เอเยนซี - สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เผยตัวเลขอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 7.5 สะท้อนภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเลือกที่จะโตช้า แต่นำไปสู่หนทางใหม่ที่เติบโตอย่างยั่งยืนแบบพึ่งการบริโภคของตนเองมากกว่า
สื่อจีนรายงาน (15 ก.ค.) การเปิดเผยตัวเลขอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 2 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน โดยพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ลดลงจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งโตที่ ร้อยละ 7.7 ในเดือนมกราคมถึงมีนาคม และร้อยละ 7.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555
นายเฉิน ไล่หยวน โฆษกประจำสำนักงานฯ ระบุว่า ค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 7.6 และเศรษฐกิจโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ตัวชี้วัดต่างๆ อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม แม้ว่าสถิติฯ ต่างๆ ของปีนี้จะต่ำกว่าปีก่อนหน้า ด้านนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ค่าจีดีพีของจีนเติบโตต่ำกว่าระดับร้อยละ 8 มา 5 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว สะท้อนภาวะเศรษฐกิจความฝืดเคืองอย่างเห็นได้ชัด
รายงานข่าวอ้าง รายละเอียดของโฆษกสำนักงานฯ ว่า ศักยภาพการผลิตที่ลดลง ภาวะการณ์ในโลกที่ยังผันผวนรุนแรง การฟื้นตัวที่อ่อนแอในกลุ่มชาติเศรษฐกิจตะวันตก ล้วนส่งผลต่อจีดีพี ขณะที่รัฐบาลยังคงอดทนต่อภาวะดังกล่าว เพื่อมุ่งไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่มุ่งลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน โดยหันมาเน้นส่งเสริมการบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2556 ไว้ที่ร้อยละ 7.5 แม้จะเป็นตัวเลขสูงกว่ามาตรฐานเศรษฐกิจโลก แต่ก็จะเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดของจีนในรอบ 23 ปี นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้า สะท้อนว่าความต้องการในต่างประเทศซบเซา ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการลงทุนในจีน จนหลายฝ่ายวิตกกังวลว่า รัฐบาลจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามเป้า (ร้อยละ 7.5) หรือไม่ เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ว่ารัฐบาลจะปรับนโยบายเศรษฐกิจ และปล่อยมาตรการกระตุ้นที่สำคัญๆ โดยคาดว่าจะยังคงอดทนกับภาวะชะลอตัวต่อไป และให้เวลากับการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตที่เน้นการบริโภคภายในอย่างยั่งยืน มากกว่าการเติบโตที่อาศัยการส่งออกและการลงทุนจากภายนอก
ด้านนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้ระบุชัดเจนว่า แนวทางเศรษฐกิจต่อไปนี้ จะผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจมากกว่าเน้นส่งเสริมการเติบโต และพยายามจัดการปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลท้องถิ่นใช้ไประหว่างวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 นับหลายล้านล้านดอลลาร์ พร้อมกับควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดยยังไม่ทบทวนมาตรการกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ตราบเท่าที่ยังไม่มีปัญหากระทบถึงอัตราคนว่างงาน ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติฯ ก็ยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงในตัวเลขอัตราคนว่างงานแต่อย่างใด
ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ ชี้ว่า ในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงได้อีก เพราะทางเลือกของการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดสินเชื่อที่ร้อนแรงอยู่แล้ว ยิ่งขยายตัวมากขึ้นนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด จึงเลือกจะโตช้าแต่นำไปสู่หนทางใหม่ที่ส่งเสริมการเติบโตยั่งยืนแบบพึ่งการบริโภคของตนเองมากกว่า