐว่างมานานถึง 5 เดือน หลังจากที่การจัดการเก้าอี้เสร็จสรรพ ปักกิ่งก็ได้เลือกนาย ติง เสวียตง มาครองตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย ทว่า.. สิ่งที่นายติงจะต้องเผชิญหน้า คือปัญหาท้าทายลูกใหญ่สองประการ อันได้แก่ จะต้องดึงดูดเงินการลงทุนจากกองทุนต่างประเทศเพิ่ม และจะต้องหาช่องทางเพิ่มทุนในรูปแบบอื่น ๆ อย่างเร่งด่วน
ปัญหาท้าทายหนักสองประการนี้เป็นที่อภิปรายกันหนักหน่วงในช่วงการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานซีไอซี กองทุนมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า ผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหลายคนยอมรับตรง ๆ ว่าลังเลที่จะมารับผิดชอบ เนื่องจากมองเห็นความกดดันในอนคตที่ซีไอซีจะเจอปัญหาเรื่องผลตอบแทนน้อยและขาดแหล่งทุนสนับสนุน กลุ่มติดตามด้านอุตสาหกรรมบางกลุ่มเผยว่า ตำแหน่งประธานซีไอซีว่างมานาน ทำให้ซีไอซีถูกลดความสำคัญลง
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับซีไอซีไม่เผยนาม ชี้ว่า "ประธานคนใหม่ของซีไอซีจะต้องเจอปัญหากดดันมากกว่านายโหลว จี้เหว่ย ประธานคนก่อนหน้า"
"นายโหลว ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งซีไอซีมาก่อน ความสำเร็จของเขาก็คือ เขาได้ก่อตั้งซีไอซี ได้เลือกคณะทำงานเอง และได้ผลักดันให้ซีไอซีเดินหน้ามาได้นานถึง 6 ปี ประชาชนก็จะจดจำเขาในภาพแห่งความสำเร็จเหล่านี้ ทว่าสำหรับนายติง ที่เข้ามารับภาระต่อจากโหลว ประชาชนก็จะมองไปที่การบริหารด้านกองทุนเป็นสำคัญ"
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปักกิ่งตัดสินใจเลือกนายติง เสวียตง ตำแหน่งรองเลขาธิการทั่วไปของคณะมุขมนตรีขึ้นมาแทนที่นายโหลว ส่วนนายโหลวก็ไปกินตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในปีนี้ คนในวงการการเงินการคลังมองว่า การย้ายตำแหน่งของนายโหลว ก็เสมือนเป็นการให้รางวัลที่ 6 ปีมานี้ โหลวผลักดันซีไอซีให้ก้าวหน้า ก่อนที่โหลวจะมาเป็นประธานซีไอซี เขาเคยนั่งเก้าอี้รองรัฐมนตรีคลังมานานกว่า 9 ปี
การประกาศแต่งตั้งนายติง ซึ่งก็เคยดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีคลังมาก่อนที่จะมาทำงานในสำนักคณะมุขมนตรี ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย เนื่องจากปักกิ่งต้องการรักษาการสื่อสารที่ดีระหว่างรัฐบาลกับซีไอซี ทว่าการแต่งตั้งนายติงดูจะเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า เพราะนายติงไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนต่างประเทศ อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติผิดหวัง อาจก่อปัญหาเรื่องการทำธุรกิจ และการจัดการกองทุนที่โปร่งใส ซึ่งในสมัยที่โหลวนั่งเก้าอี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้สม่ำเสมอ
ดัก เดทเตอร์ อดีตประธานสำนักงานจัดการสินทรัพย์เอกชนสวีเดน สแทตทัม และที่ปรึกษากองทุนอตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุนมั่งคั่ง เผยว่า "การเลือกใครมาดำรงตำแหน่งควรพิจารณาที่ความสามารถในการจัดการกองทุน อาทิ การดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพ นอกจากนั้นต้องดูว่าเขาจะสามารถสร้างผลงานเรียกการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด เขาจะตัดสินใจได้เฉียบคมหรือไม่ เขาจะมีคณะทำงานที่มีศักยภาพสักปานใด"
ไมเคิล แม็กคอร์แม็ค ประธานบริหาร ซีเบนแอ็ดไวเซอร์ บริษัทที่ปรึกษากองทุนอุตสาหกรรมที่จะมาลงทุนในจีนเผยว่า ขณะนี้คนเริ่มสงสัยเกี่ยวกับการพัฒนาระยะยาวของซีไอซีจีน ตลอดจนเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน
"ประธานคนใหม่เป็นหัวจักรสำคัญอย่างมากที่จะดึงดูดการลงทุน" แม็กคอร์แม็คกล่าว
แม็กคอร์แม็คชี้ให้เห็นปัญหาท้าทายอีกประการ คือเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างแดนของซีไอซี ซึ่งจะไม่ขึ้นกับตัวประธาน แต่จะขึ้นกับอำนาจของรัฐบาลปักกิ่งเป็นสำคัญ ซึ่งกรณีนี้กำลังเป็นที่วิตกในประเทศตะวันตก พวกเขามองว่า ซีไอซีคงไม่โปร่งใสพอที่จะเข้าไปสุงสิงด้วย
ลาคอช เวเซอร์ และ โอเวน ฮาค นักวิจัยที่เขียนรายงานเกี่ยวกับซีไอซีเผยเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้สหรัฐฯยังไม่มีการตัดสินใจอย่างแน่ชัดเรื่องการลงทุนกับซีไอซีของจีน
"ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯ บางคนสนับสนุนเรื่องการกระตุ้นการลงทุน ขณะที่อีกหลายคนมองเรื่องความมั่นคงเป็นสำคัญ" สองนักวิจัยกล่าวในเดือนมี.ค. 2553 ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติประจำปี ต่อมา เจสซี หวัง รองประธานบริหารซีไอซีก็ออกมาเผยกับนักข่าวในงานเดียวกันว่า ซีไอซีกำลังขาดแคลนทุน ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลอัดฉีด
ต่อมาซีไอซีได้รับอัดฉีดจากรัฐบาลจำนวน 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. ปี 2554 หวังก็ออกมาบอกกับเดอะวอลสตรีท เจอร์นัลว่า ซีไอซีกำลังมองหากลไกการจัดการการลงทุนที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้หวังเพิ่งเกษียณอายุไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับซีไอซีเผยว่า สถานการณ์การเงินของซีไอซียังคงอ่อนแอ ผู้จัดการกองทุนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะหากำไรจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากการลงทุนระหว่างประเทศ ในการเผยแพร่รายงานประจำปีล่าสุดจากปี 2554 ซีไอซีขาดทุนมูลค่า 4.3 เปอร์เซ็นต์ จากการลงทุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯมูลค่า 150 ล้านหยวน ซึ่งถือว่าแย่สุดนับแต่ก่อตั้งกองทุนมาแต่ปี 2550