xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเซี่ยงไฮ้ เขตการค้าเสรี เดิมพันใหม่ของรัฐบาลจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโยบายเปิดเสรีภาคการเงินเซี่ยงไฮ้ วางเดิมพันไว้ที่การเป็น ศูนย์กลางการเงินในระดับเทียบเท่ากับ นิวยอร์ก และลอนดอนให้ได้ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะเป็นผลงานที่ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้ (ภาพเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์)
เอเยนซี/เอเอสทีวี - เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ท่ามกลางข่าวเศรษฐกิจชะลอตัวของจีน พลันข่าวการประกาศให้เซี่ยงไฮ้เป็นเขตบูรณาการการค้าเสรี (The Shanghai Integrated Free Trade Zone) ของสภาแห่งชาติจีน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียงเป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ก็เป็นอีกประเด็นพาดหัวเด่นในสื่อจีนทั่วไป (แม้จะไม่ค่อยฮือฮามากนักในหมู่สื่อฮ่องกง) โดยหลายฝ่ายจับตาอนาคตของเซี่ยงไฮ้ และจีน ภายหลังจากการเปิดพื้นที่การค้าใหม่ที่ว่ากันว่า จะเป็นสนามทดสอบการค้าการเงิน การลงทุน และกิจการด้านการกำกับดูแลต่างๆ ซึ่งเป็น 4 ภาคสำคัญของเศรษฐกิจจีน ในการปฎิรูปการเงิน และทดลองการค้าเสรีกับนานาชาติ

ในทางภูมิศาสตร์นั้น พื้นที่ซึ่งเรียกว่า The Shanghai Integrated Free Trade Zone (Shanghai FTZ) อันได้ชื่อว่าเป็นเขตการค้าเสรีแห่งแรกของจีนแผ่นดินใหญ่ นี้ มีอาณาเขตจาก เมืองใหม่หลินกั่ง ทางใต้ของเซี่ยงไฮ้ ขึ้นไปจรดสนามบินผู่ตง และเขตไว่เกาเฉียว รวมพื้นที่กว่า 28 ตารางกิโลเมตร จะกลายเป็นเขตที่อยู่ในพื้นที่ดูแลพิเศษด้านศุลกากร กิจการภาษี และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนฯ โดยจะได้รับสิทธิเสรีกว่าเขตพื้นที่การค้าอื่นๆ ของจีน

นายซ่ง หง ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจการเมืองของสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้นี้ คือการบูรณาการ การค้า การภาษี และการบริหารต้นทุนรวมให้มีประสิทธิภาพที่สุด มีวาระการทำงานที่กว้างไกล ตัดลดการแทรกแซงในขั้นตอนต่างๆ ของการค้าข้ามพรมแดน เคลื่อนย้ายสินค้า ไปตลอดจนการเคลื่อนย้ายทุนฯ ล่าสุดนี้ ยังมีข่าวคราวความเป็นไปได้ของการเปิดตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมสำหรับผู้ค้าชาวจีนจำนวนมาก ที่ทุกวันนี้ต้องไปใช้คลังสินค้าในประเทศเกาหลีกับสิงคโปร์อยู่ ซึ่งหากรูปแบบบูรณาการที่ใช้ในเซี่ยงไฮ้ประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นทางบุกเบิกสำหรับการพัฒนาเขตอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ในหมู่ผู้สังเกตการณ์เศรษฐกิจจีน พบว่า ไม่ใช่แค่นครเซี่ยงไฮ้เท่านั้น ที่ต้องการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ยังมี เมืองเซินเจิ้น กับเทียนจิน ด้วย ที่ยื่นแผนฯ เสนอต่อสภาแห่งรัฐ ตั้งแต่ปี 2548 ไล่เรี่ยกับเซี่ยงไฮ้ และถูกรอมาตลอดรัฐบาลนายหู จิ่นเทา กระทั่งตอนที่นายก หลี่ เค่อเฉียง เดินทางไปตรวจประเมินศักยภาพนครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้เอง ที่ปลุกความมั่นใจในการผลักดันครั้งล่าสุด โดยย้ำว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการ "ยกระดับเศรษฐกิจจีน"

การอนุมัติเขตการค้าเสรีฯ นี้ จะมีการปฏิรูปปรับแก้ คลายกฎคุมเข้มภาคการเงินหลายฉบับ อนุญาตให้ธนาคารต่างชาติ สามารถจัดตั้ง กิจการสาขาย่อย และถือหุ้นโดยตรงเองทั้งหมดในเขตการค้าเสรีของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งธนาคารต่างประเทศที่จะได้รับอนุญาตให้มาตั้งกิจการในเขตนี้ สามารถร่วมทุนหรือถือหุ้นร่วมใหญ่ในกิจการการเงิน อื่นๆ ของแผ่นดินใหญ่ ทั้งในส่วนที่เป็นกิจการสนับสนุนของรัฐ และกิจการเอกชน

นโยบายใหม่นี้ ยังจะปรับลดระยะเวลาการดำเนินกิจการที่ธนาคารต่างประเทศ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนจำนวนมากของกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ก่อนจะเปิดสาขา หรือตั้งเครือข่าย บนแผ่นดินใหญ่

ที่ปรึกษาของ ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติคนหนึ่ง กล่าวว่า การเปิดช่องการทำธุรกรรมทางการเงินให้ธนาคารต่างประเทศเหล่านี้ ยังเสมือนเป็นการเปิดโอกาสการพัฒนาการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และอาจจะเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ สำหรับเซี่ยงไฮ้ที่กำลังจะเติบโตเป็นฐานใหญ่การเงินสกุลหยวนแห่งภูมิภาค ในขณะที่ยังมีความไม่มั่นคงบางอย่างของรัฐบาลเกี่ยวกับสถานะเสาหลักด้านการลงทุนการเงินจากต่างประเทศของฮ่องกง ซึ่งครองสัดส่วนของธุรกรรมการเงินนอกแผ่นดินใหญ่ถึง 7 แสนล้านหยวน จากมูลค่าทั้งหมดราว 1 ล้านล้านหยวน

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนัก แม้หลายฝ่ายเปรียบเซี่ยงไฮ้ว่า จะขึ้นมาบดบังรัศมีฮ่องกง ซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วย และเห็นต่าง เช่น แพนซี เหยา รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ประจำคณะสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง กล่าวว่า ปัจจัยที่แตกต่างระหว่างฮ่องกงกับเซี่ยงไฮ้คือ การบริหารด้วยหลักนิติรัฐฯ ทั้งระบบ ดังนั้น ผลสำเร็จของเขตเสรีเซี่ยงไฮ้ ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอดูต่อไป ขณะที่แหล่งข่าววงในรัฐบาลฯ เผยกับเซาท์ ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ถึงบรรยากาศการประชุมของสภาแห่งชาติจีนในการอนุมัติเขตเสรีเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะในภาคการเงินว่า นายกรัฐมนตรี หลี่ ได้รับแรงต่อต้านจากคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการธนาคารของจีน และ คณะกรรมการกำกับดูแลภาคตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกตินัก และนายกรัฐมนตรี คงยังต้องใช้เวลาเรียกความเชื่อมั่นกับหลายฝ่าย โดยวางเดิมพันไว้สูงมากกับนโยบายเปิดเสรีภาคการเงินเซี่ยงไฮ้นี้ ที่คาดหวังให้เป็นศูนย์กลางการเงินในระดับเทียบเท่ากับ นิวยอร์ก และลอนดอนให้ได้ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะเป็นผลงานที่ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น